คาถาพระสุนทรีวาณี วัดสุทัศนเทพวราราม วัดสุทัศน์

คาถาพระสุนทรีวาณี บทสรรเสริญพระธรรม สวดแล้วจิตสงบ เกิดสมาธิ

คาถาพระสุนทรีวาณี นี้มีความพิเศษตรงที่เหล่าโบราณบัณฑิตสรรเสริญว่า หากบริกรรมคาถาสม่ำเสมอจะทำให้เกิดสมาธิ นำทางไปสู่ปัญญา ทำให้เข้าถึงแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาได้โดยง่าย

Home / พระคาถา / คาถาพระสุนทรีวาณี บทสรรเสริญพระธรรม สวดแล้วจิตสงบ เกิดสมาธิ

คาถาพระสุนทรีวาณี

เทพแห่งปัญญาบารมี สวดบูชา 3 จบ 7 จบ 9 จบ
ตั้งนะโม 3 จบ
มุนินทะ วะทะนัมพุชะ
คัพภะสัมภะวะ สุนทะรี
ปาณีนัง สะระณัง วาณี
มัยหัง ปิณะยะตัง มะนัง ฯ

คำแปล
พระวาณี (คือพระสัทธรรม) มีความงดงาม
เกิดแต่ห้องแห่งดอกบัวคือพระโอษฐ์ของพระจอมมุนี
เป็นที่พึ่งที่ระลึกของสัตว์ทั้งหลาย
ขอจงยังใจของข้าพเจ้าให้เอิบอาบ ฯ

คาถาพระสุนทรีวาณี นี้มีความพิเศษตรงที่เหล่าโบราณบัณฑิตสรรเสริญว่า หากบริกรรมคาถาสม่ำเสมอจะทำให้เกิดสมาธิ นำทางไปสู่ปัญญา ทำให้เข้าถึงแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาได้โดยง่าย เป็นหัวใจไปสู่ทางนิพพาน ซึ่งแม้แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เองก็ทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ค้นคว้าที่มาและปรัชญาอันลึกซึ้งของคติพระสุนทรีวาณีเพื่อให้เข้าถึงพระธรรมอย่างถ่องแท้ ควรค่าแก่การบริกรรม ยึดเหนี่ยวจิตใจ เพื่อให้จิตเกิดความสงบและสมาธิ อันเป็นวิถีนำไปสู่การเกิดปัญญาในการแก้ปัญหานั่นเอง เหมาะแก่การตั้งสมาธิในการเรียน การทำงาน และการใช้ชีวิตประจำวัน

พระสุนทรีวาณี

ประวัติพระสุนทรีวาณี

พระสุนทรีวาณี (ลอยองค์)
ประดิษฐานภายในพระวิหารหลวง วัดสุทัศนเทพวราราม เป็นปูชนียวัตถุรูปเปรียบพระธรรม โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ได้เสด็จเป็นประธานประกอบพิธีเททองและพุทธาภิเษก ณ มณฑลพิธี วัดสุทัศนเทพวราราม เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2564 ซึ่งพระสุนทรีวาณีองค์นี้ถูกสร้างเป็นรูปแบบพิเศษครั้งแรกในนามคณะสงฆ์วัดสุทัศนเทพวราราม และผู้ออกแบบคือ นายปัญญา วิจินธนสาร ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม)

พระสุนทรีวาณี

เดิมพระสุนทรีวาณีเป็นภาพเขียนโบราณที่เจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต (แดง สีลวฑฺฒโน ป.ธ. 8) อดีตเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม รูปที่ 3 ได้ดำริสร้างขึ้นด้วยการผูกลักษณาการจากคาถาที่ได้รับสืบทอดมาจากพระอุปัชฌาจารย์ และมอบหมายให้หมื่นสิริธัชสังกาศ (แดง) เขียนภาพขึ้นโดยมีลักษณะเทพธิดาทรงเครื่องอย่างบุรุษ แสดงนิสีทนาการบนดอกบัวสื่อถึงพระธรรม พระหัตถ์ขวาแสดงอาการกวักเรียก (เอหิปัสสิกวิธี) สื่อถึงเชิญชวนให้มาศึกษาปฏิบัติ พระหัตถ์ซ้ายมีแก้ววิเชียรวางประทับ สื่อถึงพระนิพพาน มีองค์ประกอบรายล้อมด้วยมนุษย์นั่งบนดอกบัวซ้ายขวา ด้านล่างมีนาค และสัตว์น้ำ ด้านบนมีรูปเทพยดา พรหม สื่อถึงสังสารวัฏฏ์

พุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยวสามารถแวะเข้าชมความงดงามและบริกรรมคาถาได้ที่ วิหารหลวง วัดสุทัศนเทพวราราม ย่านเสาชิงช้า ตรงข้ามศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ได้ทุกวัน เวลา 8.00 น. – 17.00 น.

Google Map : https://goo.gl/maps/dbXMzhiVKTqQptLT8

แหล่งที่มาข้อมูล
กรมประชาสัมพันธ์

เนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ณ หาดทรายรี ชุมพร

7 วัด ขอพรการเรียน สำหรับนักเรียนสายมูเตลู

วิธีการไหว้ บูชาเสด็จพ่อรัชกาลที่ 5 ขอพรการงาน การเงิน ปลดหนี้