เทรนด์ กางเกงลายช้าง อันเป็นที่นิยมในกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มาเยือนประเทศไทย กำลังเป็นแฟชั่นที่อยู่ในกระแสอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อเริ่มเป็นไอเท็มยอดนิยมไปทั่ว หรือแม้แต่ในกลุ่มเด็กวัยรุ่นที่ก็นิยมใส่กันเป็นแก๊งอย่างแพร่หลาย ยอดขายพุ่งกระฉูดมากยิ่งขึ้น จากเดิมที่มักจะพบเห็นอยู่ตามบริเวณรอบๆ วัดพระแก้ว เนื่องจากนักท่องเที่ยวสามารถซื้อหา กางเกงลายช้าง เพื่อสวมใส่ในการเข้าชมพระราชวังตามกฎระเบียบของวัดพระแก้วและพระบรมมหาราชวัง กลับเป็นแฟชั่นที่พบได้ทั่วไป ทั้งในกรุงเทพและจุดท่องเที่ยวต่างๆ ทั่วประเทศ ด้วยเนื้อผ้าที่โปร่ง เบาสบาย สวมใส่ง่าย เหมาะกับอากาศหน้าร้อนเช่นนี้ แล้วทำไมต้องเป็นลายช้าง …?
ช้าง สัตว์มงคล คู่บ้านคู่เมืองมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล
ในสมัยอยุธยา นอกจากเราจะใช้แรงงานช้างในการขนย้าย ใช้ในการศึกสงครามแล้ว ช้างยังเป็นสัตว์สำคัญเคียงคู่พระมหากษัตริย์ในแง่สัตว์คู่พระบารมีอีกด้วย จำนวนช้างเผือกหรือช้างลักษณะงามในครอบครองของพระมหากษัตริย์ในสมัยก่อนเป็นการบ่งบอกถึงพระบารมีอันน่าเกรงขาม เป็นที่เกรงกลัวแก่ข้าศึก และเป็นหน้าเป็นตาต่อประเทศชาติและพระมหากษัตริย์เป็นอย่างมาก การคล้องช้างแต่ละครั้งนอกจากต้องดูลักษณะของช้างแล้ว ก็ต้องทำพิธี ดูฤกษ์ดูยาม ต้องใช้คาถาอาคม และการถือศีล เพราะเชื่อว่าเป็นสัตว์ใหญ่ที่มีจิตวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์ ไม่ได้จะยอมให้คล้องหรือบังคับใช้งานได้โดยง่าย
โดยเฉพาะช้างเผือกที่ได้รับเลือกให้เป็นช้างในพระราชพิธีต่าง ๆ เนื่องจากเป็นช้างที่หายากและมีสถานภาพที่ศักดิ์สิทธิ์ ช้างเผือกจึงกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งพระราชอำนาจของกษัตริย์ โดยขอบเขตอำนาจของพระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์ขึ้นอยู่กับจำนวนช้างเผือกที่ทรงครอบครอง ช้างเผือกที่ได้รับเลือกให้เป็นช้างคู่พระบารมีจะถูกคัดเลือกจากสายพันธุ์ที่ดีที่สุดและต้องมีคุณสมบัติครบถ้วน ได้แก่ ตาขาว เพดานขาว เล็บขาว ขนขาว พื้นหนังขาว ขนหางขาว และอัณฑโกสขาว ซึ่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี พบช้างเผือกมากที่สุดนับตั้งแต่เคยมีมาโดยพบมากถึง 21 ช้างเลยทีเดียว
การทำยุทธหัตถีหรือการสู้รบด้วยอาวุธบนหลังช้างระหว่างพระมหากษัตริย์ถือเป็นเอกลักษณ์ที่หายากแต่มีความสำคัญและเป็นเกียรติภูมิในสนามรบ โดยยุทธหัตถีเป็นประเพณีที่คล้ายกับการดวลบนหลังม้าระหว่างอัศวินของชาวตะวันตก โดยการดวลมักจะถึงแก่ชีวิต ช้างที่ได้รับเลือกให้พระมหากษัตริย์ทำยุทธหัตถีมักเป็นช้างพลายที่มีขนาดใหญ่และมีกะโหลกกว้าง มีงายาวและแหลมคมที่สามารถใช้โจมตีศัตรูได้ ช้างศึกคู่พระบารมีพระมหากษัตริย์มักถูกประดับประดาอย่างโอ่อ่าและสวมเกราะแน่นหนาในการออกศึก
