ศาลตายาย หรือ ศาลเจ้าที่ เปรียบเสมือนบ้านของดวงวิญญาณที่เคยอยู่ในสถานที่นั้นๆ มาก่อน เช่น วิญญาณเจ้าของที่ดินที่ได้ล่วงลับไปแล้ว และเพื่อนำมาซึ่งความอุ่นใจ สบายใจของเจ้าของบ้านและสมาชิกภายในบ้าน ตามความเชื่อของไทย จึงตั้งศาลตายายขึ้นเพื่อเป็นการเคารพเจ้าของสถานที่เดิม ให้ท่านได้ช่วยปกป้อง คุ้มครอง ช่วยปกปักรักษาสมาชิกภายในบ้านให้อยู่เย็นเป็นสุข อยู่รอดปลอดภัย ซึ่งจะแตกต่างจากศาลพระภูมิ เพราะศาลพระภูมิคือ ศาลสำหรับเทพ เทพารักษ์ แต่ศาลตายาย คือ ดวงวิญญาณผู้ที่เคยเป็นเจ้าของที่ดินเดิม ทำให้การตั้งศาลตายาย จะต้องลดระดับลงให้ต่ำกว่า ศาลพระภูมิ และจุดแตกต่างอีกอย่างก็คือ ศาลตายายจะเป็น ศาล 4 เสาหรือ 6 เสา โดยมากมักนิยมเลือกเป็นแบบบ้านไม้เรือนไทย ส่วนศาลพระภูมิจะมีเพียงเสาเดียวซึ่งมักจะหล่อปูน ซึ่งเป็นจุดสังเกตที่ทำให้เรารู้ได้ไม่ยากค่ะ ว่าศาลไหนคือศาลพระภูมิ และศาลไหนคือศาลตายาย
ตำแหน่งการตั้งศาลตายาย
สำหรับเจ้าของบ้านที่ต้องการตั้งศาลตายายหรือศาลเจ้าที่ภายในบ้าน สามารถเลือกที่ตั้งได้จากเกณฑ์ต่อไปนี้
- ศาลจะต้องตั้งอยู่บริเวณพื้นที่กว้าง สะอาดตา ไม่มีกลิ่นเหม็น เพื่อรับเอาสิ่งดีๆ เข้าสู่ตัวบ้าน
- ตั้งศาลออกมาให้ไกลจากตัวบ้าน ไม่กีดขวางประตูอาคารและประตูรั้ว
- ห้ามตั้งศาลตายายไปทางทิศตะวันตกโดยตรง
- ให้ตั้งศาลไว้บนพื้นธรรมดา แต่ถ้าต้องการเสริมโชคลาภ สามารถวางแผ่นเงินหรือแผ่นทองไว้ใต้ศาลตายายได้
- ห้ามตั้งศาลตายายตรงกับประตูทางเข้าบ้าน ห้องน้ำ หรือใต้บันได เพราะอาจเกิดผลไม่ดีตามมาได้
- เลือกพื้นที่ให้ถูกทิศทาง โดยสามารถจ้างซินแสหรือหมอดูมาเพื่อดูฮวงจุ้ยและกำหนดสถานที่ หรือเจ้าบ้านสามารถกำหนดสถานที่ได้เอง โดยปรึกษาพราหมณ์เพื่อให้ท่านชี้จุดตำแหน่งที่ตั้ง
ของไหว้ศาลตายาย
1.ดอกไม้ พวงมาลัย และ ธูปเทียน
2.หมาก พลู บุหรี่ หรือยาเส้น
3.น้ำเปล่า น้ำชา หรือน้ำแดง (สื่อถึงความแข็งแกร่งและพลังอำนาจ)
4.อาหารคาวต่าง ๆ เช่น ข้าวปากหม้อ (ข้าวที่เพิ่งหุงเสร็จใหม่ๆ ยังไม่มีใครเปิดตักก่อน) แกงต่างๆ หรือในวันสำคัญอย่างวันเกิด วันทำบุญขึ้นบ้านใหม่ วันได้รับโชคลาภจะตั้งไหว้ หัวหมู เป็ด ไก่ กุ้ง ปู ปลา (ซึ่งต้องถวายทั้งตัว มีหัว มีหางให้ครบ ห้ามขาดด้วนเด็ดขาด) ก็ทำได้เช่นกันค่ะ
5.ผลไม้ นิยมตั้งไหว้ด้วยผลไม้มงคล โดยมากมักจะเป็น ส้ม หรือ กล้วย ห้ามใช้ส้มโอ หรือ ผลไม้ชื่อไม่เป็นมงคลตั้งไหว้เด็ดขาด
