วัดบรมสถล (วัดดอน)
วัดบรมสถล (วัดดอน) หรือ วัดบรมสถลศรีวิสุทธิโสภณรังสรรค์ มีวัตถุมงคลที่มีชื่อเสียงคือ พระกริ่งฟ้าผ่า แต่ที่เลื่องชื่อลือชา ก็คือ ป่าช้าวัดดอน ที่ร่ำลือกันหนักหนาว่า ผีดุยิ่งนัก ปัจจุบันกลายเป็นสวนสาธารณะ สงบ ร่มเย็น เหมาะแก่การมานั่งพักผ่อนหย่อนใจ ออกกำลังกายเบาๆ ได้ จุดเด่นของวัดเน้นการสอนปฏิบัติธรรม
ประวัติความเป็นมาของวัด
วัดดอน เป็นวัดโบราณ สร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ปรากฏหลักฐานเดิมว่า มังจันจ่าพระยาทวาย ได้มาขอสวามิภักดิ์ขึ้นกับไทย และชาวทวายที่ตามเข้ามาอยู่ในเมืองไทย ได้ศรัทธาสร้างวัดขึ้นในปี พ.ศ. 2340 ตัววัดตั้งอยู่บนที่ดอน จึงได้ชื่อว่า”วัดดอน” และ “วัดดอนทวาย”
เมื่อครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 มีขุนนางชาวทวายชื่อ เนมะโยกะยอดิน หรือ มังจันจ่า พระยาทวายยอมยกเมืองทวายขึ้นแก่ไทย พร้อมทั้งได้ชักชวนเจ้าเมืองมะริดและเมืองตะนาวศรีซึ่งเป็นเมืองฝ่ายพม่าข้าศึก ให้มาสวามิภักดิ์เป็นข้าขอบขัณฑสีมาของกรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งยังได้ช่วยเหลือพระเจ้าหลานเธอสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนรามินทรสุดาองค์ราชภาคิไนย ซึ่งเป็นธิดาของเจ้ารามณรงค์พระเชษฐาธิบดี ผู้ถึงแก่ชีพิตักษัยไปนานแล้วตั้งแต่คราวเสียกรุงเก่าให้พม่า ครานั้นด้วยเห็นแก่ความดีความชอบจึงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้มังจันจ่าเจ้าเมืองทวายนั้น รับพระราชทานที่หลวงให้ครอบครัวและหมู่เหล่าชาวทวายที่อพยพมา ได้อยู่ที่ตำบลคอกระบือ เมื่อปีชวด พุทธศักราช 2335 และโปรดฯ ให้มังจันจ่าเป็นหัวหน้าปกครองดูแลบรรดาชาวทวายทั้งปวง
เมื่อสร้างชุมชนมั่นคงแล้วในปีพ.ศ. 2340 มังจันจ่าได้ชักชวนผู้คนในหมู่บ้านทวาย ให้ช่วยกันสร้างวัด ณ ที่แห่งหนึ่งซึ่งอยู่หลังหมู่บ้านทวาย ด้วยเป็นที่ดอนสูงเด่นกว่าที่ใดในละแวกหมู่บ้านทวายนั้น จัดเป็นทำเลดี เหตุที่วัดสร้างอยู่บนที่ดอนล้อมรอบด้วยบริเวณที่ลุ่มราบจึงเรียกนามว่า “วัดดอน” และโดยเหตุที่พระยาทวายพร้อมทั้งชาวหทวายเป็นผู้สร้างวัดนี้ ผู้คนทั้งหลายจึงเรียกวัดนี้ว่า “วัดดอนทวาย” กับ “วัดดอนหลังบ้านทวาย”
จนในพุทธศักราช 2400 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาแปลงนามวัดให้ใหม่ว่า “วัดบรมสถล” แต่คนทั้งหลายเรียกชื่อเดิมของวัดจนชินติดปากติดใจ พร้อมทั้งคนท้องถิ่นที่เป็นลูกหลานบ้านทวายเองเล่า ก็ถนัดปากที่จะเรียกชื่อว่า วัดดอนบ้าง, วัดดอนทวายบ้าง มาจนถึงปัจจุบัน
