สำหรับภัตตาหาร หรือ อาหารสำหรับพระภิกษุสงฆ์นั้น พระพุทธเจ้าทรงประกาศพุทธบัญญัติไว้ว่า พระภิกษุสงฆ์ไม่สามารถปรุงหรือประกอบอาหารได้เอง และพระสงฆ์จะไม่เก็บอาหารไว้ข้ามวัน ดังนั้นเหล่าพุทธศาสนิกชนควรที่จะถวายของที่ฉันได้ในทันที โดยสิ่งของที่จะนำมาถวายพระทุกอย่างควรเป็นสิ่งของที่ได้มาหรือใช้ทรัพย์ที่บริสุทธิ์จัดซื้อมา รวมทั้งเจตนาที่จะถวายก็ต้องบริสุทธิ์ด้วย แต่ทั้งนี้แล้ว ก็ยังมี อาหารต้องห้ามถวายพระ ตามที่พุทธบัญญัติได้ระบุไว้ มิฉะนั้น พระจะต้องอาบัติ ( อาบัติ = การล่วงละเมิด หมายถึง โทษที่เกิดจากการล่วงละเมิดสิกขาบทหรือข้อห้ามแห่งภิกษุ ใช้เรียกความผิดทางวินัยของพระภิกษุว่า ต้องอาบัติ) ในฐานะของพุทธศาสนิกชนจึงจำเป็นต้องรู้ว่า ภัตตาหารใดที่ต้องห้าม และภัตตาหารใดที่ถวายได้กันบ้าง
อาหารต้องห้ามถวายพระ
1. เนื้อสัตว์ 10 ชนิด ที่พระห้ามรับและห้ามฉัน
- เนื้อมนุษย์ รวมทั้งเลือดมนุษย์ด้วย
- เนื้อช้าง
- เนื้อม้า
- เนื้อสุนัข
- เนื้องู
- เนื้อราชสีห์ (สิงห์โต)
- เนื้อเสือโคร่ง
- เนื้อเสือเหลือง
- เนื้อหมี
- เนื้อเสือดาว
2. เนื้อสัตว์ที่ยังไม่ได้ทำให้สุกด้วยไฟ เช่น เนื้อดิบ ปลาดิบ ซูชิ ซาชิมิ เสือร้องไห้ ไข่ดาวกึ่งสุกกึ่งดิบ ไข่ต้มยางมะตูม แหนม ก็เป็นของต้องห้ามไม่ให้พระภิกษุขบฉันด้วยเช่นกัน ถ้าจะถวายต้องทำให้สุกเสียก่อน
3. เนื้อสัตว์ที่ฆ่าเจาะจง เช่น ฆ่าปลา เชือดไก่ จับกุ้ง ล้มหมู ล้มวัวเพื่อทำอาหารถวายแก่พระภิกษุสามเณรโดยตรง ซึ่งเรียกว่า “อุทิศสะมังสะ” แปลว่า เนื้อเจาะจง ก็เป็นของห้ามไม่ให้พระภิกษุสามเณรขบฉัน
แต่ถ้าพระภิกษุไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน และไม่ได้สงสัยว่าเขาฆ่าเพื่อเป็นอาหารเฉพาะเจาะจงแก่ตน จึงฉันได้ ฉะนั้น เนื้อสัตว์ดิบที่ผู้มีจิตศรัทธาจะนำมาให้ทางวัดประกอบอาหารเพื่อถวายแก่พระภิกษุ ควรจะมอบไว้ให้แม่ชีหรือเจ้าหน้าที่ที่ดูแลเรื่องอาหารหรือห้องครัวของวัดเป็นผู้ดูแล และไม่ควรเรียนให้พระภิกษุทราบถึงเนื้อสัตว์ที่จะถวายนั้น ส่วนอาหารชนิดอื่น ๆ ที่จะถวายพระ ก็ไม่ต้องออกชื่ออาหารนั้นให้พระท่านทราบ
4. ผักหรือผลไม้ที่มีเมล็ดแก่ที่สามารถนำไปปลูกให้งอกงาม ออกลูก ออกผลได้ อย่าง ส้ม แตงโม เงาะ ลำไย มะเขือสุก ทุเรียน หรือมีส่วนอื่นที่นำไปปลูกได้ไม่ว่าจะเป็นลำต้น ราก หัวก็ดี เช่น อะโวคาโด้ เผือก มัน แห้ว ผักบุ้ง ใบโหระพา หัวหอม เป็นต้น อนุญาตให้อนุปสัมบัน คือบุคคลที่ไม่ใช่พระภิกษุ ได้แก่ สามเณรและคฤหัสถ์ ทำให้เป็นของสมควรแก่สมณะเสียก่อน ที่มักเรียกว่า “กัปปิยะ” โดยผลไม้ที่มีเมล็ดควรเอาเมล็ดออกก่อน หรืออาจใช้วิธีการเอาเล็บจิกที่เปลือก หรือเอามีดปอกเปลือก หรือหั่นเป็นชิ้น ๆ พร้อมฉัน พระท่านจึงฉันได้ สำหรับผลไม้ที่ไม่มีเมล็ด สามารถถวายได้เลย ซึ่งหากไม่ทำกัปปิยะก่อนแล้ว พระฉันเข้าไปจะเป็นอาบัติทุกกฎ
5.อาหารที่ปรุงด้วยสุราจนมีสี มีกลิ่น หรือมีรสปรากฏ รู้ได้ว่ามีสุราเจือปน ห้ามไม่ให้พระภิกษุขบฉัน ถ้าไม่มีสี ไม่มีกลิ่น หรือไม่มีรสปรากฏ ฉันได้ ไม่เป็นอาบัติ
6. ข้าวสาร อาหารแห้ง ธัญญาหารดิบ หรือน้ำปลา น้ำมัน ซอสปรุงรสต่าง ๆ ควรถวายให้กับโรงครัวของวัดจะเหมาะสมกว่า เนื่องจากว่าตามพระวินัย พระสงฆ์ไม่สามารถประกอบอาหารเองได้
7. สุรา บุหรี่ กัญชา ยาเสพติด สื่อบันเทิง หนังสือ/สื่ออนาจาร รวมถึงสิ่งของที่นำไปสู่อบายมุขต่าง ๆ ไม่ควรถวายพระเด็ดขาด และไม่ควรขอให้พระช่วยเหลือด้านสื่อบันเทิงทุกชนิด
นอกจากนี้ เราไม่ควรถามรสชาติ ความชอบของพระภิกษุว่าชอบฉันอาหารชนิดใด ชอบอาหารที่ถวายหรือไม่ อาหารอร่อยไหม ฝีมือเป็นอย่างไรบ้าง เพราะจะเป็นการส่งเสริมให้ท่านยึดติดในอาหาร และ ยังเป็นเรื่องที่ไม่สมควรถามพระเป็นอย่างยิ่ง
เนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
พระพรหมวชิรคุณ (หลวงพ่อไพบูลย์ สุมังคโล) ละสังขารแล้ว สิริอายุ ๘๙ ปี
ทำไมต้องใช้ หัวหมูแก้บน ความเป็นมาและความหมายของหัวหมู
อาหารมงคล 10 อย่าง ที่อร่อยและความหมายดีเริ่ด