พระพุทธรูปทันใจ พระแสนแซ่ทองคำ วัดพระเจดีย์ซาวหลัง

วัดพระเจดีย์ซาวหลัง วัดล้านนา – พม่า และที่มาของพระเจดีย์ 20 องค์

พระแสนแซ่ทองคำ พระพุทธรูปสำคัญคู่เมืองลำปาง เป็นพระพุทธรูปทองคำองค์แรกที่ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุแห่งชาติ

Home / ลำปาง / วัดพระเจดีย์ซาวหลัง วัดล้านนา – พม่า และที่มาของพระเจดีย์ 20 องค์

ภาคเหนือเป็นอีกหนึ่งภาคที่มีอัตลักษณ์ทางศิลปะเฉพาะตัวมาอย่างยาวนาน ซึ่ง วัดพระเจดีย์ซาวหลัง ก็เป็นอีกหนึ่งวัดที่มีอายุนานนับพันปีตั้งแต่ช่วงสมัยล้านนา ตัววัดเต็มไปด้วยศิลปะผสมผสานระหว่างล้านนา – พม่าอย่างลงตัวในรูปแบบสถาปัตยกรรมที่หาชมได้ยาก

อุโบสถ

วัดพระเจดีย์ซาวหลัง

สันนิษฐานว่า วัดพระเจดีย์ซาวหลัง สร้างขึ้นช่วงสมัยล้านนา ด้วยสถาปัตยกรรมภายในวัดเป็นศิลปะผสมผสานระหว่างล้านนา – พม่า และการขุดค้นพบพระเครื่องสมัยหริภุญไชยที่องค์พระเจดีย์ โดยที่มาของชื่อวัดเมื่อแยกแปลแต่ละคำ จะมีความหมายเฉพาะตัวดังนี้

  • ซาว แปลว่า ยี่สิบ
  • หลัง แปลว่า องค์
  • วัดพระเจดีย์ซาวหลัง จึงแปลว่า วัดที่มีเจดีย์ 20 องค์
วัดพระเจดีย์ซาวหลัง


ภายในวัดมีอุโบสถอันเป็นที่ประดิษฐานของ หลวงพ่อโต พระประธานปางมารวิชัย มีพุทธลักษณะเก่าแก่งดงาม บริเวณบานประตูอุโบสถทั้งสามเป็นของโบราณ เขียนลวดลายรดน้ำละเอียดสวยงามตามแบบฉบับศิลปะดั่งเดิม ข้างหมู่พระเจดีย์มีวิหารหลังเล็ก ประดิษฐาน “พระพุทธรูปทันใจ” พระพุทธรูปสำริดปางสมาธิ ศิลปะเชียงแสน ชาวบ้านเรียกว่า “พระเจ้าทันใจ”

องค์พระธาตุเจดีย์ซาว พระเจดีย์ 20 องค์

วัดพระเจดีย์ซาวหลัง
วัดพระเจดีย์ซาวหลัง

ตามตำนานมีความเชื่อว่าเมื่อ 500 ปี หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน มีพระอรหันต์จากอินเดียสองรูป ได้เดินทางมาจาริกเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ พื้นที่ของเขตเมืองล้านนา เมื่อเห็นสถานที่เงียบสงบเหมาะที่จะบำเพ็ญธรรม จึงใช้เป็นที่พำนักอาศัยปฏิบัติวิปัสสนา และอบรมสั่งสอนพุทธศาสนิกชนในละแวกนั้น จนมีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนายิ่งขึ้น

วัดสวย ลำปาง

ในครั้งนั้นพญามิลินทรผู้แตกฉานในหลักธรรม ได้มาสนทนาซักถามปัญหาธรรมกับพระอรหันต์ทั้ง 2 รูป และมีความประสงค์จะทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา พระอรหันต์ทั้งสองรูปจึงได้ใช้มือลูบศีรษะ มีเส้นเกศาติดมือมารูปละสิบเส้นแล้วมอบให้พญามิลินทร พญามิลินทรจึงได้สร้างเจดีย์ขึ้นยี่สิบองค์ แล้วนำเอาเส้นเกศาบรรจุในเจดีย์องค์ละเส้นอันเป็นที่มาของพระเจดีย์ทั้ง 20 องค์ในวัดพระเจดีย์ซาวหลังนี่เอง

หลวงพ่อโต
พระปางมารวิชัย

ผ่านกาลเวลาหลังจากนั้น วัดนี้ถูกทิ้งร้างให้ปกคลุมด้วยเถาวัลย์และไม้เลื้อย ชำรุดทรุดโทรมลง พระเจดีย์ยี่สิบองค์นี้จึงคงมีแค่เพียงซากฐานขององค์เจดีย์ให้เห็น (พ.ศ.2460) ครั้นพอถึงวันสำคัญประจำปีก็จะมีพระสงฆ์กับชาวบ้านได้มาร่วมกันประกอบพิธีทางศาสนาสรงน้ำพระธาตุเจดีย์ในวันเพ็ญเดือน 9 (เหนือ) หลังจากที่เสร็จพิธีก็ปล่อยให้อยู่ในสภาพรกร้างตามเดิม

