วันอัฏฐมีบูชา ตรงกับวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 ถือเป็นวันคล้ายวันถวายพระเพลิงพุทธสรีระ หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานได้ 8 วัน ในคืน 15 ค่ำ เดือน 6 ซึ่งในปีนี้วันอัฏฐมีบูชาจะตรงกับวันที่ 30 พฤษภาคม 2567 โดยไม่นับเป็นวันหยุดทั้งเอกชนและราชการ แต่ชาวพุทธสามารถน้อมนำคำสอนของพระพุทธเจ้ามารักษาศีล 5 ตักบาตร เข้าวัด กราบพระ ทำบุญ ทำทาน สวดมนต์หรือ วิปัสสนากรรมฐานได้ตามปกติ โดยจะมีเพียงบางวัดที่ยังมีประเพณีการถวายพระเพลิงพระบรมศพจำลองอยู่ อย่างเช่น วัดบรมธาตุทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ และ วัดใหม่สุคนธาราม จังหวัดนครปฐม ที่สืบทอดประเพณีโบราณนี้มาจนถึงปัจจุบันนานกว่า 100 ปี ส่วนในกรุงเทพฯ สามารถไปร่วมกิจกรรมทำบุญ สวดมนต์เนื่องในวันอัฏฐมีบูชาได้ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ ย่านท่าพระจันทร์
ประวัติ วันอัฏฐมีบูชา
หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานใต้ต้นสาละ ในคืน 15 ค่ำ เดือน 6 เจ้ามัลลกษัตริย์ได้จัดพิธีบูชาด้วยเครื่องหอม ดอกไม้ และดนตรีทุกชนิด ที่มีอยู่ในเมืองกุสินาราตลอด 7 วัน และให้เจ้ามัลละระดับหัวหน้า 8 คน สรงเกล้า นุ่งห่มผ้าใหม่ อัญเชิญพระสรีระไปทางทิศตะวันออกของพระนคร เพื่อถวายพระเพลิง
จากนั้นในวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 ก็ได้ให้เจ้ามัลละระดับหัวหน้า 4 คน พยายามจุดไฟที่เชิงตะกอน แต่ไม่อาจติดไฟได้ทั้งที่ได้ทำตามคำของพระอานนท์เถระที่ให้ห่อพระสรีระพระพุทธเจ้าด้วยผ้าใหม่แล้วซับด้วยสำลี แล้วใช้ผ้าใหม่ห่อทับอีก ทำเช่นนี้จนหมดผ้า 500 คู่ แล้วเชิญลงในรางเหล็กที่เติมด้วยน้ำมัน แล้วทำจิตกาธาน (เชิงตะกอน) ด้วยดอกไม้จันทน์ และของหอมทุกชนิด
พระอนุรุทธะได้เห็นดังนั้น จึงแจ้งว่า เพราะเทวดาประสงค์ให้รอพระมหากัสสปะ และภิกษุหมู่ใหญ่ 500 รูป ผู้กำลังเดินทางมาเพื่อถวายบังคมพระบาทเสียก่อน ไฟก็จะลุกไหม้ เนื่องจากเทวดาเหล่านี้ เคยเป็นโยมอุปัฏฐากของพระเถระและพระสาวกผู้ใหญ่มาก่อน จึงไม่ยินดีที่ไม่เห็นพระมหากัสสปะอยู่ในพิธี
และเมื่อภิกษุหมู่ 500 รูป โดยมีพระมหากัสสปะเป็นประธานเดินทางมาพร้อมกัน ณ ที่ถวายพระเพลิงแล้ว ไฟก็ลุกโชนขึ้นเองโดยไม่ต้องมีใครจุด
หลังจากที่พระเพลิงเผาไหม้พระพุทธสรีระพระบรมศาสดาดับมอดลงแล้ว บรรดากษัตริย์มัลละทั้งหลายจึงได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุทั้งหมด ใส่ลงในหีบทองแล้วนำไปรักษาไว้ภายในนครกุสินารา ส่วนเครื่องบริขารต่าง ๆ ของพระพุทธเจ้าได้มีการอัญเชิญไปประดิษฐานตามที่ต่างๆ อาทิ ผ้าไตรจีวร อัญเชิญไปประดิษฐานที่แคว้นคันธาระ บาตร อัญเชิญไปประดิษฐานที่เมืองปาตลีบุตร เป็นต้น
หลักธรรมคำสอนวันอัฏฐมีบูชา
