งานแต่งงานคงเป็นความฝันสำหรับหญิงสาวหลายท่าน โดยเฉพาะงาน สมรสพระราชทาน ที่ถือเป็นมงคลอย่างยิ่งสำหรับคู่บ่าวสาวและวงศ์ตระกูล หากสาวๆ ท่านไหนกำลังอยากเก็บความรู้เรื่องนี้ งั้นลองมาเช็กกันดูซิ ว่าใครมีสิทธิ์ขอรับ สมรสพระราชทาน กันบ้าง
ผู้ที่มีสิทธิ์ขอ สมรสพระราชทาน
- พระราชทานให้แก่ผู้ที่รู้จักและคุ้นเคย
- ทรงรู้จักบิดาหรือมารดาของผู้ขอ
- สำหรับตำรวจ ทหาร หรือพลเรือน โดยผู้บังคับบัญชาขอให้ หากไม่เข้าหลักเกณฑ์ข้อ (1) หรือ (2)
- ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเป็นกรณีพิเศษ โดยผู้ขอต้องทำหนังสือต่อสำนักราชเลขาธิการ พร้อมแนบวัน/เดือน/ปีเกิดของคู่สมรสและสถานที่ติดต่อ
ขั้นตอนการยื่นคำร้องขอสมรสพระราชทาน
การยื่นขอสมรสพระราชทานนั้น ต้องเขียนคำร้องผ่านแบบฟอร์มคำร้องได้ที่กองราชเลขานุการในพระองค์ ของแต่ละพระองค์ที่คู่บ่าวสาวประสงค์จะได้รับพระราชทาน โดยรายละเอียดหลักๆ ในแบบฟอร์มจะเป็นประวัติของบ่าวสาว เป็นใคร ทำอะไร บิดา-มารดาเป็นใคร เพื่อพิจารณาสิทธิ์ในการขอ โดยการขอพระราชทานให้ทรงประกอบพิธีสมรส หรือเรียกกันว่า “การขอพระราชทานน้ำสังข์” มี 2 แบบด้วยกัน คือ
1. แบบเป็นทางการ
2. แบบส่วนพระองค์ หรือเรียกอีกอย่างว่า “น้ำสังข์ข้างที่”
การซ้อมเตรียมความพร้อมก่อนเข้ารับสมรสพระราชทาน
หลังจากยื่นหนังสือขอสมรสพระราชทานไปแล้ว ระยะเวลาการพิจารณาจะอยู่ที่ประมาณ 1 เดือน เมื่อกองงานฯ แจ้งกำหนดวันเข้ารับมาแล้ว คู่บ่าวสาวก็ต้องทำการแจ้งรายละเอียดผู้ติดตามของทั้ง 2 ฝ่าย ฝ่ายละ 4 คน ดังนี้
- บิดา-มารดาของคู่บ่าวสาว (พ่อแม่ฝ่ายชาย 2 + พ่อแม่ฝ่ายหญิง 2)
- พยาน (พยานฝั่งชาย 2 + พยานฝั่งหญิง 2)
- เจ้าบ่าว และ เจ้าสาว
โดยระหว่างรอวันที่จะเข้ารับสมรสพระราชทานนั้น จำเป็นต้องซ้อมกฎการเข้าเฝ้าให้ถูกต้อง ครบถ้วนตามระเบียบการโดยเคร่งครัด และจะแบ่งออกเป็น 2 รอบดังนี้
1. รอบซ้อมย่อย
2. รอบซ้อมใหญ่
ส่วนวันกำหนดการซ้อมนั้นจะเป็นทางกองงานฯ ระบุมาให้ประมาณ 1 อาทิตย์ก่อนวันจริง ซึ่งในระหว่างการซ้อมนั้นจะมีเจ้าหน้าที่ มาคอยดูแลช่วยเหลือในขั้นตอนต่างๆ ให้อยู่ในระเบียบเรียบร้อย
สิ่งที่ต้องเตรียมเพื่อใช้ในพิธีสมรสพระราชทาน
- ดอกไม้
- ธูป
- เทียน
- และมีพานรองจำนวน 1 พาน
หากกังวลว่าสิ่งของที่เตรียมจะเหมาะสมหรือไม่ สามารถแจ้งความจำนงกับเจ้าหน้าที่ให้จัดเตรียมให้ได้ จากนั้นชำระเงินไว้ สำหรับการถ่ายภาพที่ระลึกนั้น สามารถติดต่อทางสำนักพระราชวังล่วงหน้า ซึ่งทางพระราชวังจะก็จะมีช่างภาพเตรียมไว้ให้ ไม่อนุญาตนำอุปกรณ์ที่สามารถบันทึกภาพได้ทุกชนิดเข้าไปโดยเด็ดขาด ซึ่งถ้าหากคู่บ่าวสาวต้องการจดทะเบียนสมรสในวันจริง ให้เตรียมเอกสารที่ต้องใช้ในการจดทะเบียนสมรสไปให้ครบ ไม่ว่าจะเป็น ทะเบียนบ้าน บัตรประชาชนทำสำเนา พร้อมค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสมรส
การแต่งกายเพื่อเข้ารับสมรสพระราชทาน
ผู้ชาย
– ข้าราชการพลเรือน – แต่งกายชุดปกติขาว
– ข้าราชการทหารหรือตำรวจ – แต่งกายชุดเครื่องแบบปกติขาว (นำกระบี่, ถุงมือและสามชายหรือสายคาดกระบี่ไปด้วย)
– พลเรือนทั่วไป – ชุดเครื่องแบบปกติขาวขอเฝ้าฯ (ราชปะแตนขาวติดเครื่องหมายขอเฝ้าฯ)
ผู้หญิง
– ชุดไทยบรมพิมาน (ไม่กำหนดสีและชนิดของผ้า ไม่ผ่าหลังหรือหน้า มีความเหมาะสมเมื่อต้องหมอบกราบ)
– รองเท้าหุ้มส้นเท่านั้น ห้ามสายคาดหรือรัดข้อเท้า
– เครื่องประดับน้อยชิ้นพอประมาณ (ไม่ควรสวมใส่แบบระย้าเพราะต้องหมอบกราบ)
หมายเหตุ 1 : สำหรับผู้ติดตามที่เข้ามาเป็นพยานก็ใช้หลักเกณฑ์ในการแต่งกายคล้าย ในส่วนของผู้หญิงให้ใช้ชุดไทยจิตรลดา หรือชุดไทยบรมพิมานและสามารถสีชุดได้ตามความเหมาะสม
หมายเหตุ 2 : ในวันเข้ารับสมรสพระราชทาน จำเป็นต้องเดินทางไปก่อนฤกษ์ประมาณ 3 ชั่วโมง เพื่อเตรียมความพร้อมแก่ทุกฝ่าย
หลังจากเข้ารับสมรสพระราชทานแล้ว คู่บ่าวสาวสามารถจัดงานเลี้ยงกันได้ตามปกติ แต่ควรใช้คำว่างานเลี้ยงฉลองสมรสพระราชทานต่อท้ายเข้าไปด้วยนั่นเอง
รูปภาพจาก Instagram: palmvarinya, mickbaromvudh, margie_rasri,sara_legge
เนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
เคล็ดลับ วิธีจัดพานขันหมาก ถูกต้องตามประเพณี