เคยสงสัยกันไหมคะว่า ทำไมเราถึงใช้ ไข่ต้มแก้บน ถือได้ว่าเป็นวัฒนธรรมสายมูอันเก่าแก่มาช้านานที่แอดมินก็ได้เห็นมาตั้งแต่รู้ความ ข่าวนางสาวไทยแก้บนด้วยไข่ต้มที่วัดพระแก้วและวัดหลวงพ่อโสธร คนถูกล็อตเตอรี่แก้บนด้วยไข่ต้มที่วัดโน้นวัดนี้ อย่างเช่น วัดกลางบางพระ นครชัยศรี , วัดสะตือ อยุธยา หรือ หลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่ใน อำเภอบางพลี สมุทรปราการ บางพื้นที่ก็ใช้ไข่ไก่ทาสีแดงในการแก้บน อย่างเช่น พระร่วงโรจนฤทธิ์ พระพุทธรูปยืนองค์ใหญ่ในวัดพระปฐมเจดีย์ นครปฐม ที่สายมูต่างรู้กันดีว่าหลวงพ่อชอบไข่ต้มย้อมสีแดง แต่ที่ดังๆ และรู้กันดี ก็คือ วัดหลวงพ่อโสธร จ.ฉะเชิงเทรา ที่มักจะมีไข่ต้มแก้บนเป็นร้อยเป็นพันฟองมาถวาย จนถึงขั้นเกิดธุรกิจไข่ต้มแก้บนเป็นแถวๆ ในย่านนั้น ซึ่งก็ทำมาค้าขึ้น ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า
คำกล่าวถวาย ไข่ต้มแก้บน
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุท ธัสสะ (3 จบ)
ข้าพเจ้า …(ชื่อ-นามสกุล)… เคยขอให้ … บัดนี้สำเร็จแล้ว จึงขอนำไข่ต้ม…….. (จำนวน)……… ฟองมาถวาย
หลังปักธูปบนไข่ แล้วยกแผงไข่ต้มขึ้นมา 3 รอบและขยับประเคนครบทุกแถว
ขั้นตอนต่อไปคือการรอจนธูปหมด ก็สามารถท่องคำลา เป็นอันเสร็จพิธีถวายไข่ต้มแก้บน
ถ้าถามว่าทำไมถึงต้องแก้บนด้วยไข่ นั่นก็น่าจะเป็นเพราะว่า พื้นที่ฉะเชิงเทราเป็นพื้นที่ของฟาร์มไข่ไก่ เป็นอามิสบูชาที่หาได้ง่ายๆ ต้มแล้วก็ขนย้ายสะดวก มีน้ำหนักไม่มาก ราคาไม่แพงในแบบที่ชาวบ้านย่านนั้นจะหาได้ จนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติเรื่อยมา หลังถวายเสร็จไข่ต้มแล้วส่วนมากก็ “ลา ” และนำไปปรุงอาหารเมนูต่างๆ ต่อยอดเป็นอาหารต่างๆ อย่าง ไข่พะโล้ ยำไข่ต้ม ฯลฯ แจกจ่ายเพื่อนฝูง ญาติมิตร หรือบริจาคผู้ขาดแคลน เป็นการทำทานได้บุญอีกต่อหนึ่ง อย่างเช่น โรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ ซึ่งรับรักษาผู้ป่วยโรคไต จะได้รับไข่แก้บนเดลิเวอรี่เป็นประจำ ด้วยความจำเป็นที่ผู้ป่วยโรคไตต้องรับประทานไข่วันละ 6 ฟอง รวมถึงโรงเรียนต่าง ๆ ที่แม้จะเป็นช่วง COVID-19 บางโรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนประจำก็ยังเปิดอยู่ อย่างโรงเรียนโสตศึกษา ก็เป็นอีกสถานที่ที่เด็ก ๆ ผู้พิการทางการได้ยินจะได้รับไข่ไว้ปรุงอาหารต่อ