วันอัฏฐมีบูชา ถือเป็นหลักธรรมคำสอนสุดท้ายจากพระพุทธองค์ ว่าด้วยเรื่อง ไตรลักษณ์ อันได้แก่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ใดใดในโลกล้วนไม่เที่ยง แตกดับสูญสลายไปเป็นของธรรมดา แม้แต่พระพุทธเจ้าซึ่งเป็นพระศาสดาก็ไม่อาจหนีพ้นไปได้ พระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้าก็ถูกเพลิงแผดเผา จนเหลือแต่อัฐิธาตุ
คำถวายดอกไม้ธูปเทียนในวันอัฏฐมีบูชา
ยะมัมหะ โข มะยัง, ภะคะวันตัง สะระณัง คะตา, โย โน ภะคะวา สัตถา, ยัสสะ จะ มะยัง, ภะคะวะโต ธัมมัง โรเจมะ, อะโหสิ โข โส ภะคะวา, มัชฌิเมสุ ชะนะปะเทสุ, อะริยะเกสุ มะนุสเสสุ อุปปันโน, ขัตติโย ชาติยา, โคตะโม โคตเตนะ, สักยะปุตโต สักยะกุลา ปัพพะชิโต, สะเทวะเก โลเก สะมาระเก สะพรัหมะเก, สัสสะมะณะพราหมะณิยา ปะชายะ สะเทวะมะนุสสายะ, อะนุตตะรัง สัมมาสัมโพธิง อะภิสัมพุทโธ, นิสสังสะยัง โข โส ภะคะวา, อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ, วิชชาจะระณะสัมปันโน, สุคะโต โลกะวิทู, อนุตตะโร ปุริสทัมมะสาระถิ, สัตถา เทวะมะนุสสานัง, พุทโธ ภะคะวา สวากขาโต โข ปะนะ, เตนะ ภะคะวา ธัมโม, สันทิฏฐิโก, อะกาลิโก, เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก, ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ. สุปะฏิปันโน โข ปะนัสสะ, ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสะยุคานิ, อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา, เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, อาหุเนยโย, ปาหุเนยโย, ทักขิเนยโย อัญชลีกะระณีโย. อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสะ. อะยัง โข ปะนะ ถูโป(ปฏิมา) ตัง ภะคะวันตัง อุททิสสะ กโต (อุททิสสิ กตา) ยาวะเทวะ ทัสสะเนนะ, ตัง ภะคะวันตัง อะนุสสะริตวา, ปะสาทะสังเวคะปะฏิลาภายะ, มะยัง โข เอตะระหิ, อิมัง วิสาขะปุณณะมิโตปะรัง อัฏฐะมีกาลัง, ตัสสะ ภะคะวะโต สรีรัชฌาปะนะกาละสัมมะตัง ปัตวา, อิมัง ฐานัง สัมปัตตา, อิเม ทัณฑะทีปะธูปะ-, ปุปผาทิสักกาเร คะเหตวา, อัตตะโน กายัง สักการุปะธานัง กะริตวา, ตัสสะ ภะคะวะโต ยะถาภุจเจ คุเณ อะนุสสะรันตา, อิมัง ถูปัง(ปะฏิมาฆะรัง) ติกขัตตุง ปะทักขิณัง กะริสสามะ, ยะถาคะหิเตหิ สักกาเรหิ ปูชัง กุรุมานา.
สาธุ โน ภันเต ภะคะวา, สุจิระปะรินิพพุโตปิ, ญาตัพเพหิ คุเณหิ, อะตีตารัมมะณะตายะ ปัญญายะมาโน, อิเม อัมเหหิ คะหิเต, สักกาเร ปะฏิคคัณหาตุ, อัมหากัง, ฑีฆะรัตตัง, หิตายะ, สุขายะ.
ภาพโดย MTHAI TEAM
เนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
รู้จักความเป็นมาและความหมายของ พระบรมสารีริกธาตุ
รู้จัก เสาอโศก สัญลักษณ์แห่งศรัทธาและคำสอนของพระพุทธศาสนา
วันวิสาขบูชา ปี 2567 วันสำคัญทางพุทธศาสนาและกิจกรรมของชาวพุทธ