คำสอนพระพุทธศาสนา โลกุตตรธรรม โลกุตตรธรรม 9 โลกุตตระ

โลกุตตรธรรม 9 คือ อะไร โลกุตตระหมายถึงอะไร

คำว่า " โลกุตตระ " แปลว่า ยิ่งกว่าโลก หรือ เหนือโลก "โลกุตตรธรรม" จึงแปลว่า สิ่งซึ่งยิ่งไปกว่าโลก หรือ วิสัยโลก ใช้เป็นชื่อของการปฏิบัติและผลของการปฏิบัติในชั้นที่มีจิตใจสูงเกินกว่าที่จะยินดีในโลก ซึ่งมีความหมายอยู่ที่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

Home / ธรรมะ / โลกุตตรธรรม 9 คือ อะไร โลกุตตระหมายถึงอะไร

โลกุตตระหมายถึงอะไร

โลกุตตรธรรม 9 คือ อะไร

คำว่า “ โลกุตตระ ” แปลว่า ยิ่งกว่าโลก หรือ เหนือโลก ดังนั้นคำว่า “โลกุตตรธรรม” จึงแปลว่า สิ่งซึ่งยิ่งไปกว่าโลก หรือ วิสัยโลก ใช้เป็นชื่อของการปฏิบัติและผลของการปฏิบัติในชั้นที่มีจิตใจสูงเกินกว่าที่จะยินดีในโลก ซึ่งมีความหมายอยู่ที่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (อารมณ์ที่พึงถูกต้องด้วยกาย,สิ่งที่มาถูกต้องกาย) อันเป็นที่ปรารถนาของสัตว์ทั่วไป ที่รวมเรียกว่า “กามคุณ” หรือแม้ที่สุดแต่ความสุขขั้นที่ไม่เกี่ยวกับกามคุณ แต่ยังเกี่ยวอยู่กับความยึดถือโดยความเป็นตัวตน หรือเป็นของของตนอยู่อย่างเต็มที่ เช่น ความสุขอันเกิดแต่ฌานสมาบัติ เป็นต้น ฉะนั้น โลกุตตระ หรือ เหนือโลก จึงหมายถึง การมีจิตใจอยู่เหนือกามสุข ฌานสุข มุ่งแสวงสุขจากความปล่อยวางหรือหลุดพ้นจากความยึดถือว่า ตัวตนหรือของของตนโดยตรง

การปฏิบัติเพื่อความเป็นอย่างนี้ มีมูลมาจากการพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ และความเป็นอนัตตาของโลก อยากจะพ้นไปจากโลก หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่ง ก็คือมีจิตอยู่เหนือโลกทั้งที่มีร่างกายอยู่ในโลกนี้ มีจิตใจอยู่เหนือการครอบงำของอารมณ์ทั้งที่มีร่างกายเกี่ยวข้องกันอยู่กับอารมณ์แม้อย่างใกล้ชิดเพียงไรก็ตาม

โลกุตตรธรรม 9 คือ อะไร

โลกุตตรธรรม แบ่งเป็น ๙ คือ

  • มรรค ๔
  • ผล ๔
  • นิพพาน ๑

มรรค ๔ หมายถึงการปฏิบัติที่ถึงที่สุด ก็คือ

  • โสตาปัตติมรรค
  • สกิทาคามิมรรค
  • อนาคามิมรรค
  • อรหัตตมรรค

ครั้นมรรคนั้นทำหน้าที่แล้ว ก็เกิดเป็นผล ผล ๔ หมายถึง ผลแห่งการปฏิบัติ ๔ ขั้น คือ

  • โสตาปัตติผล
  • สกิทาคามิผล
  • อนาคามิผล
  • อรหัตตผล

มีผลอย่างนี้แล้ว ก็มีความสงบเย็นเป็น นิพพาน อันหมายถึง สภาวะที่มีอยู่เอง เป็นอยู่เองโดยไม่ต้องเนื่องจากเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งสำหรับปรากฏแก่จิตใจที่บรรลุมรรคผลทั้ง ๔ ขั้นนั้น มากน้อยตามส่วนแห่งการบรรลุมรรคผล ในขั้นต้น คือ ความเป็นโสดาบัน เป็นการเริ่มเห็นนิพพานในอันดับแรก ส่วนขั้นสุดท้าย คือ ความเป็นพระอรหันต์ เป็นการเห็นนิพพานถึงที่สุด

ฉะนั้น “นิพพาน” จึงไม่ใช่สิ่งเดียวกันกับมรรคผล มรรคผลเป็นชื่อมาตรฐานของการปฏิบัติและผลของการปฏิบัติ ส่วนนิพพาน เป็นสิ่งซึ่งจะปรากฏแก่จิตใจของผู้บรรลุถึงผลของการปฏิบัติ แต่โดยพฤตินัยนั้น เป็นสิ่งที่แยกกันไม่ได้

ฉะนั้น เมื่อมรรคทำหน้าที่ตัดกิเลส มีผลเป็นความหมดกิเลสแล้ว ก็เกิดความเย็นเป็นนิพพาน มันจะมีประโยชน์ หรือไม่มีประโยชน์

มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ นี้จะมีประโยชน์ หรือไม่มีประโยชน์ เดี๋ยวนี้ โลกนี้มันมากไปด้วยเหยื่อของกิเลส ที่ทำให้คนอยู่ในโลกนี้ตกหลุมของกิเลส เพราะว่าเหยื่อของกิเลสมันมากเกินไป มันก็ควรจะรู้เรื่องโลกุตตรธรรมกันเสียบ้าง

อ้างอิง :
– ฟ้าสางระหว่าง ๕๐ ปีที่มีสวนโมกข์ [ตอน ๒] น.๗๐ , ท่านพุทธทาสภิกขุ
– ศึกษาธรรมะอย่างถูกวิธี , ท่านพุทธทาสภิกขุ บรรยายในพรรษา ปีพุทธศักราช ๒๕๐๐ ณ สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี

เนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
รวมคำสอน ท่านพุทธทาสภิกขุ หลักธรรมนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน
ฟังเทศน์มหาชาติ แต่ละกัณฑ์จะได้อะไร และการบูชากัณฑ์ต่างๆ ตามปีเกิด
นิวรณ์ ๕ และวิธีดับนิวรณ์ ๕ เครื่องกั้นจิตมิให้บรรลุธรรม