เจดีย์ชเวสิกอง ရွှေစည်းခုံ စေတီတော် เป็น 1 ใน 5 มหาเจดีย์อันศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวพม่าเคารพและนับถือมาอย่างยาวนาน ซึ่งมีอายุมากกว่า 900 ปี ถือว่าเป็นต้นแบบเจดีย์แบบพม่า
เริ่มก่อสร้างในรัชสมัยของพระเจ้าอโนรธามังช่อ (พ.ศ. 1587–1620) ซึ่งเป็นผู้สถาปนาอาณาจักรพุกามในปี พ.ศ. 1602–1603 และเสร็จสมบูรณ์เมื่อปี พ.ศ. 1645 ในรัชสมัยของพระเจ้าจานซิต้า หรือ พระเจ้าจันสิตถา ตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมาพระเจดีย์ได้รับความเสียหายจากการเกิดแผ่นดินไหว และภัยพิบัติทางธรรมชาติจำนวนมาก และได้รับการบูรณะใหม่หลายครั้ง ในการบูรณะเมื่อเร็วๆ นี้ มีการบูรณะโดยใช้แผ่นทองแดงกว่า 30,000 แผ่น อย่างไรก็ตามฐานระเบียงเจดีย์ระดับล่างยังคงอยู่ในรูปแบบเดิม
เจดีย์ชเวซี่โกน หรือ เจดีย์ชเวสิกอง
เชื่อกันว่า เป็นที่ประดิษฐานพระสารีริกธาตุและพระทันตธาตุของพระพุทธเจ้า พระเจดีย์มีรูปทรงระฆังคว่ำมีการปิดประดับทองคำเปลว ฐานเจดีย์มีหลายชั้น เจดีย์เป็นทรงตัน ฐานระเบียงเจดีย์มีแผ่นภาพเคลือบปูนปั้นเล่าเรื่องในนิทานชาดก ที่ทางเข้าของเจดีย์มีรูปปั้นขนาดใหญ่ของผู้ปกป้องศาสนสถาน บริเวณโดยรอบล้อมด้วยวิหารและศาลเจ้าขนาดเล็ก นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปสัมฤทธิ์สี่องค์ของพระพุทธเจ้าในภัทรกัปนี้ทั้งสี่ทิศ ที่ด้านนอกเขตเจดีย์มีวิหารนะ 37 ตน บริเวณเจดีย์ชเวสิกองยังมีเสาหินที่จารึกเป็นภาษามอญในสมัยพระเจ้าจานซิต้า
ความเชื่อ 9 ประการของเจดีย์ชเวสิกอง
- ยอดพระเจดีย์ไม่มีการใช้เหล็กเสริม
- กระดาษห่อแผ่นทองคำเปลวที่นำไปปิดส่วนยอดพระเจดีย์ จะไม่ปลิวพ้นฐานสี่เหลี่ยมของพระเจดีย์
- เงาพระเจดีย์จะไม่ล้ำออกนอกฐานสี่เหลี่ยมของพระเจดีย์ (ถ้าเงาล้ำออกไป ถือว่าเป็นลางร้าย)
- ภายในเขตองค์พระเจดีย์ สามารถรองรับผู้แสวงบุญได้ไม่จำกัดจำนวน (ไม่เคยเต็ม)
- มีการให้ทานด้วยข้าวสุกร้อน ๆ ทุกเช้า (ไม่ว่าเราจะตื่นเช้าสักเพียงใด จะพบข้าวสุกในบาตรอยู่ก่อนหน้าเราเสมอ)
- เมื่อตีกลองใบใหญ่จากด้านหนึ่งของพระเจดีย์ จะไม่สามารถได้ยินเสียงกลองจากด้านตรงข้าม
- แม้พระเจดีย์จะตั้งอยู่บนพื้นราบ แต่เมื่อมองจากภายนอกจะเกิดภาพลวงตาคล้ายพระเจดีย์ตั้งอยู่บนที่สูง
- ไม่ว่าฝนจะตกหนักเพียงใด จะไม่มีน้ำฝนขังอยู่ในอาณาเขตขององค์พระเจดีย์
- มีต้นพิกุล ซึ่งจะออกดอกตลอดทั้งปี (ปรกติจะออกปีละครั้ง)
แห่งเมืองพุกาม ประเทศพม่า