“ไข่ต้ม” ยังถูกนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในพิธีกรรมความเชื่อต่างๆ อีกมาก ทั้งเป็นเครื่องบวงสรวง เสียบยอดบายศรีในพิธีแต่งงานด้วยการใช้ไข่ต้ม 2 ฟอง เป็นสัญลักษณ์เสี่ยงทายหัวใจหญิงและชายว่าจะรักกันมั่นคงหรือไม่ โดยผ่าไข่เป็นสองซีกแล้วมาดูกันที่ไข่แดง ถ้าเอียงไปอยู่ข้างใดข้างหนึ่ง ทายว่าความรักโลเล แต่ถ้าอยู่ตรงกลางแสดงว่าหัวใจรักมั่นคง
ส่วนพิธีแต่งงานทางภาคอีสาน ก็นำไข่ต้มจากพาขวัญ (พานบายศรี) มาปอกแบ่งครึ่งให้เจ้าบ่าวและเจ้าสาวกินคนละครึ่งใบ จากนั้นใช้มือขวาป้อนไข่ท้าว (เจ้าบ่าว) มือซ้ายป้อนไข่นาง (เจ้าสาว) เสร็จแล้วก็ใช้ฝ้ายผูกข้อมือของคู่บ่าวสาวพร้อมกับอวยพร
นอกจากนี้ ไข่ต้ม เป็นพระเอกสำคัญในการประกอบพิธีบายศรีสู่ขวัญของชาวอีสานที่จะทำขึ้นในโอกาสทั้งดีและไม่ดี ด้วยการเชื่อมโยง “ไข่” อันมีเปลือกห่อหุ้ม ส่วน “ขวัญ” ก็มีร่างกายหุ้มห่อ อันมีนัยยะถึง “จิตวิญญาณ” ของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ทั้งคนและสัตว์ ไข่จึงถูกนำมาใช้แทนขวัญหรือจิตวิญญาณของมนุษย์ โดยหมอขวัญจะปอกเปลือกไข่ต้ม และผ่าออกเป็น 2 ซีก เพื่อทำนายว่าเมื่อภายหลังประกอบพิธีเสร็จแล้ว เจ้าของขวัญจะมีความสุขหรือไม่อย่างไร ถ้าผ่าไข่ออกแล้วผิวเรียบสวยงาม ไข่แดงและไข่ขาวเต็มฟอง เจ้าของขวัญจะมีความสุข สบาย ไม่มีโรคภัย และเมื่อเสร็จพิธีผ่าไข่ผลออกมาสวยงาม เจ้าของขวัญก็รับประทานไข่ทั้งใบเพื่อเรียกขวัญกลับเข้าไป แต่ถ้าไข่ไม่ได้มีลักษณะดังที่กล่าวมา ก็หมายความว่าเจ้าของ “ขวัญ” จะไม่สบาย อาจได้รับเคราะห์ในเวลาอันใกล้ ซึ่งถ้าผลออกมาแบบนี้ก็จะไม่ได้รับประทานไข่กลับเข้าไป แต่หมอขวัญจะทำพิธีสะเดาะเคราะห์ต่อไป
ความเชื่อเรื่องไข่ – จิตวิญญาณการก่อกำเนิดจากทั่วโลก
- ชาวยิว ชาวโมร็อกโก ไข่ประกอบในพิธีแต่งงานโดยเจ้าบ่าวจะเอาไข่ปาไปที่เจ้าสาว เชื่อกันว่าจะทำให้เจ้าสาวซึ่งเป็นว่าที่คุณแม่ในอนาคตคลอดลูกง่าย
- ส่วนชาวยิวในรัสเซียนั้น นิยมนำไข่วางตรงหน้าเจ้าสาว เป็นความหมาย ขอให้ลูกดกคลอดง่าย เหมือนไก่ออกไข่
