วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จังหวัดเชียงใหม่
วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1888 โดยพญาผายู กษัตริย์เชียงใหม่ องค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์มังราย พญาผายูได้นำอัฐิ พญาคำฟู ผู้เป็นราชบิดา ซึ่งครองอยู่เมืองเชียงแสนมาบรรจุในสถูปประดิษฐานไว้ ณ ที่แห่งนี้ แล้วสร้างขึ้น เดิมทีเรียกวัดแห่งนี้ว่า วัดลีเชียงพระ เพราะที่บริเวณหน้าวัดเป็นสถานที่ค้าขายของชาวเมือง จนกลายเป็นตลาดลีเชียงพระ และเรียกชื่อวัดว่า “วัดลีเชียงพระ
ต่อมาราว พ.ศ. 1943 เจ้ามหาพรหม กษัตริย์เมืองเชียงราย ได้อัญเชิญ พระพุทธสิหิงค์ หรือพระสิงห์ ซึ่งได้มาจากเมืองกำแพงเพชร นำมาถวายพญาแสนเมืองมากษัตริย์เชียงใหม่ พญาแสนเมืองมาได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์หรือพระสิงห์ประดิษฐานไว้ที่วัดลีเชียงพระ ประชาชนจึงเรียกวัดลีเชียงพระว่า”วัดพระสิงห์” นับตั้งแต่นั้นมา
วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ ยกฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2483 ตรงกับรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8
โดยภายในวัดเป็นที่ประดิษฐานของศาสนวัตถุและศาสนสถานสำคัญมากมาย หลักๆ สำหรับผู้ที่เกิดปีมะโรงต้องมากราบสักการะ พระมหาเจดีย์ธาตุ พระธาตุปีมะโรงกันที่นี่สักครั้งในชีวิตค่ะ
พระมหาธาตุเจดีย์ (พระธาตุหลวง) สูง 25 วา ฐานสี่เหลี่ยมยาวด้านละ 16 วา 1 ศอก 6 นิ้ว ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวว่าเป็นที่บรรจุพระเกศาธาตุ เป็นพระธาตุประจำปีนักษัตรปีมะโรง พญาผายูทรงสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1888 ต่อมาระหว่าง พ.ศ. 2101- 2317 เชียงใหม่ตกอยู่ในอำนาจของพม่าวัดพระสิงห์ ขณะนั้นมีสภาพเป็น วัดร้าง อยู่ในสภาพเสื่อมโทรม จนถึง พ.ศ. 2469 พระราชชายาเจ้าดารารัศมี และเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ และครูบาศรีวิชัย ได้นำประชาชนร่วมกันบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะและเสริมสร้างพระธาตุเจดีย์ให้สูงใหญ่
พระวิหารลายคำ สร้างขึ้นสมัยของพญาธรรมลังกาหรือพระเจ้าช้างเผือก ระหว่าง พ.ศ. 2358-2364 เป็นสถานที่ประดิษฐานของพระพุทธสิหิงค์ พระวิหารลายคำสร้างเป็นศิลปะล้านนากว้าง 8 เมตร ยาว 30 เมตร มีช่อฟ้า ใบระกา หลังคามุงกระเบื้อง ดินเผาที่มีความสวยงามมาก ได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่น มีลวดลายทองล่องชาด เทคนิคการฉลุลายปรากฏบนฝาผนังหลังพระประธาน และเสากลางวิหารและเสาระเบียงด้านหน้าพระวิหาร ตลอดถึงบางส่วนของโครงไม้ บนฝาผนังภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง เรื่อง สังข์ทองและสุวรรณหงส์ เขียนด้วยสีฝุ่นมีความงดงามมาก
จิตรกรรมฝาผนังในพระวิหารลายคำ
ความวิจิตรภายในพระวิหารลายคำที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์
นอกจากนี้ พระพุทธรูปสำคัญ ได้แก่ พระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปโบราณหล่อด้วยสำริดหุ้มทอง ปางสมาธิ สูง 79 เซนติเมตร หน้า ตักกว้าง 63 เซนติเมตร เป็นศิลปะแบบลังกา อันประดิษฐานอยู่เพียง 3 องค์ในไทย และหนึ่งในสามองค์นั้นก็ประดิษฐานอยู่ที่วัดแห่งนี้นั่นเอง