วัฒนธรรมทวายและพม่าในวัดบรมสถล
อย่างที่เล่าถึงประวัติวัดดอนไปในตอนต้นแล้ว ว่าเป็นวัดที่ชาวทวายสร้างขึ้น โดยชาวทวายเองเมื่อเดินทางไปที่ใดก็จะนำวัฒนธรรม ความเป็นอยู่แบบชาวทวายติดตัวไปด้วย ทำให้ภายในวัดแห่งนี้มีสิ่งก่อสร้างและความเชื่อของชาวทวายรวมอยู่ด้วย ซึ่งหลังจากวัดนี้ตั้งขึ้น ก็ได้มีภิกษุจากพม่ามาจำพรรษาอยู่โดยทางวัดได้แบ่งส่วนเป็นวัดดอนพม่า และ วัดดอนทวาย แต่ภายหลังเกิดการกระทบกระทั่งกันจนเกิดเหตุวางเพลิงวัดดอนพม่า ในปี 2517 ทำให้วัดดอนพม่าเสียหายทั้งหลัง เหลือเพียงไม่กี่อาคารจนร้าง ทางวัดดอนจึงได้สั่งปิดอาคารไม่อนุญาตให้ใครเข้าเขตวัดดอนพม่าอีกต่อไป
พระเจดีย์ดำ
หากแต่ยังมีศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมแบบพม่าอยู่ตามจุดต่างๆ ของวัดดอน โดยประดิษฐานพระพุทธรูปศิลปะพม่า และยังมี พระเจดีย์ดำ ที่ เชื้อพระวงศ์จากพม่าผู้ลี้ภัยมาอาศัยอยู่ที่บ้านทวายพระนามว่า “โพ้ส่วยด่อง” ได้เป็นผู้สร้างไว้เมื่อปี พ.ศ. 2385 รูปแบบศิลปะทวายพม่า เหตุที่เรียก “พระเจดีย์ดำ” เพราะในอดีต “พระเจดีย์ดำ” เดิมทีเป็นสีขาว แต่ถูกทิ้งจนตะไคร่จับทำให้เปลี่ยนเป็นสีออกดำๆ ชาวบ้านทวายเรียกกันติดปากว่า “พระเจดีย์ดำ” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ในปี พ.ศ. 2531 พระพรหมโมลี (วิลาส ญาณวโร ป.ธ.9) อดีตเจ้าอาวาสวัดบรมสถล (ดอน) ได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ และเพิ่งได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นอีกครั้ง โดยพระมหาอดิศักดิ์ อภิปญโญ เจ้าอาวาสและคณะสงฆ์วัดบรมสถล (ดอน) พิจารณาเห็นว่า “พระเจดีย์ดำ” ต้องได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์เพื่อให้เกิดความสวยงาม ได้รับการดูแลรักษาให้มีความสง่างามเพื่อความสมบูรณ์ของอนุสรณ์สถานที่มีความสำคัญ และเพื่อให้ “พระเจดีย์ดำ” เป็นมรดกตกทอดมาให้บรรพชนรุ่นหลังได้ศึกษา และเรียนรู้กันต่อไป
ภายในวัดมีจุดมูสำคัญอันได้แก่ ท้าวเวสสุวรรณ และ ศาลเจ้าพ่อเทพา (ดำทุ่ง) ที่ผู้มีจิตศรัทธามักจะมาขอพร บนบานในเรื่องต่างๆ ตามปรารถนา ซึ่งก็จะมีรายละเอียดการแก้บนหรือการกลับมาไหว้ขอบคุณแตกต่างกันไป
ศาลตายาย
ชาวทวายนั้นมีประเพณีความเชื่อการนับถือผี มีการไหว้ผีบรรพบุรุษ เมื่อเดินทางอพยพไปที่ใด ก็อัญเชิญผีปู่ย่าตายายใส่หม้อเทินหัวมาด้วยเพื่อให้ปกปักษ์รักษา คุ้มครองตนเองและครอบครัว เมื่อไปตั้งรกรากที่ใด ก็จะตั้งศาลตา ยาย ไว้ภายในชุมชนเพื่อให้คอยคุ้มครองชาวทวายในชุมชนนั่นเอง แรกเริ่มเดิมทีศาลตา ยายตั้งอยู่บริเวณปากซอยตายาย แต่ได้มีการขยายพื้นที่อาคารพาณิชย์ จึงได้ย้ายศาลตายายมาไว้ที่ท้ายวัดดอน ชาวบ้านในชุมชนนิยมมาไหว้ขอพรให้ตายายคุ้มครอง ขอพรโชคลาภจากตา ยาย และกุมารทองภายในศาลที่ท้ายวัดแห่งนี้
