เนื่องจากภาคเหนือของประเทศไทย อยู่ใกล้กับพื้นที่ของประเทศพม่า รวมถึงมีผู้อพยพมาอยู่ในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก จึงทำให้วัดบางแห่งทางภาคเหนือ มีสถาปัตยกรรมเป็นศิลปะพม่า โดยหนึ่งในจำนวนวัดเหล่านั้น ก็คือ วัดไชยมงคล (วัดจองคา) จังหวัดลำปาง ที่ในปัจจุบันได้รับการประกาศให้พระวิหารศิลปะพม่า ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแล้ว
วัดไชยมงคล หรือ วัดจองคา
วัดไชยมงคลหรือมีอีกชื่อหนึ่งว่า “วัดจองคา” แต่เดิมวัดแห่งนี้เป็นที่ว่าง รกร้าง มีหญ้าคาและต้นไม้ยืนต้นจำนวนมาก สมัยสามร้อยกว่าปีก่อนเป็นที่ประหารนักโทษ และเป็นที่รวมพลนักรบไทยโบราณทั้งพม่า ไทยใหญ่และนักรบพื้นเมืองของคนล้านนา (ในสมัยพ่อเจ้าทิพย์ช้างและเชื้อเจ้าเจ็ดตน) หม่องป๊อกถวายที่ดินส่วนหนึ่งสร้างวัดนี้ เริ่มซื้ออิฐจำนวนหนึ่ง เตรียมการก่อสร้างแต่ไม่สำเร็จตามที่คาดหวัง
อูโง่ยซิ่น สุวรรณอัตถ์
ต่อมา อูโง่ยซิ่น สุวรรณอัตถ์ (หม่องโง่ยซิ่น) คหบดีชาวพม่าขอซื้อที่ดินแปลงนี้เพื่อสร้างสำนักสงฆ์ (วัดจองคา) ซึ่งเดิมมีกุฏิมุงด้วยหญ้าคาเป็นจำนวนมาก สำนักสงฆ์นี้จึงได้ชื่อว่า จองคา ( “จอง” แปลว่า วัด และคำว่า “คา” แปลว่า หญ้าคา) และเคยได้รับรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2559 ประเภทอาคารศาสนสถาน
ความโดดเด่นอยู่ที่วิหารสีขาวที่มีหลังคาเครื่องไม้แบบพม่า หน้าบันประดับกระจกเป็นรูปเทวดา เสาประดับด้วยลวดโลหะสีทองขดเป็นลายเครือเถาประดับกระจกสีงดงามมาก ส่วนม่านและระเบียงโดยรอบนั้นทำด้วยแผ่นไม้ฉลุอย่างประณีต ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดที่มีพุทธลักษณะงดงามซึ่งสร้างขึ้นที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมาร์
วิหาร พุทธศิลป์วิจิตรแบบพม่า
วิหาร เป็นศิลปะการสร้างแบบพม่า ตัววิหารสูง 15 เมตร เป็นวิหารสองชั้น หันบันไดไปทางทิศเหนือ หลังคาเครื่องไม้แบบพม่า หน้าบันประดับกระจกเป็นรูปเทวดา เสาวิหารสมัยนั้นติดเพชร พลอย อัญมณี ไพลิน นิลมรกต บุษราคัม ปัจจุบันเสาประดับด้วยลวดโลหะสีทองขดเป็นลายเครือเถา ประดับกระจกสีสวยงาม ม่านและระเบียงโดยรอบทำด้วยแผ่นไม้ฉลุฝีมือประณีต ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ปางสมาธิทรงเครื่อง มีลักษณะงดงามสร้างจากเมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมาร์ และเทพทันใจ (นัตโบโบจี) เทพผู้ปกปักรักษาและบันดาลโชคลาภ
นัตโบโบจี
ในปี พ.ศ. 2420 -2450 วิหารชั้นล่างเป็นที่เรียนหนังสือบาลี มคธและภาษาพื้นเมือง ในสมัยนั้นมีการสอบนักธรรมที่วัดนี้เป็นแห่งแรกและเป็นวัดเดียวที่มีการสอบบาลี มคธ
พ.ศ. 2450 เจ้าหลวงบุญวาทย์วงษ์มานิต เจ้าเมืองลำปางในขณะนั้น ได้ตั้งชื่อ สำนักสงฆ์จองคา เป็น จองคา (วัดไชยมงคล )