- สำหรับชาวจีนแล้ว ไข่มีบทบาทสำคัญเชื่อมโยงกับการกำเนิดเป็นอย่างมาก ถึงขนาดมีตำนานหนึ่งของจีนนั้นเล่าว่า 1,600-1,000 ปีก่อนคริสตกาล ผู้หญิงคนหนึ่งเก็บไข่นกนางแอ่นได้จึงนำมากิน แล้วเกิดตั้งครรภ์ได้ลูกชาย ภายหลังลูกชายกลายเป็นผู้ก่อตั้งอาณาจักรซาง ไข่ จึงเป็นสัญลักษณ์ถึงการเกิดที่เป็นสิริมงคลนับแต่นั้น
ชาวจีน เชื่อว่า “ไข่” เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ “ไข่สีแดง” เป็นสัญลักษณ์แห่งการกำเนิด ความโชคดี มีความสุข ไข่จึงมีบทบาทในประเพณีการเกิดของชาวจีน หากบ้านไหนมีเด็กแรกคลอด พ่อแม่ก็จะต้มไข่ย้อมสีแดง แจกรับประทานกันในครอบครัว และญาติมิตร เพื่อความเป็นมงคล บางพื้นที่ทางตอนกลางของประเทศจีน จะต้มไข่ตามเพศของเด็ก คือ
บ้านที่ได้ลูกชาย จะต้มไข่เป็นเลขคู่ เช่น 6 หรือ 8 ใบและแต้มจุดสีดำบนปลายไข่
ส่วนบ้านที่ได้ลูกสาว จะต้มไข่เป็นเลขคี่ เช่น 5 หรือ 7 ไม่มีการแต้มจุดดำ
นอกจากนี้ยังมีความเชื่อในการรับประทาน ไข่ต้มย้อมสีแดง ในทุกๆ วันครบรอบวันเกิด เพื่อความเป็นมงคล อายุมั่นขวัญยืนของเจ้าของวันเกิดนั่นเองอีกด้วย
- ชาวเมี่ยน ชนชาติเชื้อสายจีนเดิมบริเวณลุ่มแม่น้ำแยงซี อาศัยอยู่มากในแถบจังหวัดทางภาคเหนือของไทย มีความเชื่อว่า “ไข่ต้มย้อมสีแดง เป็นการอวยพรปีใหม่ให้มีโชคลาภ สุขภาพแข็งแรง ชีวิตเจริญรุ่งเรือง” และการมอบไข่ต้มย้อมสีแดงให้กับแขกผู้มาเยือน ถือเป็นการอวยพรในช่วงวันเทศกาลตรุษจีนและปีใหม่ของชาวเมี่ยน
- ใช่แค่เพียงความเชื่อในทางพุทธ ไข่…ยังมีบทบาทสำคัญในงานประเพณีเก่าแก่ในวัฒนธรรมตะวันตกของชาวคริสต์อย่าง ” เทศกาลอีสเตอร์ ” โดย “ไข่ เป็นสัญลักษณ์ของ “การเกิดใหม่” สื่อถึง “การกำเนิดใหม่ของพระเยซู” ด้วยการนำไข่ไก่มาระบายสี ตกแต่งลวดลายต่างๆ ในบางประเทศจะระบายสีไข่อีสเตอร์ด้วยสีแดงเพียงสีเดียว เป็นสัญลักษณ์หมายถึง “พระโลหิตของพระเจ้า”
- ในอินเดียตะวันตกเองก็มี พิธีกรรมไข่เสี่ยงทาย ทำนายความเป็น – ความตายของคนไข้ เรียกว่า dieng shat pylleng หรือกระดานทุบไข่เสี่ยงทาย โดย หมอกลางบ้าน (หมอชนบท รักษาด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน) จะใช้กระดานแผ่นเล็กๆ ยาว 6 นิ้ว กว้าง 4 นิ้ว วางกระดานไว้ในกระจาด แล้วยืนถือไข่ให้ตรงกับกระดาน ปล่อยให้ไข่ตกกระทบกระดานแล้วทำนายตามลักษณะที่ไข่ตก เช่น เอียงไปทางซ้าย ค่อนไปทางขวาหรือตรงกลาง ยิ่งถ้าหากไข่แดงแตกเป็นรูปสี่เหลี่ยม หมายความว่าคนไข้มีโอกาสตายมากกว่ารอด