ช้างยังมีบทบาทสำคัญในศาสนาของประเทศไทยซึ่งมีศาสนาพุทธนิกายเถรวาทเป็นศาสนาหลักประจำชาติ นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวของช้างในพุทธประวัติและพุทธชาดกซึ่งถือช้างเป็นสัญลักษณ์แห่งความโชคดี ตำนานพุทธประวัติได้กล่าวไว้ว่า พระนางสิริมหามายาซึ่งเป็นพระมารดาของพระพุทธเจ้าทรงพระสุบินว่า เห็นช้างเผือกมาถวายดอกบัวก่อนประสูติเจ้าชายสิทธัตถะ ตำนานดังกล่าวทำให้ช้างได้กลายเป็นสัตว์ที่มีสถานะศักดิ์สิทธิ์
นอกจากนี้ ช้างยังมีความเกี่ยวข้องกับศาสนาฮินดูโดยมีเทพที่หลายคนยกย่องบูชา เช่น พระพิฆเนศ ซึ่งเป็นเทพผู้มีเศียรเป็นช้างที่ให้โชคลาภและความสำเร็จ และช้างเอราวัณหรือไอราวตา ซึ่งเป็นช้างเผือกที่มีสามเศียรเป็นพาหนะของพระอินทร์ โดยเชื่อว่าจะนำพรมาให้
งาช้าง วัตถุมงคลแสดงอำนาจ บารมี
ส่วนงาช้างนั้นถือเป็นวัตถุมงคล เชื่อกันว่าจะนำโชคลาภ ยศฐาบรรดาศักดิ์มาให้ โดยปกติแล้วคนที่มีอำนาจมีวาสนาเท่านั้นที่จะได้ครอบครอง จึงมักพบตกแต่งในบ้านผู้มียศฐาบรรดาศักดิ์ทั้งในไทยเราเองและทั่วโลก นับได้ว่าเป็นความเชื่อสากลที่คิดเห็นตรงกัน
นอกจากนั้นยังด้วยมุมมองว่า ช้างเป็นสัญลักษณ์แห่งพลัง ความเฉลียวฉลาด และสัญลักษณ์ของอำนาจ ตั้งแต่อดีตจึงมักถูกถ่ายทอดลงงานศิลปกรรมในหลายแขนงๆ ทั้งภาพเขียน ปูนปั้น จิตรกรรม ตามฝาผนังในพระอุโบสถ และพระวิหารในวัดโบราณหลายแห่ง จนถึงการนำเอาช้างมาเป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัด อย่างเช่น จังหวัดเชียงใหม่ ตราประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นรูปช้างในท้องน้ำ หรือตราประจำจังหวัดสุพรรณบุรีเป็นภาพยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราช
หรือแม้กระทั่ง ธงแรกของไทยเราก็เป็น ‘ธงช้าง’ ลักษณะเป็นรูปช้างเผือก ยืนหันหน้าให้เสาธง บนพื้นธงสีแดงเกลี้ยง ถูกใช้เป็นธงชาติสยาม ในปีพ.ศ.2398-2459 ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้ธงไตรรงค์ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และพระราชลัญจกรไตรสารเศวต อีกทั้งยังถือเอา ‘ช้างเผือก’ เป็นสัตว์ประจำชาติไทยด้วย
สัตว์ใหญ่เช่นช้างที่อยู่กับคนไทยมาอย่างยาวนานได้รับการยกย่องจนถึงกระทั่งเป็นสัญลักษณ์ของชาติ ดังนั้นแล้วช้างจึงถือเป็นมรดกของชาติ และเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชาติไทยอย่างแท้จริง
ภาพประกอบ วิชาญโพธิ
แหล่งอ้างอิง
สุทธิลักษณ์ อำพันวงศ์,ช้างในศิลปวัฒนธรรมและคติชีวิตไทย,ชุดความรู้ไทย ลำดับที่ 2011,องค์การค้าคุรุสภา,2535
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน, ความสำคัญของช้างในประเทศไทย, 3 กุมภาพันธ์ 2566
เนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ฤกษ์ออกรถ ปี 2566 ชอบก็จัด ประหยัดทำไม
น้ำปานะคืออะไร ถวายน้ำปานะเมื่อไหร่ อานิสงส์และ คำกล่าวถวายน้ำปานะ
ตำนานรักมั่นคงแห่ง พระศิวะและพระแม่อุมาเทวี รักแท้องค์เทพใครว่าง่าย!