คำกล่าวถวายน้ำปานะ น้ำปานะ อานิสงส์

น้ำปานะคืออะไร ถวายน้ำปานะเมื่อไหร่ อานิสงส์และ คำกล่าวถวายน้ำปานะ

แต่กิจของสงฆ์ยังคงต้องปฏิบัติจนค่ำ พระพุทธองค์จึงทรงอนุญาตให้พระภิกษุสงฆ์สามารถฉันน้ำปานะได้ แล้ว "น้ำปานะ" คืออะไร เราควรถวายน้ำปานะเมื่อไหร่ พร้อม คำกล่าวถวายน้ำปานะ และอานิสงส์จากการถวายน้ำปานะ

Home / FOOD / น้ำปานะคืออะไร ถวายน้ำปานะเมื่อไหร่ อานิสงส์และ คำกล่าวถวายน้ำปานะ

หลักพระวินัยเรื่องการฉันภัตตาหารสำหรับพระสงฆ์ คือ ห้ามฉันอาหาร (ห้ามเคี้ยวอาหาร) หลังเที่ยงวันเป็นต้นไป จนกว่าจะเช้าวันใหม่ แต่กิจของสงฆ์ยังคงต้องปฏิบัติจนค่ำ พระพุทธองค์จึงทรงอนุญาตให้พระภิกษุสงฆ์สามารถฉันน้ำปานะได้ แล้ว “น้ำปานะ” คืออะไร เราควรถวายน้ำปานะเมื่อไหร่ พร้อม คำกล่าวถวายน้ำปานะ และอานิสงส์จากการถวายน้ำปานะ

น้ำปานะ

น้ำปานะ

น้ำปานะ คือ น้ำที่คั้นจากผลไม้ที่สุกเองตามธรรมชาติ ห้ามสุกด้วยไฟ ควรเก็บไว้ฉันแค่ 1 วันกับอีก 1 คืน เช้าวันถัดมาถือว่าฉันไม่ได้ ผลไม้ที่สามารถมาทำเป็นน้ำปานะได้ไม่ควรเป็นผลใหญ่มาก ไม่มีเนื้อ ไม่มีกากเจือปน ซึ่งพระพุทธองค์ได้ทรงบัญญัติถึงวิธีที่ถูกต้องในการทำน้ำปานะ เริ่มจากปอกหรือคว้านผลไม้ที่สุกเองโดยธรรมชาติแล้วเอาผ้าขาวบางกรองเอาแต่น้ำ ไม่ให้มีเนื้อหรือกาก จากนั้นปรุงรสได้ด้วยเกลือและน้ำตาลเพื่อให้รสชาติและพลังงาน จะเติมน้ำหรือไม่เติมน้ำก็ได้

ผลไม้ที่พระพุทธเจ้าได้อนุญาตไว้มี 8 ชนิดคือ

  1. อัมพะปานะ น้ำมะม่วง
  2. ชัมพุปานะ น้ำชมพู่หรือน้ำหว้า
  3. โจจะปานะ น้ำกล้วยมีเมล็ด
  4. โมจะปานะ น้ำกล้วยไม่มีเมล็ด
  5. มะธุกะปานะ น้ำมะทรางต้องเจือด้วยน้ำจึงควร
  6. มุททิกะปานะ น้ำลูกจันทน์หรือองุ่น
  7. สาลุกะปานะ น้ำเหง้าบัว
  8. ผารุสะกะปานะ น้ำมะปรางหรือลิ้นจี่

ส่วนน้ำที่ไม่สามารถเป็นน้ำปานะ คือพระสงฆ์ไม่สามารถฉันได้ ก็คือน้ำจากข้าว ข้าวสาลี ข้าวเปลือก ข้าวเหนียว ข้าวละมาน ข้าวฟ่าง ลูกเดือย รวมถึงกาแฟ หรือน้ำที่ผสมนมทุกชนิด เพราะนมถือเป็นอาหารประณีต ไม่ควรฉันยามวิกาล นอกจากนี้ น้ำจาก ผลไม้ใหญ่ 9 ชนิด อย่าง ผลตาล มะพร้าว ขนุน สาเก น้ำเต้า ฟักเขียว แตงไทย แตงโม และฟักทอง รวมไปถึง น้ำจากถั่วชนิดต่างๆ เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วดำ และงา เป็นต้น ก็ไม่สามารถเป็นน้ำปานะ พระสงฆ์ไม่สามารถฉันได้เช่นกัน รวมไปถึง ชา กาแฟ โอวัลติน ไมโล โอเลี้ยง น้ำเต้าหู้ นมถั่วเหลือง ก็ไม่ถือว่าเป็นน้ำปานะ หากฉันก็ย่อมต้องอาบัติปาจิตตีย์