พ.ศ. 2460 บรรดาเศรษฐีเชื้อสายพม่า ชาวลำปางและเชียงใหม่โดยการนำของรองอำมาตย์เอกหลวงโยนะการพิจิตร ต้นตระกูลอุปะโยคิน หรือพญาตะก่า ได้ร่วมกันสร้างพระบรมธาตุเกศาไชยมงคลขึ้นทางทิศใต้ ฐานสี่เหลี่ยม มณฑลกว้าง 9 x 9 เมตร พระเจดีย์สูง 18 เมตร แบ่งเป็น 3 ระดับลดหลั่นกัน แต่ละมุมของฐานชุกชี ฐานชั้นแรกมีเจดีย์ย่อ 4 มุมสี่ด้าน ชั้นที่สองมีรูปนรสิงห์ทั้ง 4 มุม ชั้นที่สามเป็นเจดีย์ทรงคว่ำมียอดประดับด้วยเงิน-ทองและอัญมณี เจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์ ประดับด้วยอัญมณีต่างๆ ภายในบรรจุพระบรมเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า 3 เส้น ซึ่งอัญเชิญมาจากพระบรมเจดีย์ชเวดากอง ประเทศพม่า
พ.ศ. 2483 – 2485 วัดจองคา เคยเป็นสถานที่ตั้งของกองทัพญี่ปุ่นและกองทัพไทยในระยะหนึ่ง
ลวดลายภายในพระวิหารวัดจองคา
ลวดลายที่ปรากฎภายในพระวิหารวัดจองคานั้นจะพบลวดลายที่ประดับตกแต่งเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา ส่วนใหญ่พบว่า ลวดลายประเภทต่างๆ ทั้งมีปรากฎในธรรมชาติและมีการดัดแปลงประยุกต์กลายเป็นลวดลายประดิษฐ์ โดยลวดลายที่ปรากฎภายในพระวิหารของวัดไชยมงคลมี ดังนี้
ลวดลายโก่งคิ้ว
ปรากฎลวดลายเครือเถาที่มีการใช้เทคนิคทำด้วยการฉลุไม้ให้เป็นช่อง และบริเวณโก่งคิ้วปรากฎเรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆ ในพุทธประวัติ
ลวดลายเทวดา
อยู่บริเวณหลังพระประธานหรือหลังแท่นประดิษฐานพระพุทธรูป ซึ่งเป็นการใช้เทคนิคการลงรักประดับกระจกสีต่างๆ เพื่อเล่าถึงการที่เทวดามาถวายความเคารพต่อการบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณของพระพุทธเจ้า
ลวดลายนกยูงและกระต่าย
ประดับอยู่บนเพดานของโถงประธานวัดไชยมงคลนั้นเป็นสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายของความเชื่อ สุริยัน หรือ พระอาทิตย์ และจันทรา หรือ พระจันทร์ โดยมีความเชื่อว่า
นกยูงเป็นสัญลักษณ์แทนพระอาทิตย์ เป็นต้นกำเนิดแก่ชาติพม่า และ
กระต่ายเป็นสัญลักษณ์แทนดวงจันทร์ มีความหมายถึงต้นวงศ์ตระกูลของพระเจ้าแผ่นดินที่ปกครองประเทศพม่า
พระพุทธไชยมงคล
พระพุทธไชยมงคลเป็นพระประธานประจำวัด โดยประดิษฐานบนฐานชุกชี รายล้อมด้วยรูปพระสาวก เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง ปางมารวิชัย เนื้อสัมฤทธิ์ หน้าตักกว้าง 1 เมตร นำมาทางเรือจากเมืองมัณฑะเลย์เข้าสู่แม่สาย แล้วมาโดยขบวนช้าง เมื่อพ.ศ. 2450 ลวดลายประดับทั้งที่ฐานชั้นล่างและฐานชั้นบนมีความประณีตเป็นอย่างมาก
นอกจากสถาปัตยกรรมศิลปะพม่าของวัดไชยมงคลหรือวัดจองคาแล้ว พระประธานประจำวัดก็มีความศักดิ์สิทธิ์เช่นเดียวกัน เนื่องจากเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ ที่อยู่คู่วัดมานานนับร้อยปีเชียวล่ะ!
ภาพโดย อ.ณัฐ
ที่อยู่ : 266 ถนนสนามบิน ตำบลพระบาท อำเภอเมืองลำปาง ลำปาง 52000
Google map : https://goo.gl/maps/VNVTo8g5ShKKQjjA6
เวลาเปิด – ปิด : 06.00 – 18.00 น.
เนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
เจดีย์ชเวสิกอง ดุจดั่งทองที่มัดไว้ แห่งเมืองพุกาม ประเทศพม่า
วัดพระเจดีย์ซาวหลัง วัดล้านนา – พม่า และที่มาของพระเจดีย์ 20 องค์