ปฐมเทศนา วันอาสาฬหบูชา เวียนเทียน

วันอาสาฬหบูชา วันที่พระรัตนตรัยถือกำเนิดครบทั้ง 3 องค์

วันอาสาฬหบูชา เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี ปีนี้ตรงกับวันอังคารที่ 1 สิงหาคม 2566 ด้วยเกิดเหตุการณ์สำคัญทางพุทธศาสนา 4 ประการ

Home / ธรรมะ / วันอาสาฬหบูชา วันที่พระรัตนตรัยถือกำเนิดครบทั้ง 3 องค์

เชื่อว่าชาวพุทธทุกท่านต้องรู้จักวันอาสาฬหบูชา แต่บางท่านก็อาจจะยังไม่ทราบว่าวันสำคัญทางศาสนานี้มีจุดกำเนิดได้อย่างไร แล้วประเทศไทยเริ่มต้นนำเอาประเพณีนี้เข้ามาตั้งแต่ช่วงไหน MThai จะพาทุกท่านไปไขคำตอบเหล่านี้กัน

วันอาสาฬหบูชา 

วันอาสาฬหบูชา

วันอาสาฬหบูชา เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี ปีนี้ตรงกับวันอังคารที่ 1 สิงหาคม 2566

คำว่า “อาสาฬหบูชา” ประกอบไปด้วยคำ 2 คำ คือ “อาสาฬห” แปลว่า เดือน 8 ทางจันทรคติ กับคำว่า “บูชา” เมื่อนำมารวมกัน คำว่า “อาสาฬหบูชา” จึงแปลว่า “การบูชาในเดือน 8 ” หรือการบูชาเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในเดือน 8 ถือเป็นวันสำคัญยิ่งด้วยเกิดเหตุการณ์สำคัญทางพุทธศาสนา 4 ประการ นั่นคือ

  1. เป็นวันที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก
  2. เป็นวันที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” เป็นครั้งแรก
  3. เป็นวันที่มีพระสงฆ์สาวกรูปแรกในโลก คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ ได้บวชเป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา
  4. จากทั้ง 3 ข้อแรกที่กล่าวมาทำให้ถือว่าเป็นวันแรกที่มีพระรัตนตรัยครบ 3 องค์โดยบริบูรณ์

ด้วยปฐมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่พระปัญจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี หลังจากตรัสรู้ได้ 2 เดือน คือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ซึ่งหลักธรรมของพระพุทธศาสนาทั้งหมด 84,000 พระธรรมขันธ์ ล้วนมีอยู่ในพระสูตรนี้

การปฐมเทศนาของพระพุทธเจ้า ประกอบด้วยเนื้อหา

  1. มัชฌิมาปฏิปทา หรือ ทางสายกลาง คือ การปฏิบัติที่เป็นกลางและถูกต้องเหมาะสม ไม่สุดโต่งไปทางใดทางหนึ่งมากเกินไป โดยพระพุทธเจ้าทรงยกตัวอย่างการดำเนินชีวิต 2 รูปแบบที่สุดโต่ง คือ
  • การประกอบตนให้ลำบากด้วยการทรมานกาย เช่น บำเพ็ญตบะ การทรมานตน หรือการดำเนินชีวิตแบบก่อความทุกข์ให้ตนเอง เหนื่อยแรงกาย แรงสมอง แรงความคิด
  • การประกอบตนให้เพลิดเพลินในกามสุข มัวเมาในรูป รส กลิ่น เสียง

    และเพื่อหลีกเลี่ยงการดำเนินชีวิตอันสุดโต่งเหล่านี้ จึงต้องใช้ หลักทางสายกลางในการดำเนินชีวิต ซึ่งมีหลักปฏิบัติ 8 ประการ ที่เรียกว่า อริยอัฏฐังคิกมัคค์ หรือ มรรคมีองค์ 8 ได้แก่
  1. สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ
  2. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ
  3. สัมมาวาจา เจรจาชอบ
  4. สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบ
  5. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ
  6. สัมมาวายามะ เพียรชอบ
  7. สัมมาสติ ระลึกชอบ
  8. สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ

    2. อริยสัจ 4 หรือ ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ ที่เรียกว่า ได้แก่
  • ทุกข์ คือ สภาพที่ทนได้ยาก สภาพที่ไม่เป็นสุข
  • สมุทัย คือ เหตุแห่งทุกข์
  • นิโรธ คือ การดับทุกข์
  • มรรค คือ ทางไปสู่การดับทุกข์

โดยหลักธรรมของอริยสัจ 4 นี้ เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ชี้ให้เห็นถึงความจริงของชีวิต และหนทางแห่งการหลุดพ้นจากทุกข์

ปฐมเทศนา

ซึ่งผลของพระธรรมเทศนากัณฑ์นี้ เป็นเหตุให้ พระอัญญาโกณฑัญญะ ได้มีดวงตาเห็นธรรม สำเร็จเป็นพระโสดาบัน จึงขอบรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุองค์แรกของ พระพุทธศาสนา เป็นคนแรกที่รับรู้ ยอมรับการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เดิม ชื่อ โกณฑัญญะ คำว่า อัญญา ได้เพิ่มขึ้นมาในภายหลังที่ได้ฟังธรรมกับพระพุทธเจ้า และทำให้พระรัตนตรัยครบองค์ 3 คือ พระพุทธ พระธรรม และ พระสงฆ์ ในวันนี้นั่นเอง

ที่มาของวันอาสาฬหบูชาในประเทศไทย 

พิธีวันอาสาฬหบูชา เริ่มกำหนดเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2501 โดยพระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี) ครั้งดำรงตำแหน่งสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การศึกษา ได้เสนอคณะสังฆมนตรีให้เพิ่มวันศาสนพิธีทำพุทธบูชาขึ้น อีกวันหนึ่ง คือ วันธรรมจักร หรือ วันอาสาฬหบูชา ด้วยเป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมจักกัปปวัตนสูตร โดยออกเป็นประกาศคณะสงฆ์ เรื่อง กำหนดวันสำคัญทางศาสนา เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2501 และในวันเดียวกันนั้นได้มีประกาศสำนักสังฆนายก กำหนดระเบียบปฏิบัติในพิธีอาสาฬหบูชาขึ้นไว้ให้วัดทุกวัดถือปฏิบัติทั่วกัน

เวียนเทียน

ประเพณีการเวียนเทียนในวันอาสาฬหบูชา

การเวียนเทียนในวันอาสาฬหบูชา คือ การเดินเวียนรอบปูชนียสถาน เรียกว่า เวียนประทักษิณาวัตร ซึ่งเป็นอิทธิพลที่รับมาจากอินเดีย เพื่อแสดงความเคารพบูชาพระรัตนตรัย

โดยมากมักจะเดินรอบพระอุโบสถหรือพระพุทธรูป พร้อมธูป เทียนและดอกไม้ไว้ในมือ เพื่อเป็นเครื่องสักการะบูชา
3 รอบ ขณะเดินพึงตั้งจิตให้สงบพร้อมสวดระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ เพื่อเพิ่มกุศลบุญให้แก่ตนเอง

เมื่อรู้ที่มาที่ไปของวันอาสาฬหบูชาแล้ว ชาวพุทธท่านไหนที่ตั้งใจไว้ว่าปีนี้จะเข้าวัดทำบุญ ก็อย่าลืมเตรียมของให้พร้อม แล้วไปทำบุญกันเถอะ!

ขอขอบคุณภาพประกอบสวยๆ จาก T : Prompt

เนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

บทสวดเวียนเทียน 3 รอบ (พร้อมคำแปล)

วันมาฆบูชา พร้อม ความหมายของการเวียนเทียน และ การเตรียมตัวก่อนเข้าพิธี

วิธีทำบุญเสริมดวง “วันเข้าพรรษา” ตามวันเกิด เสริมสิริมงคล โชคลาภ