แต่ในปัจจุบัน ก็มีหลายวัดที่อนุโลมตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เพื่อความสะดวกสำหรับพุทธศาสนิกชนจะได้มาทำบุญ ถวายน้ำปานะกัน เช่น ไม่จำเป็นต้องไม่ผ่านความร้อนหรือสุกโดยธรรมชาติก็ได้ เพียงแค่อย่ามีเนื้อผลไม้ผสม อย่ามีกากผสมในน้ำ ทั้งนี้ทั้งนั้น ก่อนจะถวายน้ำปานะ อาจจะสอบถามรายละเอียดจากทางวัดก่อนเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน เพราะบางวัดก็ยังเคร่งปฏิบัติเช่นกันค่ะ

น้ำปานะ

ถวายน้ำปานะในโอกาสใดได้บ้าง

ตามจริงแล้วนั้น เหล่าฆราวาสสามารถถวายน้ำปานะได้ในทุกโอกาส ทุกวันเวลา หรือหากต้องการถวายในช่วงเวลาวันสำคัญต่างๆ ก็สามารถทำได้ดังนี้

  • เป็นเจ้าภาพถวายน้ำปานะในช่วงเข้าพรรษาตลอดทั้งพรรษา
  • เป็นเจ้าภาพถวายน้ำปานะในวันที่วัดมีกิจกรรม เช่น งานปริวาสกรรม (กิจของสงฆ์ที่พึงชำระศีลของตนเองให้บริสุทธิ์) งานผ้าป่า งานกฐิน งานบุญต่างๆ งานสวดมนต์ข้ามปี ฯลฯ
  • ถวายน้ำปานะในวันสำคัญทางพุทธศาสนา เช่น วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันมาฆบูชา ฯลฯ
  • ถวายน้ำปานะในวันที่พระลงอุโบสถฟังพระปาฏิโมกข์ ได้แก่ วันขึ้น 15 ค่ำ หรือ วันแรม 15 ค่ำ
น้ำปานะ

คำกล่าวถวายน้ำปานะ

อิมานิ มะยัง ภันเต, ปานานิ, สะปะริวารานิ, ภิกขุสังฆัสสะ, โอโณชะยามะ, สาธุ โน ภันเต, ภิกขุสังโฆ, อิมานิ, ปานานิ, สะปะริวารานิ, ปะฎิคคัณหาตุ, อัมหากัง, ทีฆะรัตตัง, หิตายะ, สุขายะ, นิพพานายะ จะฯ

ข้าแต่พระภิกษุสงฆ์ผู้เจริญ, ข้าพเจ้าทั้งหลาย, ขอน้อมถวาย, น้ำปานะ, พร้อมด้วยบริวารทั้งหลายเหล่านี้, แด่พระภิกษุสงฆ์, ขอพระภิกษุสงฆ์, จงรับ, น้ำปานะ, พร้อมด้วยบริวารทั้งหลายเหล่านี้, ของข้าพเจ้าทั้งหลาย, เพื่อประโยชน์,เพื่อความสุข, เพื่อมรรคผลนิพพาน, แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย, ตลอดกาลนานเทอญ.

อานิสงส์การทำบุญถวายน้ำ

การทำบุญถวายน้ำฉัน น้ำใช้ แด่พระภิกษุหรือบริจาคน้ำดื่มให้ผู้ที่ขาดแคลน เชื่อกันว่าจะทำให้ผู้ถวายได้อานิสงส์อันยิ่งใหญ่

  1. มีเงินทองไหลมาเทมา การเงินคล่องมือ
  2. ชีวิตร่มเย็นเป็นสุข ราบรื่น เหมือนสายน้ำไหล
  3. มีจิตใจที่ใสสะอาด เหมือนดั่งน้ำบริสุทธิ์
  4. มีผู้อุปถัมภ์ คอยสนับสนุน ส่งเสริม ช่วยเหลือ เนื่องมาจากบุญกุศล และการทำทาน

เนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

9 อานิสงส์เครื่องถวายสังฆทาน ถวายสังฆทานอย่างไรให้ได้ผลบุญ

คำจบของการทำบุญใส่บาตร

เมนู ใส่บาตรตามวันเกิด เสริมดวงชะตาแถมทริคเด็ดที่ห้ามพลาด