วันขึ้นปีใหม่ไทย วันมหาสงกรานต์ สงกรานต์

13 เมษายน วันมหาสงกรานต์ ประวัติวันสงกรานต์

13 เมษายน วันมหาสงกรานต์ และยังเป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติอีกด้วย แล้วสงกรานต์คืออะไร มีความเป็นมาอย่างไร เรามาทวนความรู้รอบตัวกันสักหน่อยนะคะ ^ ^

Home / ไลฟ์สไตล์ / 13 เมษายน วันมหาสงกรานต์ ประวัติวันสงกรานต์

วันมหาสงกรานต์

สงกรานต์

13 เมษายน วันมหาสงกรานต์ และยังเป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติอีกด้วย แล้วสงกรานต์คืออะไร มีความเป็นมาอย่างไร เรามาทวนความรู้รอบตัวกันสักหน่อยนะคะ ^ ^

“สงกรานต์” มาจากภาษาสันสกฤต “สํ-กรานต”

คำว่า “สงกรานต์” มาจากภาษาสันสกฤต “สํ-กรานต” แปลว่า ก้าวขึ้น ย่างขึ้น หรือย้ายขึ้น โดยมีนัยความหมายว่า การเข้าสู่ศักราชราศีใหม่ หรือวันขึ้นปีใหม่ ถือเป็นประเพณีที่มีความเก่าแก่และคนไทยสืบทอดกันมาแต่โบราณคู่กับประเพณีตรุษจีน จึงได้มีการรวมเรียกกันว่า “ประเพณีตรุษสงกรานต์” ซึ่งแปลว่าการส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่

สงกรานต์

การกำหนดวันสงกรานต์แบบสากลและแบบโบราณ

ในสมัยโบราณ คนไทยถือว่า วันขึ้น 1 ค่ำ เดือนอ้าย ซึ่งจะตรงในช่วงเดือน พฤศจิกายนหรือธันวาคม ให้เป็นวันขึ้นปีใหม่ แต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการเปลี่ยนให้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ ต่อมาในสมัยของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ปี พ.ศ. 2483 ได้เปลี่ยนวันปีใหม่ให้เป็นวันสากล คือ วันที่ 1 มกราคม แต่ถึงอย่างไรคนโบราณก็ยังคงคุ้นเคยกับวันปีใหม่ไทยในเดือนเมษายน จึงได้กำหนดให้วันที่ 13 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ไทยร่วมด้วย ทั้งนี้ในปัจจุบันถือเป็นวันหยุดพิเศษส่วนมากรัฐบาลจะกำหนดให้หยุดในช่วงวันที่ 13-15 เมษายน ซึ่งผู้คนก็นิยมเดินทางกลับบ้านเพื่อไปหาครอบครัว

ประวัตินางสงกรานต์

นางสงกรานต์ เป็นคติความเชื่ออยู่ในตำนานสงกรานต์ เพื่อให้คนโบราณได้รู้ว่าวันมหาสงกรานต์ คือ วันที่พระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษ ซึ่งสมัยนั้นถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามสุริยคติ ถ้าตรงกับวันใด โดยสมมติผ่านนางสงกรานต์ทั้งเจ็ดเทียบกับแต่ละวันในสัปดาห์ ปีไหนตรงกับวันใด นางสงกรานต์ที่มีชื่อสมมุติเข้ากับวันนั้นๆ ก็จะเป็นผู้อัญเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมออกแห่ไปสรงน้ำ ซึ่งนางสงกรานต์ทั้งเจ็ดนี้ เป็นเทพธิดาลูกสาวท้าวกบิลพรหม และเป็นบาทบริจาริกาของพระอินทร์

นางสงกรานต์ทั้ง 7 จากตำนาน ท้าวกบิลพรหมแพ้พนันธรรมบาลกุมาร ต้องตัดเศียรออกบูชาธรรมบาลกุมารตามสัญญา แต่เนื่องจากพระเศียรของพระองค์ตกไปอยู่ที่ใด ก็จะเป็นอันตรายต่อที่นั้น ไม่ว่าจะเป็นบนอากาศ บนดิน หรือในน้ำ ดังนั้นธิดาทั้งเจ็ด จึงต้องนำพานมารองรับ และนำไปประดิษฐานไว้ในถ้ำคันธชุลี ณ เขาไกรลาส ครั้นถึงกำหนด 365 วัน ซึ่งโลกสมมติว่าเป็นปีหนึ่งเวียนมาถึง หรือก็คือ วันมหาสงกรานต์ เทพธิดาทั้งเจ็ด ก็จะทรงพาหนะต่างๆ ผลัดเวรกันมาเชิญพระเศียรของบิดาออกแห่ โดยที่เทพธิดาทั้งเจ็ดนี้ปรากฏในวันมหาสงกรานต์เป็นประจำ จึงได้ชื่อว่า “นางสงกรานต์” ส่วนท้าวกบิลพรหมนั้น โดยนัยก็คือ “พระอาทิตย์” นั่นเอง เพราะกบิล หมายถึง สีแดง