การแก้บนท้าวเวสสุวรรณ
- ขอพรเรื่องการงาน : สังฆทาน 1 ชุด ได้แก่ รองเท้าพระ 1 คู่ ,พระพุทธรูป 1 องค์, อาสนะสงฆ์ 1 ผืน และ เข็มขัดกับด้าย 1 ชุด
- ขอพรเรื่องการเงิน : สังฆทาน 1 ชุด หรือ พระพุทธรูป 9 นิ้ว
- ขอพรเรื่องความรัก : ถวายดอกกุหลาบแดงบูชาท้าวเวสสุวรรณ ถือศีล 8 ในวันที่เราเกิดและวันพระ
- ขอพรเรื่องสุขภาพ : ถวายหนังสือสวดมนต์ และปล่อยสัตว์
เจ้าพ่อเทพา (ดำทุ่ง)
เจ้าพ่อเทพาดำทุ่ง เทพเจ้าผู้คุ้มครองลูกหลานชาวทวาย มีรูปร่างท้วมใหญ่ ผิวเข้ม อดีตเป็นชาวนา ทำไร่ทำสวน และยังเป็นพ่อหมอแผนโบราณประจำหมู่บ้าน เรียกกันว่า พ่อหมอตีนเปล่า รักษาโรคภัยไข้เจ็บให้กับคนในหมู่บ้าน ด้วยความเมตตากรุณา และมีคุณธรรมสูง ทำให้เป็นที่นับถือของชาวบ้านประจำหมู่บ้าน เชื่อกันว่าเมื่อท่านสิ้นอายุขัย ทำให้ท่านจุติมาเป็นรุกขเทวดา คอยดูแลคุ้มครอง คุ้มภัยให้กับคนในหมู่บ้าน เมื่อใดที่มีเหตุร้าย ก็จะไปเข้าฝันคนในหมู่บ้านเพื่อเตือนภัยที่กำลังจะเกิด ทำให้เป็นที่เคารพศรัทธาจนมีศาลอยู่ทั่วตามถิ่นฐานชุมชนของชาวทวาย
อนึ่ง หากมีเรื่องร้อนใจอยากขอพร บนบานให้ท่านช่วย เมื่อสำเร็จแล้วก็ให้นำ หัวหมู เหล้า มะพร้าวอ่อน บายศรีปากชาม ไก่ย่าง ขนมหวาน พวงมาลัยและน้ำสะอาด รวมไปถึงการแสดงลิเกหรือละครรำ
นับเป็นวัดที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน และมีหลากหลายมิติทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ จะมามูขอพรก็ได้ มาเรียนรู้ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมก็ดี หรือมาปฏิบัติธรรม ฝึกสมาธิ เรียนรู้ธรรมะกับทางวัดก็ได้เช่นกัน นับเป็นอีกหนึ่งวัดสวย กรุงเทพที่ต้องมาเยือนกันสักครั้ง
ภาพโดย แพรว
ที่อยู่ : 551 เจริญกรุง 63 แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพ 10120
Google map : https://maps.app.goo.gl/NzrZg8QimNWWxNFz7
เวลาเปิด – ปิด : 05.00 น. – 21.00 น.
เนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ขั้นตอนการทำบุญ ล้างป่าช้า ร่วมส่งวิญญาณศพไร้ญาติสร้างกุศลบารมี
จัดเต็ม!! ไหว้พระที่พม่า 9 สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ต้องไปให้ได้สักครั้งในชีวิต!
วัดศรีชุม ลำปาง ชมลวดลายงานไม้จองล้ำค่าโบราณสถานวัดพม่า