ส่วนตัวแอดมินเองก็เคยมีประสบการณ์ป่วยหนักต่อเนื่องในวัยเด็ก พึ่งวิทยาศาสตร์ด้วยการหาหมอไม่รู้กี่แห่งก็แล้ว แต่ก็ยังนอนซมไร้เรี่ยวแรงอยู่อย่างนั้น จนคุณแม่ต้องทำพิธีกรรมไหว้แม่ซื้อ และตอกไข่ดิบทำนาย ว่าจะหายไข้หรือไม่ อย่างไร หลังทำพิธีและพักฟื้นไม่กี่วัน ก็ค่อยๆ อาการดีขึ้น …จากวันนั้นจนถึงวันนี้ยังไม่แน่ใจเหมือนกันว่ารอดมาได้เพราะหมอหรือแม่ซื้อกันแน่ ?! แต่ที่รู้ๆ คือ ขวัญกำลังใจของคุณแม่เราดีขึ้น ที่ลูกค่อยๆ กลับมามีเรี่ยวแรงเป็นปกติ
ความเชื่อโบราณในไทยเกี่ยวกับผู้หญิงและไข่
- ห้ามต้มไข่ในหม้อหุงข้าว
สมัยก่อนถือเป็นข้อห้ามเด็ดขาด!!! หากลูกสาวหรือลูกสะใภ้บ้านไหนต้มไข่ในหม้อหุงข้าว จะถูกเรียกมาตำหนิ ติเตียน ด้วยเชื่อว่าเป็นการไม่เคารพพระแม่โพสพ ทำให้พระแม่โพสพหนีไป นำความวิบัติมาสู่บ้าน
แต่หากมองในอีกแง่ นี่อาจเป็นกุศโลบายของคนยุคก่อน เพศหญิงจะต้องละเอียดอ่อน เป็นแม่ศรีเรือน การหุงหาอาหารก็จะต้องละเมียดละไม เป็นเสน่ห์ปลายจวักของกุลสตรี การนำไข่ต้มลงไปพร้อมกับหุงข้าว นอกจากจะเป็นการหุงหาอาหารอย่างลวกๆ ไม่พิถีพิถันแล้ว ยังเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อโรค ซึ่ง การเลี้ยงไก่ไข่อาจไม่ถูกสุขลักษณะอย่างในปัจจุบัน และอีกทั้งความร้อนที่มากเกินไปอาจทำให้ไข่แตกคาหม้อได้
- คนท้องห้ามตอกไข่!
ความเชื่อโบราณนี้มาจากภาคใต้ของไทย อธิบายว่า การตอกไข่นั้นส่งผลไม่ดีต่อเด็กในครรภ์ เป็นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เพราะในขณะตั้งครภ์เป็นช่วงชีวิตที่ควรประกอบแต่กรรมดี คิดดี พูดดี ทำดี คนท้องควรละเว้นบาปทั้งปวงด้วยกาย วาจา และใจ ซึ่งปัจจุบัน ความเชื่อเรื่องนี้ก็บรรเทาเบาบางลงไปตามกาลเวลา
หากมองไปยังความเชื่อเรื่อง “ไข่” จากวัฒนธรรมประเพณีทั่วโลกแล้ว กล่าวได้ว่ามนุษยชาติ ตีความเชิงสัญลักษณ์ของ “ไข่” ในรูปแบบ ทิศทางความหมายเดียวกันว่า “ไข่” เป็นต้นกำเนิดของชีวิต ให้ความหมายแทนชีวิตที่เกิดใหม่นั่นเอง
เนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
แว่นตาบอกนิสัย ทำความรู้จักคนจากแว่นตาที่เขาสวมใส่
24 มี.ค. ฤกษ์เปิดบัญชี อ. มิก แนะฤกษ์ดีเก็บทรัพย์กับธนาคารประจำวันเกิด