6.ขนมมงคล อย่าง ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง เม็ดขนุน ขนมปุยฝ้าย ขนมถ้วยฟู เป็นต้น
7.เครื่องหอม ของหอม อย่าง น้ำอบ เป็นต้น
ให้จุดธูป 5 ดอก จากนั้นตั้ง นะโม 3 จบ แล้วกล่าวตามนี้
ตา–ยาย ยัสมิง ทิสาภาเค สันติ ตายายเทวา มหิทธิกา เตปิตุมเห อนุรักขันตุ อาโรคเยนะ สุเขนะจะ (3 จบ)
สิโรเม ขอเดชะ ตายายเทวา เจ้าของที่ ขอให้ช่วยดูแลคุ้มครองรักษาบ้านเรือน (…สถานที่ของเราที่ตั้งศาล…) และข้าพเจ้าผู้อยู่อาศัยในสถานที่นี้ (…กล่าวคำอธิษฐานว่าอยากขอเรื่องอะไร…) โสตถิ ชัยยะ ภะวันตุ เม
หลังจากที่ได้ตั้งของไหว้ตายาย เจ้าที่เจ้าทาง หรือบรรพบุรุษ เสร็จสิ้นแล้ว ก็สามารถลาเจ้าที่ได้เมื่อธูปที่จุดไว้นั้นใกล้จะหมดดอก หรือรอสักประมาณ 30 นาทีก็ให้เริ่มต้นลาของไหว้ได้เช่นกัน โดย ตั้งนะโม 3 จบแล้วกล่าวว่า
“เสสังมังคลัง ยาจามิ” แปลว่า “ลูกขอส่วนที่เหลืออันเป็นมงคล เพื่อยังประโยชน์ เพื่อความสุขความเจริญ แก่ลูกด้วยเจ้าพระคุณ…”
เพียงเท่านี้ก็สามารถนำของไหว้ที่สภาพดี ไม่บูดและเน่าเสีย นำมารับประทานเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ผู้ไหว้ได้แล้วค่ะ
สำหรับท่านที่ไม่มีศาลเจ้าที่ แต่ต้องการไหว้เพื่อให้เกิดความสบายใจก็สามารถได้ด้วยการนำโต๊ะมาตั้งไว้หน้าบ้าน โดยให้หันหน้าเข้าหาบ้าน หรือวางไว้กลางบ้านก็ได้เช่นเดียวกัน จากนั้นให้นำกระถางธูปพร้อมของไหว้เจ้าที่มาวางไว้ เพื่อสักการะกราบไหว้ให้ท่านดูแลรักษาพื้นที่แห่งนี้ กล่าวคำไหว้และปฏิบัติตามขั้นตอนข้างต้น เป็นอันเสร็จพิธี
การตั้งศาลตายายขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเจ้าของบ้านว่าจะตั้งศาลหรือไม่ หากตั้งแล้วต้องหมั่นดูแล ปัดกวาด ทำความสะอาด อย่าให้รกร้าง มีขยะเน่าเหม็น คอยถวายของไหว้ ให้สะอาด สด ใหม่อยู่เสมอ มิเช่นนั้นจะกลายเป็นฮวงจุ้ยไม่ดีต่อผู้อยู่อาศัยภายในตัวบ้านค่ะ
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
9 ผลไม้มงคล สำหรับไหว้ขอพรในงานพิธีต่างๆ
วิธีเลือกศาลพระภูมิ ให้เหมาะกับเจ้าของบ้าน รู้งี้ก็ไม่ยากแล้ว
เที่ยว ประตูมหาสมุทร ชมบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ตำนานบ้านบ่อคา
5 เทคนิค จัดตู้เสื้อผ้า เรียกทรัพย์ ดึงดูดโชคลาภ เพิ่มพลังแห่งความสุข