ประเพณี ทิ้งกระจาด ประเพณีที่หลายคนคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี แต่รู้หรือไม่ว่าแท้จริงแล้วประเพณีทิ้งกระจาด มีขึ้นเพื่ออุทิศส่วนบุญให้ญาติผู้ล่วงลับตามธรรมเนียมของพุทธมหายาน ซึ่งในปัจจุบันก็เป็นอีกหนึ่งประเพณีแพร่หลายในประเทศไทย
ประเพณีทิ้งกระจาด
ประเพณีทิ้งกระจาด เดิมทีเป็นประเพณีของชาวจีน เมื่อชาวจีนอพยพย้ายถิ่นออกจากผืนแผ่นดินเกิด ก็ได้นำจารีตประเพณีและวัฒนธรรมของตนมายึดถือปฏิบัติด้วย โดยประเพณีนี้ถือเป็นการให้ทานอันเป็นหนึ่งในหลักธรรมและวิถีปฏิบัติที่สำคัญของชาวพุทธ ไม่ว่าจะนิกายเถรวาทหรือมหายาน จึงทำให้ประเพณีทิ้งกระจาดของชาวจีน เข้ากันได้ดีกับวัฒนธรรมในประเทศไทย ที่เป็นส่วนผสมระหว่างศาสนาพุทธ ศาสนาพราหมณ์ฮินดู การนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ และความเชื่อเรื่องผีวิญญาณ
งานประเพณีทิ้งกระจาดนี้จะเริ่มหลังวันสารทจีน 3 วัน วันเพ็ญเดือน 7 ตามปฏิทินจีน ประมาณปลายเดือนสิงหาคม หรือต้นเดือนกันยายนตามปฏิทินไทย ตามความเชื่อของชาวจีนยังมีรูปพญายมที่ชาวจีนเรียกว่า ไต้ซือ ทำด้วยกระดาษ โครงร่างสานด้วยไม้ไผ่ เขียนด้วยสีน้ำเงิน ขาว และแดง สูงในราว 4 – 5 เมตร ยืนชี้นิ้วหน้าตาถมึงทึงน่ากลัวมาก บนศีรษะไต้ซือมีรูปพระโพธิสัตว์กวนอิมอยู่องค์หนึ่ง คอยดูแลพวกภูติผีปีศาจแย่งชิงสิ่งของกัน
ซึ่งในปัจจุบันพิธีทิ้งกระจาดในไทยจะเป็นการจัดหาสิ่งของต่างๆ มาให้ทานแก่ผู้ยากไร้ ส่วนใหญ่จะเป็นของที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น เสื้อผ้า อาหารแห้ง เครื่องใช้ต่างๆ ผู้ที่บริจาคสิ่งของเหล่านี้จะถือว่าเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วเช่นกัน
ประเพณีทิ้งกระจาดจัดที่ไหนบ้าง
ลูกหลานชาวจีนเข้ามาตั้งรกรากในประเทศไทยอยู่เป็นจำนวนมาก จึงทำให้มีการจัดประเพณีทิ้งกระจาดอย่างยิ่งใหญ่ มีชื่อเสียงโด่งดังมีอยู่หลายที่ ไม่ว่าจะเป็น
- วัดพนัญเชิง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
- วัดโสธรวราราม จังหวัดฉะเชิงเทรา
- มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง กรุงเทพฯ
- สมาคมตงฮั้วฮ่วยก้วง จังหวัดสุพรรณบุรี
สำหรับใครที่อยากลองไปเที่ยวดูชมงาน และประเพณีทิ้งกระจาดของชาวจีน ที่ปรับเข้ากับวัฒนธรรมไทยอย่างลงตัว ลองเข้าไปเช็กปฏิทินกันให้ชัวร์แล้วล็อกวันเตรียมไปกับแก๊งเพื่อนได้เลย
เนื้อหาอื่นๆ เพิ่มเติม
วันตรุษจีน ปีใหม่ของชาวจีน สำคัญอย่างไร
ฮวงจุ้ยตำแหน่งเตาไฟ-ห้องครัว ตัวแทนความร่ำรวย ความอุดมสมบูรณ์