การจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ณ พระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร และวันนี้ Travel.MThai ก็มีสถานที่สำคัญต่างๆ ที่ใช้ประกอบพระราชพิธี มาให้เพื่อนๆ ได้ทราบเป็นความรู้กัน
12 สถานที่สำคัญ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 10
1. วัดสุทัศน์เทพวรารามราชวรมหาวิหาร
วัดสุทัศนเทพวราราม หรือที่นิยมเรียกสั้นๆ ว่า วัดสุทัศน์ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร ที่มีอยู่เพียงไม่กี่แห่งของประเทศไทย และถือเป็นวัดประจำรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร
วัดนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 แห่งพระบรมราชวงศ์จักรี โปรดเกล้าให้สถาปนาขึ้น แต่ทรงสร้างค้างไว้แต่เพียงรากพระวิหาร ถึงรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างใหม่ทั้งอาราม และในรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิสังขรณ์เพิ่มเติมอีก
โดยในวันพฤหัสบดีที่ 18 เมษายน 2562 วัดแห่งนี้จะเป็นสถานที่สำคัญในการเสกน้ำอภิเษกรวมจาก กรุงเทพมหานคร และ 76 จังหวัดทั่วประเทศ
2. วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือภายในพระบรมมหาราชวัง ตามแบบแผนการสร้างพระบรมมหาราชวังแต่ครั้งโบราณ เป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือ พระแก้วมรกต เรียกโดยทั่วไปว่า วัดพระแก้ว มีเฉพาะเขตพุทธาวาส
วัดพระแก้ว เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญของบ้านเมือง รวมถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก อาทิ การจารึกพระสุพรรณบัฏและการแกะพระราชลัญจกร ในวันอังคารที่ 23 เมษายน 2562
3. พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
ลักษณะเป็นพระมหาปราสาทจตุรมุข ตั้งอยู่เบื้องตะวันตกของเขตพระราชฐานชั้นกลางในพระบรมมหาราชวัง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างขึ้นเมื่อ พุทธศักราช 2332 ทดแทนพระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท ภายหลังใช้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมศพและพระศพจนเป็นธรรมเนียม
ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จกราบถวายบังคมและสดับปกรณ์พระบรมอัฐิและพระอัฐิสมเด็จพระบรมราชบุพการีที่พระที่นั่งนี้
4. หมู่พระมหามณเฑียร
คือกลุ่มพระที่นั่งหลังคาทรงจั่ว สร้างเชื่อมพระที่นั่งประธานสามหลังประกอบไปด้วย พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระที่นั่งไพศาลทักษิณและพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ตั้งอยู่เบื้องตะวันออกของเขตพระราชฐานชั้นกลางและเขตพระราชฐานชั้นในของพระบรมมหาราชวัง
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างขึ้นเมื่อ พุทธศักราช 2328 เพื่อใช้เป็นที่ประทับและเสด็จออกว่าราชการ ตั้งแต่รัชกาลที่ 2 เป็นต้นมา ได้ถูกใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
5. พระที่นั่งไพศาลทักษิณ
พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ตั้งอยู่กลางระหว่างท้องพระโรงหน้าของพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน กับ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย มีลักษณะเป็นพระที่นั่งโถงยาว ยกพื้นสูง ทอดยาวไปตามทิศตะวันออก – ทิศตะวันตก ผนังด้านทิศเหนือประดิษฐานพระสยามเทวาธิราช ด้านหลังพระวิมานเป็นพระทวารเทวราชมเหศวร ซึ่งเป็นทางเสด็จพระราชดำเนินของพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ
พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เป็นสถานที่สำคัญในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก อาทิ การบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2562 และการเชิญพระสุพรรณบัฎ ดวงพระราชสมภพ และพระราชลัญจกร ในวันที่ 3 พฤษภาคม 2562
6. พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน
พระที่นั่งสาคัญในหมู่พระมหามณเฑียร ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นใน ประกอบด้วยอาคาร 3 หลังเรียงต่อกันในแนวตะวันออก – ตะวันตก เป็นพระวิมานที่ประทับของพระมหากษัตริย์ จึงใช้พระที่นั่งองค์นี้ สำหรับประกอบพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร อันเกี่ยวเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ปัจจุบันพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานเป็นที่ประดิษฐานเครื่องราชกกุธภัณฑ์ พระแสงและเครื่องราชูปโภค
7. พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์
พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ เป็นพระแท่น พระที่นั่ง หรือพระราชอาสน์ ทำจากไม้อุทุมพร หรือ “มะเดื่อ” ทรงแปดเหลี่ยม จึงเรียกว่า “พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์”
สลักปิดทองประดับกระจก กางกั้นด้วยพระบวรเศวตฉัตรหรือสัปตปฎลเศวตฉัตร หรือฉัตรขาว 7 ชั้น ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ด้านมุขตะวันออกในพระบรมมหาราชวัง สำหรับพระมหากษัตริย์ เสด็จขึ้นประทับรับน้ำอภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
- เกร็ดความรู้
พระที่นั่ง “อัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์” มาจากคำว่า
คำว่า “อัฐ” แปลว่า แปด
คำว่า “ทิศ” แปลว่า ด้าน, ข้าง, ทาง, เบื้อง
คำว่า “อุทุมพร” แปลว่า ชื่อมะเดื่อชนิดหนึ่ง
คำว่า “ราช” แปลว่า พระมหากษัตริย์
คำว่า “อาสน์” แปลว่า ที่นั่ง
8. พระที่นั่งภัทรบิฐ
พระที่นั่งภัทรบิฐ ประดิษฐานอยู่เบื้องตะวันตกเฉียงเหนือในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ลักษณะเป็นพระเก้าอี้ถมทอง พนักและเท้าแขนต่อเนื่องกันเป็นกงแบบเก้าอี้จีน เบื้องหลังปักนพปฎลมหาเศวตรฉัตร สร้างขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระมหากษัตริย์ เมื่อทรงรับน้ำอภิเษกที่พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์แล้ว เสด็จพระราชดำเนินประทับพระที่นั่งภัทรบิฐ ทรงรับการถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ พระแสงอัษฎาวุธ เครื่องราชูปโภคและราชสมบัติ
9. พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน
พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เป็นท้องพระโรงสำคัญในพระราชพิธีสำคัญของบ้านเมือง อาทิ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ตลอดจนเสด็จออกรับทูตต่างประเทศที่เข้ามาเจริญพระราชไมตรีในสมัยต้นรัตนโกสินทร์
พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย มีลักษณะเป็นท้องพระโรงโถง ยกพื้นสูง มีมุขสองข้างทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ที่ปลายสุดของท้องพระโรงเป็นที่ประดิษฐานพระที่นั่งบุษบกมาลามหาจักรพรรดิพิมาน เป็นที่ประดิษฐานพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร
10. วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร
วัดโพธิ์ หรือนามทางราชการว่า วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหา เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก และเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรี เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาวัดโพธารามวัดเก่าที่เมืองบางกอกครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นวัดหลวงข้างพระบรมมหาราชวัง ที่ใต้พระแท่นประดิษฐานพระพุทธเทวปฏิมากรพระประธานในพระอุโบสถ เป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของพระองค์ท่านไว้
11. วัดบวรนิเวศวิหารเป็นพระอารามหลวง
โดยในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก วัดโพธิ์ จะเป็นสถานที่สำคัญอีกหนึ่งแห่งในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค
วัดบวรนิเวศวิหารเป็นพระอารามหลวง ชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร แต่เดิมเป็นวัดที่สร้างขึ้นใหม่ ตั้งอยู่ใกล้กับวัดรังสีสุทธาวาส ต่อมา กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ ในรัชกาลที่ 3 ได้รวมวัดทั้ง 2 เข้าเป็นวัดเดียว
โดยในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก วัดบวรนิเวศวิหาร จะเป็นสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค
12. วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร วัดประจำรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 7 โดยรัชกาลที่ 5 โปรดให้สร้างเพื่อเป็นวัดประจำรัชกาลของพระองค์ เริ่มก่อสร้าง เมื่อปี พ.ศ. 2412
วัดราชบพิธ ฯ สร้างโดยเลียนแบบจาก 2 วัด คือวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีดาราม ซึ่งเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 4 และวัดพระปฐมเจดีย์บริเวณวัดนี้เดิมเป็นวังของพระบรมวงศ์เธอกรมหลวงบดินทร ไพศาลโสภณ
ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก วัดราชบพิธฯ จะเป็นสถานที่สำคัญอีกหนึ่งแห่งในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค
ที่มาและภาพ : ฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก , commons.wikimedia