วันพฤหัสบดีที่ 22 มิถุนายน 2566 เป็นวัน โหงวเว่ยโจ่ว ตามปฏิทินสากล เป็นเทศกาลวัน ไหว้บ๊ะจ่าง หรือ “เทศกาลตวนอู่เจี๋ย” 端午节 (duānwŭjié) เป็นประเพณีจีนโบราณที่สืบทอดต่อกันมา ตรงกับวันที่ 5 เดือน 5 ตามปฎิทินทางจันทรคติของทุกปี โดยในปี ค.ศ. 2009 เทศกาลไหว้บ๊ะจ่าง ได้ขึ้นทะเบียนเป็น มรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Cultural Heritage) ของ UNESCO
ที่มาเทศกาลวัน ไหว้บ๊ะจ่าง
ความเป็นมาของเทศกาลบ๊ะจ่าง เป็นที่มาจาก 2 ประเพณี คือ การบูชาเทพเจ้ามังกร และ ประเพณีแข่งเรือมังกร Dragon Boat Festival ของชาวไป่เยว่ 百越族 ที่อาศัยในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียงช่วงกลางลงไปถึงตอนใต้
เทศกาลไหว้บ๊ะจ่าง เป็นการระลึกถึง ท่านชูหยวน หรือ จูหยวน ซึ่งเป็นกวีผู้รักชาติคนสำคัญของจีน ผู้ที่ถูกฮ่องเต้เนรเทศออกจากเมืองเพราะหลงเชื่อคำพูดโกหกของพวกขุนนานกังฉิน อันเป็นสาเหตุทำให้รัฐฉู่ล่มสลาย ท่านชูหยวนผู้มีจิตใจที่รักชาติอย่างยิ่ง มิอาจทนรับความเสียใจครั้งนี้ได้จึงตัดสินใจกระโดดแม่น้ำเปาะล่อกัง ฆ่าตัวตายในวันขึ้น 5 ค่ำ เดือน 5 นั้นเอง
เมื่อชาวบ้านได้ทราบข่าวจึงได้ช่วยกันนำเรือออกค้นหาศพของท่านชูหยวนและในระหว่างที่ค้นหาพวกชาวบ้านต่างพากันโยนเศษอาหารลงไปในแม่น้ำเพื่อล่อให้สัตว์น้ำ ไปกินอาหารที่โยนลงไป จะได้ไม่ไปกินศพของท่านชูหยวนและหลังจากนั้นทุกปีพอถึงวันครบรอบวันตายก็จะมีคนการนำเอาอาหารต่าง ๆ ไปโปรยในแม่น้ำดังกล่าว
จนกระทั่งวันหนึ่งมีชาวบ้านผู้หนึ่งฝันเห็นท่านชูหยวน ได้มาบอกว่า “เศษอาหารที่โปรยไปนั้นเขาไม่ได้รับเลย เนื่องด้วยสัตว์น้ำในแม่น้ำมีจำนวนมาก จึงแนะนำให้นำเอาอาหารเหล่านั้น มาห่อด้วยใบไผ่หรือใบจากและให้ตกแต่งเรือเป็นรูปมังกรเพื่อให้สัตว์น้ำเกรงกลัวและไม่มาแย่งอาหารกิน” จึงก่อกำเนิดวันไหว้บ๊ะจ่าง และประเพณีแข่งเรือมังกรมาจนถึงทุกวันนี้ที่ขยายแผ่ไป
“บ๊ะจ่าง” จัดเป็นภูมิปัญญาอันชาญฉลาดของคนท้องถิ่นในการถนอมอาหารให้เก็บไว้กินได้นาน เพราะในประเทศจีน มีสภาพภูมิอากาศที่แตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น บางที่หนาวจัดบางที่แห้งแล้งเปรียบดังทะเลทราย จึงได้มีการ คิดค้นวิธีการเก็บถนอมอาหารเอาไว้ให้ได้นานที่สุดด้วยการนำข้าวเหนียวมาห่อใส่ใบไผ่ และนำไปต้ม ไส้ของบะจ่าง มีความแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ของประเทศจีน เช่น ทางเหนือ จะทำไส้ถั่วแดง, พุทราแดง ส่วนทางใต้ จะมีส่วนผสมมากมาย ทั้ง เนื้อ, ไข่แดง, เห็ด, แปะก๊วย แต่ลักษณะการห่อจะเหมือนกันคือ รูปทรงสามเหลี่ยม