องค์พระธาตุเจดีย์ซาว
องค์พระธาตุเจดีย์ซาว
องค์พระธาตุเจดีย์ซาว

ประวัติวัดพระเจดีย์ซาวหลังกล่าวว่า หลังจากที่องค์พระเจดีย์ถูกทิ้งให้รกร้างอยู่นั้น มีพระภิกษุชาวพม่าชื่อ “อูชะยันต่าเถระ” ซึ่งท่านเป็นผู้แตกฉานในพระไตรปิฏก ได้จาริกเผยแพร่พระพุทธศาสนามาจากเมืองมัณฑะเลย์ ท่านจึงได้นำเอาตำนานของวัดเล่าให้ชาวพม่าที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเมืองลำปางฟัง ต่อมาชาวบ้านจึงได้พากันทำการขุดแต่งบูรณะ พบพระพุทธรูปทองสำริด พระเครื่องดินเผาสมัยหริภุญไชย พระคง พระรอด พระสิบสอง พระสามแผ่นดิน แผ่นทองจารึกอักขระ ผอบเงิน ผอบทอง วางอยู่ในหลุมลึกใต้ฐานเจดีย์ ชาวบ้านจึงทำการบูรณะและนำสิ่งของดังกล่าวเข้าบรรจุไว้ที่เดิม พร้อมทั้งก็ก่อสร้างเป็นเจดีย์ขึ้นจนเรียบร้อยเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2464

โบสถ์
โบสถ์

พระแสนแซ่ทองคำ

เมื่อปีช่วงปีพ.ศ. 2526 ชาวบ้านได้ขุดพบพระพุทธรูปทองคำบริสุทธิ์หนัก 100 บาท สองสลึง ด้วยความศรัทธาชาวบ้านจึงได้มามอบให้แก่ทางวัด ซึ่งพระพุทธรูปองค์นี้ชื่อว่า “พระแสนแซ่ทองคำ” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะล้านนาขนาดหน้าตักกว้าง 9 นิ้วครึ่ง สูง 15 นิ้ว ลักษณะพิเศษของพระพุทธรูปองค์นี้สามารถแยกชิ้นส่วนออกเป็น 32 ส่วนนำมาสวมต่อกัน มีสลักยึดติดกับส่วนต่าง ๆ ของพระ (ภาษาล้านนาเรียกว่า แซ่) บริเวณเศียรขององค์พระมีผอบบรรจุพระบรมธาตุ ที่พระเศียรและผ้าสังฆาฏิประดับด้วยอัญมณีสีต่าง ๆ ในช่วงอกของพระพุทธรูปข้างในบรรจุใบลานทองคำจารึกด้วยอักขระพื้นเมืองเป็นคาถาขดรวมกันอยู่ เป็นพระพุทธรูปทองคำองค์แรกที่ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุแห่งชาติ จึงทำให้ผู้ที่มีจิตศรัทธานิยมเข้าไปกราบไหว้ขอพรกับพระแสนแซ่ทองคำ พระพุทธรูปสำคัญคู่เมืองลำปาง

พระพุทธเจ้าขณะบำเพ็ญทุกรกิริยา

พระพุทธเจ้าขณะบำเพ็ญทุกรกิริยา

หลวงปู่
พ่อครูบา
พ่อครูบา
พ่อครูบา
พระเจดีย์ซาวหลัง
คำสอน
วัดสวย ลำปาง


วัดพระเจดีย์ซาวหลังเป็นวัดเก่าแก่ที่เต็มไปด้วยความศักดิ์สิทธิ์ ศิลปะ และประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมายาวนาน ทั้งบ่อน้ำสองพี่น้อง (บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์) พระพุทธรูปทันใจ หลวงพ่อมะขามเฒ่า (หลวงปู่ศุข) หากท่านไหนมีโอกาสมาเที่ยวลำปาง อย่าลืมแวะมาแอ่วกันเน้อ!

ภาพโดย อ. ณัฐ

ที่ตั้ง : 268 หมู่ 12 ตำบล ต้นธงชัย อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง 52000
Google map : https://goo.gl/maps/xkV6hnK9HpCsdRWf7
เวลาทำการ : 08.00 น. – 18.00 น.

เนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

เจดีย์ชเวสิกอง ดุจดั่งทองที่มัดไว้ แห่งเมืองพุกาม ประเทศพม่า
วันอาสาฬหบูชา วันที่พระรัตนตรัยถือกำเนิดครบทั้ง 3 องค์
วัดผาลาด วัดสวยกลางป่า พิกัดดอยสุเทพ เชียงใหม่