รู้จักนางสงกรานต์ทั้ง 7

นางสงกรานต์ของแต่ละวัน จะมี นาม อาหาร อาวุธ และสัตว์ที่เป็นพาหนะ ต่างๆ รวมถึงคำทำนายเกี่ยวกับ วันมหาสงกรานต์ วันเนา และวันเถลิงศก ดังต่อไปนี้

นางสงกรานต์ 2567

วันอาทิตย์ ชื่อ “ทุงษ” มีลักษณะ ทัดดอกทับทิม เครื่องประดับปัทมราค ภักษาหารผลมะเดื่อ อาวุธขวาจักร ซ้ายสังข์ พาหนะครุฑ

วันจันทร์ ชื่อ “โคราค” มีลักษณะ ทัดดอกปีบ เครื่องประดับมุกดา ภักษาหารน้ำมัน อาวุธขวาพระขรรค์ ซ้ายไม้เท้า พาหนะเสือ

วันอังคาร ชื่อ “รากษส” มีลักษณะ ทัดดอกบัวหลวง เครื่องประดับโมรา ภักษาหารโลหิต อาวุธขวา ตรีศูล ซ้ายธนู พาหนะสุกร

วันพุธ ชื่อ “มัณฑา” มีลักษณะ ทัดดอกจำปา เครื่องประดับไพฑูรย์ ภักษาหารนมเนย อาวุธขวาเข็ม ซ้ายไม้เท้า พาหนะลา

วันพฤหัสบดี ชื่อ “กิริณี” มีลักษณะ ทัดดอกมณฑา เครื่องประดับมรกต ภักษาหารถั่วงา อาวุธขวาขอ ซ้ายปืน พาหนะช้าง

วันศุกร์ ชื่อ “กิมิทา” มีลักษณะ ทัดดอกจงกลนี เครื่องประดับบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำว้า อาวุธขวาพระขรรค์ ซ้ายพิณ พาหนะกระบือ

วันเสาร์ ชื่อ “มโหทร” มีลักษณะ ทัดดอกสามหาว เครื่องประดับนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทราย อาวุธขวาจักร ซ้ายตรีศูล พาหนะนกยูง

ชื่อเรียก วันสงกรานต์ ของไทยในแต่ละภาค

สงกรานต์ภาคกลาง

13 เมษายน จะเรียกว่า “วันมหาสงกรานต์” และถือเป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติอีกด้วย
14 เมษายน จะเรียกว่า “วันเนา” และถือเป็นวันครอบครัว
15 เมษายน จะเรียกว่า “วันเถลิงศก” ถือว่าเป็นวันเริ่มจุลศักราชใหม่

สงกรานต์ภาคเหนือ

13 เมษายน จะเรียกว่า “วันสังขานต์ล่อง” ความหมายว่า อายุสิ้นปีหมดไปอีกปี
14 เมษายน จะเรียกว่า “วันเน่า” วันที่ห้ามพูดคำหยาบคาย
15 เมษายน จะเรียกว่า “วันพญาวัน” ถือว่าเป็นวันเริ่มจุลศักราชใหม่

สงกรานต์ภาคใต้

13 เมษายน จะเรียกว่า “เจ้าเมืองเก่า” เชื่อกันว่าวันที่เทวดารักษาบ้านเมืองจะกลับบนสวรรค์
14 เมษายน จะเรียกว่า “วันว่าง” วันที่ปราศจากเทวดารักษาเมือง
15 เมษายน จะเรียกว่า “วันรับเจ้าเมืองใหม่” วันรับเทวดาองค์ใหม่เพื่อดูแลบ้านเมืองแทนองค์เดิม

และนอกจากเทศกาลสงกรานต์จะเป็นประเพณีของไทยเราแล้ว ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา เมียนมา และสปป.ลาวเอง ก็ยังมีประเพณีสงกรานต์ อันเป็นเสน่ห์ทางวัฒนธรรมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเราอีกนั่นเองค่ะ

เนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
5 เรื่องเตือนใจให้ชัวร์ก่อนขับรับสงกรานต์ด้วยความปลอดภัยในทุกมิติ
บทสรงน้ำพระ วันสงกรานต์
คนรุ่นใหม่ควรรู้! มาเตรียมของไป รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ กันเถอะ