ตามประวัติกล่าวว่าพระพุทธสิหิงค์สร้างขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 700 โดยกษัตริย์ลังกา 3 พระองค์และพระอรหันต์ 20 รูป เป็นผู้สร้าง จนในปีพ.ศ. 1931 พระเจ้าแสนเมืองมา ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ ประดิษฐานที่วัดลีเชียงพระ (วัดพระสิงห์) ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในพระวิหารลายคำ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร เทศกาลสงกรานต์ทุกปีมี พิธีอาราธนาอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ออกแห่ ให้ประชาชนได้สรงน้ำสักการบูชา เป็นเวลา 3 วัน 3 คืน
คำไหว้พระพุทธสิหิงค์
(นะโม 3 จบ)
อิติ ปะวะระ สิงหิงโค อุตตะมะยะโสปิ เตโช
ยัตถะ กัตถะ จิตโตโส สักกาโร อุปะโท
สะกาละ พุทธะสาสะนัง โชตะยันโตวะ ทีโป
สุระนะเรหิ มะหิโต ธะระมาโนวะ พุทโธติ
หลวงวิจิตรวาทการ ผู้รวบรวมประวัติตำนานย่อพระพุทธสิหิงค์ได้กล่าวไว้ความตอนหนึ่งว่า “ข้าพเจ้าผู้เขียนตำนานย่อฉบับนี้มีความเชื่อมั่นในอานุภาพของพระพุทธสิหิงค์อยู่มาก อย่างน้อยก็สามารถบำบัดทุกข์ร้อนในใจให้เหือดหาย ผู้ใดมีความทุกข์ร้อนในใจท้อถอยหมดมานะด้วยเหตุหนึ่งเหตุใด ข้าพเจ้าขอแนะนำให้มาจุดธูปเทียนบูชาและนั่งนิ่งๆ มองดูพระองค์สัก 10 นาที ความทุกข์ร้อนในใจจะหายไป ดวงจิตที่เหี่ยวแห้งจะกลับมาสดชื่น หัวใจที่ท้อถอยหมดมานะจะกลับเข้มแข็งมีความมานะพยายาม ดวงจิตที่หวาดกลัวจะกลับกล้าหาญ ดวงจิตที่เกียจคร้านจะกลับขยัน ผู้ที่หมดหวังจะกลับมีหวัง”
การมีพระพุทธสิหิงค์ไว้เคารพบูชา ก็หมายถึงพระพุทธศาสนาได้เป็นที่เคารพบูชาในดินแดนแถบนั้น ดังข้อความของพระโพธิรังสี กล่าวไว้ว่า “พระพุทธสิหิงค์เมื่อประทับอยู่ ณ ที่ใด ย่อมทรงทำให้พระพุทธศาสนารุ่งเรืองดั่งดวงประทีปชัชวาล เหมือนหนึ่งว่าพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่”
เมื่อถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์หรืองานประเพณีปี๋ใหม่เมือง ทางราชการ จึงได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ขึ้นประดิษฐานบนรถบุษบกแห่ไปรอบเมืองเพื่อให้ศรัทธา ประชาชนได้พากันมาสรงน้ำเนื่องในเทศกาลปีใหม่ ตามคติล้านนา คนเกิดปีมะโรงต้องมาไหว้พระสิงห์ให้ได้สักครั้งหนึ่งในชีวิต
นอกจากนี้จะมีปูชนียวัตถุและปูชนียสถานอีกมากมายภายในวัด อาทิเช่น พระวิหารหลวงเป็นที่ประดิษฐานพระศรีสรรเพชญ, พระพุทธไสยาสน์, พระเจ้าทองทิพย์ประดิษฐานอยู่ภายในพระอุโบสถสองสงฆ์, กู่มณฑปปราสาท, กู่อัฐิของพญาคำฟู, อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย,อนุสาวรีย์พญามังราย ฯลฯ ซึ่งทุกท่านสามารถเข้ามากราบสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ นั่งสมาธิ สวดมนต์ภายในวัดได้ทุกวันในเวลาทำการค่ะ
ภาพโดย กัญญาภัทร สุขสมาน
ที่อยู่ : เลขที่ 2 ถนนสามล้าน ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
Google map : https://maps.app.goo.gl/EQ1Dzsh88U7nQAEP8
เวลาทำการ : 09.00 น. – 18.00 น.
เนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ปีใหม่ กราบพระพุทธสิหิงค์ ชมภาพเทพชุมนุม ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์
“พระธาตุลำปางหลวง” ไหว้พระธาตุปีฉลู เสริมสิริมงคล เพิ่มความปังให้ชีวิต
วธ.เปิดเส้นทางสักการะพระธาตุประจำปีเกิด หนุน soft power ผ่านเส้นทางท่องเที่ยว