กุศลมูล กุศลมูล 3 คำสอนพระพุทธศาสนา

คำสอนพระพุทธศาสนา กุศลมูล 3 คืออะไรมีอะไรบ้าง

รากเหง้าของกุศล ในที่นี้จำแนกเป็น ๓ คือ อโลภะ : ความไม่อยากได้ อโทสะ : ความไม่คิดประทุษร้าย อโมหะ : ความไม่หลง

Home / ธรรมะ / คำสอนพระพุทธศาสนา กุศลมูล 3 คืออะไรมีอะไรบ้าง

กุศลมูล 3 คืออะไรมีอะไรบ้าง

กุศลมูล แปลว่า รากเหง้าแห่งกุศล คำว่า กุศล หมายถึง ความดี ซึ่งเป็นข้าศึกต่อความชั่วทุกชนิด ฉะนั้น สิ่งที่เป็นรากเหง้าของกุศลจึงต้องเป็นฝักฝ่ายของวิชชา คือ ความรู้ จึงสามารถกำจัดความชั่วหรืออกุศล ซึ่งเป็นฝ่ายของอวิชชา

กุศลมูล 3 คืออะไรมีอะไรบ้าง

รากเหง้าของกุศล ในที่นี้จำแนกเป็น ๓ คือ

  • อโลภะ : ความไม่อยากได้
  • อโทสะ : ความไม่คิดประทุษร้าย
  • อโมหะ : ความไม่หลง

อโลภะ : ความไม่อยากได้

ในที่นี้มิได้หมายความว่า ไม่ให้อยากอะไรเสียเลย เพียงแต่ไม่ให้อยากด้วยอำนาจของกิเลสตัณหา ซึ่งเป็นความอยากเกินพอดี แต่ให้ปรารถนาสิ่งต่างๆ ได้ตามกำลังของสติปัญญาและทำสิ่งต่างๆ ได้ตามอำนาจของสติปัญญา ความปรารถนามากในทางกุศลไม่จัดว่าเป็นโลภะ ตรงกันข้ามจากความปรารถนาในทางวัตถุ ซึ่งมักจะตกเป็นฝ่ายโลภะอยู่ตามปรกติ

อโทสะ : ความไม่คิดประทุษร้าย

หมายถึง ความไม่โกรธ ไม่ขัดใจ ไม่คิดประทุษร้ายทั้งในบุคคล สัตว์ สิ่งของ หรือแม้ที่สุดแต่ขัดใจตัวเอง

อโมหะ : ความไม่หลง

หมายถึง ความรอบรู้ เฉลียวฉลาดในสิ่งที่ควรรู้ เพื่อให้เข้าใจในเรื่องนี้ดี มีทางที่จะสังเกตลักษณะของกิเลสเหล่านี้ โดยกว้างๆ คือ

ความโลภ มีลักษณะ อยากได้ อยากเข้าหา อยากทะนุถนอมเอาไว้
โทสะ มีลักษณะตรงกันข้ามคือ ไม่อยากได้ ไม่อยากเข้าหา หรือ อยากทำลายเสีย
ส่วนความหลงนั้นเป็นเรื่องของความไม่รู้และไม่แน่ใจว่าจะรับดี หรือ ปฏิเสธดี
จึงได้แต่วนเวียนอยู่รอบๆ สิ่งนั้นด้วยความสงสัย

ส่วนความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลงนั้น ไม่มีลักษณะดังกล่าวเลย คือ ไม่เข้าหา ไม่ผลักออก และไม่วนเวียนอยู่รอบสิ่งเหล่านั้นโดยท่าเดียว แต่มีความรู้ ความเข้าใจถูกต้องว่าควรปฏิบัติในสิ่งเหล่านั้นอย่างไร แล้วก็ปฏิบัติไปตามสมควรแก่กรณี

เพราะความไม่โลภก็ดี ไม่ประทุษร้ายก็ดี ไม่หลงก็ดี มีมูลมาจากสิ่งเดียวกัน คือ วิชชา ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น ถ้าสร้างวิชชาขึ้นมาได้ก็เป็นอันว่ามีความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง โดยสมบูรณ์

แต่ในระยะที่ยังสร้างวิชชาขึ้นมาไม่ได้โดยสมบูรณ์ ก็มีระเบียบวิธีประพฤติปฏิบัติเพื่อต่อต้าน หรือ ประทังการลุกลามของกิเลสเหล่านี้ไว้พลางก่อน คือ

สอนให้มีการบริจาค เพื่อประทังความโลภ
สอนให้เจริญเมตตา เพื่อประทังความโกรธ
และสอนให้พอกพูนสติสัมปชัญญะ เพื่อประทังความหลง

โดยเฉพาะและตลอดเวลาเหล่านั้น ก็บำเพ็ญในทางปัญญาหรือวิชชาอยู่เป็นประจำ จนกว่าจะสมบูรณ์เมื่อไร เมื่อนั้นปัญหาอันเกี่ยวกับ โลภะ โทสะ โมหะก็หมดไป

การที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า อโลภะ อโทสะ อโมหะ เป็นกุศลมูลนั้น ก็หมายถึงเมื่อบุคคลมีความรู้สึกอย่างนี้แล้ว ย่อมทำชั่วไม่ได้ ย่อมทำแต่ในทางดี ซึ่งก็ได้แก่การบริจาค มีเมตตากรุณา และทำอะไรๆ ไม่ผิดพลาดอย่างเดียวกันอีกนั่นเอง และเราเรียกสิ่งพึงปรารถนาเหล่านี้ว่าเป็นตัวกุศล

ที่มา : ศึกษาธรรมะอย่างถูกวิธี , ท่านพุทธทาสภิกขุ บรรยายในพรรษา ปีพุทธศักราช ๒๕๐๐ ณ สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี

เนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

มรรค 8 ในหลักอริยสัจ 4 คืออะไร
โลกุตตรธรรม 9 คือ อะไร โลกุตตระหมายถึงอะไร
ศีลจุ่ม พิธีล้างบาปก้าวแรกแห่งการก้าวเข้าสู่คริสตชน

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เพื่อการนำเสนอเนื้อหาที่ดี รวมถึงการจัดการข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อให้คุณได้รับประสบการณ์ที่ดีบนบริการของเว็บไซต์เรา หากคุณใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไปโดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆนั้น แสดงว่าคุณยอมรับนโยบายคุกกี้และนโยบายส่วนบุคคลของเรา