วิธีการตั้งโต๊ะไหว้บ๊ะจ่าง
สำหรับผู้ไม่มีเวลาตั้งโต๊ะไหว้ด้วยภารกิจของการดำเนินชีวิต ต้องออกไปทำงานหรือไปเรียนหนังสือ ไม่สามารถที่จะตั้งโต๊ะไหว้ได้ ก็สามารถที่จะเอาบ๊ะจ่าง ใส่รวมไปกับของที่นำไปตักบาตรในตอนเช้าได้ด้วยเช่นกัน
แต่สำหรับผู้ที่มีเวลา สามารถที่จะตั้งโต๊ะนำบ๊ะจ่างไปไหว้บรรพบุรุษ ไหว้เจ้าที่ ( เตี่ยจู่เอี้ย ) หรือไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพในบ้านหรือตามศาลเจ้า โดยการไหว้บ๊ะจ่างจะจัดทำในช่วงเช้าเท่านั้น
ของไหว้ตั้งโต๊ะ
- บ๊ะจ่าง (แนะนำให้ไหว้บ๊ะจ่างเป็นเลขคู่ เช่น 2 ลูก, 4 ลูก, 6 ลูก หรือ 8 ลูก แต่ถ้าไหว้ขอพรเรื่องใหญ่ ๆ ควรไหว้ด้วย บ๊ะจ่าง 8 ลูก เพราะ คนจีนมีความเชื่อว่า เลข 8 คือความอุดมสมบูรณ์ ความสำเร็จ แกะบ๊ะจ่างออกให้เห็นเนื้อข้างในสัก 1 อัน)
- ผลไม้มงคล 5 อย่าง ได้แก่ ส้ม, แอปเปิ้ลแดง, สาลี่, แก้วมังกร และกล้วยหอม
- น้ำชา 5 ถ้วย
- เทียนแดง 1 คู่
- ธูปใหญ่ 3 ดอก หรือ 5 ดอก (ธูป 3 ดอก หมายถึง พระรัตนตรัย ส่วน 5 ดอก หมายถึง พระรัตนตรัยหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ บุพการี และครูบาอาจารย์ เข้าหลักชาติทั้ง 5 คือ ดิน น้ำ ทอง ไม้ ไฟ)
ความเป็นมงคลเทศกาลไหว้บ๊ะจ่าง
ถือเป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งของคนโบราณในการสอนให้ลูกหลานได้กราบไหว้บูชา ระลึกถึงคุณของบุพการีและบรรพบุรุษที่ได้ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งคุณธรรมข้อนี้ถูกยกย่องให้เป็นคุณธรรมอันดับหนึ่งและประเสริฐ และเป็นสิ่งที่คนจีนให้ความสำคัญและยกย่องกับคนที่มีความกตัญญูมาตั้งแต่โบร่ำโบราณแล้ว ดังเช่นที่ ขงจื่อเคยกล่าวไว้ว่า 孝,德之始也 แปลว่า “ความกตัญญู คือ จุดเกิดคุณธรรม”
และชาวจีนยังมีความเชื่อว่าเทศกาลการไหว้บ๊ะจ่าง ถือเป็นการบูชา “เทพเจ้ามังกร” ด้วยเช่นกัน ขนมบ๊ะจ่างจะนำพาความโชคดีและสิริมงคลมาให้ตัวท่านกับครอบครัว
อานิสงส์อีกข้อหนึ่งคือถ้าหากเราระลึกถึงบุพการีและบรรพบุรุษ มีความกตัญญู ไม่ทอดทิ้งท่านทั้งในยามที่ยังมีชีวิตอยู่และล่วงลับไปแล้ว การบูชาจะนำพาให้ชีวิตมีความเจริญรุ่งเรือง มีความก้าวหน้าในหน้าที่และการงาน จะทำธุรกิจหรือกิจการงานใดก็ตาม ก็จะมีความเจริญ ดั่งเหมือนมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คอยช่วยโอบอุ้ม เกื้อกูลเอาไว้ ทำให้รุ่งเรืองยิ่งๆ ขึ้นไป
เนื้อหาบทความโดย อ.บุญลาด
เนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ทิ้งกระจาด ประเพณีจีนอุทิศส่วนบุญให้ญาติผู้ล่วงลับ