หลายท่านคงทราบกันเป็นอย่างดีว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภกจึงทำให้พื้นที่โดยรอบเกาะรัตนโกสินทร์เต็มไปด้วยวัดวาอารามที่สวยงาม ซึ่งวัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหารก็เป็นอีกหนึ่งวัดที่พระองค์ทรงดำริให้สร้าง ก่อนที่พระองค์จะเสด็จสวรรคตไปนั่นเอง
วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร
วัดมกุฏกษัตริยาราม วัดสุดท้ายที่รัชกาลที่ 4 ทรงสร้างก่อนเสด็จสวรรคต โดยวัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร เป็น 1 ใน 5 พระอารามหลวงสำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยความที่เป็นวัดหลวง แต่ละคำของชื่อวัดจึงสอดแทรกไปด้วยความหมายตามนี้
“มกุฎกษัตริยาราม” แปลว่า พระอารามของกษัตริย์ที่มีพระนาม
“มงกุฎ” เพราะพระนามเดิมของพระองค์ คือ “เจ้าฟ้ามงกุฎ”
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ในปี พ.ศ. 2394 ทรงมีพระราชดำริว่ากำแพงเมืองและคลองบางลำพูซึ่งขุดขึ้นเป็นคูเมืองในเวลานั้นยังคับแคบและกระชั้นชิดกับพระบรมมหาราชวังเกินไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเป็นคูเมืองชั้นนอก คือ ปากคลองทิศใต้ออกริมวัดแก้วฟ้า ปากคลองทิศเหนือออกริมวัดสมอแครง (วัดเทวราชกุญชร ในปัจจุบัน) ซึ่งวัดแห่งนี้ยังได้ถูกสร้างขึ้นมาคู่กับวัดโสมนัสอีกด้วย
อาคารสำคัญในวัดได้แก่ พระวิหาร และพระอุโบสถ มีลายพระมหามงกุฏอันเป็นตราประจำรัชกาลที่ 4 ทั้งที่หน้าบันและด้านบนของซุ้มประตูหน้าต่างเช่นเดียวกัน ผนังด้านในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมอันหลากหลายแตกต่างจากวัดอื่น เช่น เรื่องพระสาวกในบาลีและอรรถกถา พระอัครสาวก 11 พระองค์ อัครสาวิกา 8 องค์ ภาพการบำเพ็ญกรรมฐาน สิ่งที่พึ่งปฏิบัติเนื่องด้วยธรรมวินัย ธุดงควัตร บนบานหน้าต่างและบานประตูด้านในเขียนพระสูตรที่เป็นคาถาด้วยตัวอักษรบรรจง เป็นต้น
พระวิหาร
พระวิหารเป็นที่สวดมนต์ทำวัตรเช้าเย็น ตามบทพระนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงผนวช พระวิหารสร้างเป็นอาคารทรงไทยก่ออิฐถือปูน ขนาด 7 ห้อง หลังคาลด 2 ตอนทั้งด้านหน้าและด้านหลัง และยังเป็นที่สำหรับรับผ้าพระกฐินอีกด้วย ตรงกลางหน้าบันตกแต่งลวดลายปูนปั้นปิดทองประดับกระจกสีเป็นรูปพระมหามงกุฏ ขนาบด้วยฉัตร 5 ชั้น ล้อมรอบด้วยลายกระหนกก้านขดช่อหางโต ในลักษณะพระราชลัญจกรของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซู้มประตูหน้าต่างมีลักษณะเช่นเดียวกับหน้าบัน แต่เบื้องกลางมีอุณาโลมประดิษฐานบนพานแว่นฟ้าเหนือช้างไอยราคต 3 เศียร ขนาบด้วยฉัตรประดับ 7 ชั้น บานประตูและหน้าต่างด้านนอกเขียนลายรดน้ำในลักษณะเดียวกันกับลายในซุ้มประตูและหน้าต่าง ผนังด้านในเขียนภาพจิตรกรรมเป็นภาพพระอริยสงฆ์สาวก ภาพธุดงควัตร บำเพ็ญกรรมฐาน ภาพปริศนาธรรม
พระพุทธวชิรมงกุฎ พระประธานในพระวิหาร
พระประธานภายในพระวิหารหลวงเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ลงรักปิดทอง ประดิษฐานในบุษบกฐานชุกชีหินอ่อน กล่าวกันว่า สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) วัดโสมนัสวิหาร มาเป็นประธานในการหล่อ และเดิมทีพระประธานองค์นี้ไม่ได้มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการ ต่อมาสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (จวน อุฏฺฐายี) จึงได้ถวายพระนามว่า ‘พระพุทธวชิรมงกุฏ’ จึงเรียกสืบทอดกันมาจนในปัจจุบัน
พระเจดีย์คู่วัด
พระเจดีย์ประธานของวัดนี้มีขนาดใหญ่และตั้งอยู่ในตำแหน่งสำคัญ คือ อยู่กึ่งกลางของแผนผัง รายล้อมด้วยวิหารคด พระวิหารขนาดใหญ่ตั้งอยู่ด้านหน้าของพระเจดีย์ และพระอุโบสถซึ่งมีขนาดเล็กตั้งอยู่ทางด้านหลัง เป็นแผนผังของ
การจัดวางคล้ายกับแผนผังพุทธสถานที่สุโขทัย อยุธยา และล้านนา จึงทำให้พระเจดีย์ของวัดนี้เป็นการผสมผสานการออกแบบที่ลงตัว
หากใครที่ต้องการไปเยี่ยมชมวัดเก่าแก่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ ที่เต็มไปด้วยความสวยงามและประวัติศาสตร์เก่าแก่ ต้องอย่าลืมแวะมาที่วัดมกุฏกษัตริย์ฯ
ภาพโดย MTHAI TEAM
ที่ตั้ง : 330 ถ. กรุงเกษม แขวงบางขุนพรหม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
Google map : https://goo.gl/maps/xeQcNwTzjHT73ndV8
เวลาเปิด – ปิด : 07.00 น. – 19.00 น.
เนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร วัดสุดท้ายในพระราชศรัทธาล้นเกล้ารัชกาลที่ 3
วัดโสมนัสราชวรวิหาร อนุสรณ์แห่งความรักในรัชกาลที่ 4
โลหะปราสาท แห่งเดียวของโลกที่ยังเหลืออยู่ ณ วัดราชนัดดารามวรวิหาร