หากจะพูดถึง Unseen ของจังหวัดลำปาง นอกจากสถานที่ท่องเที่ยวแล้ว ก็ต้องยกให้ วัดป่าฝาง หรือ วัดศาสนโชติการาม วัดมอญเก่าแก่ศิลปะพม่าที่คงความสวยงามตระการตาไว้อย่างสมบูรณ์แบบ โดยมีจุดเด่นที่เจดีย์และ พระพุทธรูปปางฉันผลสมอ
วัดป่าฝาง
วัดป่าฝาง หรือวัดศาสนโชติการาม สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยพ่อเฒ่าอูส่วยอัตถ์และแม่เฒ่าหวาน สองสามีภรรยาชาวรามัญที่มาประกอบอาชีพป่าไม้ในจังหวัดลำปางยุคนั้น ซึ่งน่าจะเรียกได้ว่าเป็นยุคเฟื่องฟูของกิจการไม้สัก จึงทำให้วัดมีพระเจดีย์ใหญ่สีทองสุกปลั่งไม้ อันเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่อัญเชิญมาจากพม่าเมื่อประมาณ พ.ศ. 2449 ได้ลงรักปิดทอง ซึ่งมองเห็นแต่ไกล ส่วนฐานของเจดีย์ จัดไว้เป็นแปดเหลี่ยม ในแต่ละเหลี่ยมจะทำเป็นซุ้มสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปหินอ่อน ซึ่งมีความหมายถึงทิศทั้ง 8 หรือ มรรค 8 ผล 8 เมื่อวัดโดยรอบกับส่วนสูงของเจดีย์ จะมีความกว้างและยาวเท่ากันคือ 45 เมตร
พระประจำวันเกิดทั้ง 8 วันตามมุมฐานของเจดีย์
วิหารไม้สัก
วิหารไม้สัก มีลักษณะครึ่งตึกครึ่งไม้ 2 ชั้น ภายในวิหารชั้นบน เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปที่เก่าแก่ของวัด ซึ่งมีพุทธลักษณะที่งดงาม ฐานชุกชี ซุ้มด้านหลังของพระพุทธรูป ฝ้าเพดาน บัวหัวเสา ตลอดถึงรอบเสาประดับด้วยกระจกหลากสี ที่ผ่านการก่อสร้างอย่างบรรจงด้วยลวดลายของไม้แกะสลัก พร้อมกับได้ลงรักปิดทองเป็นอย่างดี
อุโบสถ
อุโบสถ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปประธาน ‘ปางฉันผลสมอ’ (พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิราบพระหัตถ์ซ้ายหงายวางบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาทรงถือผลสมอ หงายพระหัตถ์วางที่พระชานุเป็นกิริยาเสวยผลสมอ ) ส่งผ้าลายพันตา ซึ่งห่มจีวรประดับด้วยทับทิมจากพม่าหาชมได้ยาก โดยบริเวณฐานชุกชีประดับด้วยลวดลายปูนปั้น เป็นเรื่องราวชาดก ฝ้าเพดานลงรักทาสีแดงชาดทำเป็นช่องจำนวน 12 ช่อง แต่ละช่องประดับลวดลายปูนปั้นและกระจกสี มีรูปปูนปั้นนกยูงและลูกเทพคอยรักษาทุกช่อง
ส่วนหลังคา เป็นเครื่องหมายลดหลั่นเป็นชั้นๆ บริเวณรอบนอกซุ้มประตู หน้าต่าง ประดับตกแต่งลวดลายปูนปั้นเป็นรูปเถาวัลย์และเทวดารักษาประตู หน้าบัน เสาด้านหน้าและเพดาน ประดับด้วยกระจกหลากสี ลวดลายของการปั้นเป็นรูปของดอกไม้เถาวัลย์อย่างประณีต
นอกจากนี้ ภายในวัดยังมีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่นำไปประกอบศาสนพิธีสำคัญต่างๆ ของไทย และยังเป็นที่ประดิษฐาน ต้นพระศรีมหาโพธิ์ อันนำหน่อมาจาก พุทธคยา ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2549 อีกด้วย
และแน่นอนว่า ยังมี “เสาหงส์” อันเป็นสัญลักษณ์ของวัดมอญตั้งอยู่ภายในวัด ซึ่งเป็นของชาวมอญที่มาจากเมืองหงสาวดี วัดมอญทุกวัดจะต้องมีเสาหงส์เป็นสัญลักษณ์ทั้งในไทยเราและประเทศเมียนมาร์ที่จะเห็นเสาหงส์นี้ตั้งอยู่
สายมูท่านไหนที่ชื่นชอบวัดสวยงาม และความผสมผสานของทั้งศิลปะ วัฒนธรรม รวมไปถึงความเชื่อต่างๆ ต้องหาโอกาสมาไหว้พระขอพรที่วัดป่าฝางแล้ว
ภาพโดย อ.ณัฐ
ที่ตั้ง : 69 ถนนสนามบิน ตำบล พระบาท อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง 52000
Google map : https://goo.gl/maps/gqLXV8wXu11q3CWf7
เวลาเปิด – ปิด : 07.00 – 18.00 น.
เนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
เจดีย์ชเวสิกอง ดุจดั่งทองที่มัดไว้ แห่งเมืองพุกาม ประเทศพม่า
วัดไชยมงคล (วัดจองคา) วิจิตรศิลป์โบราณสถานวัดไทยศิลปะพม่า
วัดพระเจดีย์ซาวหลัง วัดล้านนา – พม่า และที่มาของพระเจดีย์ 20 องค์