กาลครั้งหนึ่ง ประวัติศาสตร์ อยุธยา

อโยธยา : [EP. 3] ยุแยง – จราจล – กวาดล้างชาวญี่ปุ่น สู่ความร้าวฉานระหว่างสยาม – ญี่ปุ่น

เมื่อชาวญี่ปุ่นเป็นหอกข้างแคร่ จึงจำเป็นต้องกำจัด และนั่นนำไปสู่สัมพันธไมตรีที่ตกต่ำระหว่างอโยธยา - ญี่ปุ่น

Home / TELL / อโยธยา : [EP. 3] ยุแยง – จราจล – กวาดล้างชาวญี่ปุ่น สู่ความร้าวฉานระหว่างสยาม – ญี่ปุ่น

ประเด็นน่าสนใจ

ความเดิมจาก EP.2 …

ในช่วงปลายสมัยสมเด็จพระอาทิตยวงศ์ แห่งราชวงค์สุโขทัยที่มีความวุ่นวายเกิดขึ้นในราชสำนักสืบเนื่องต่อกันมาโดยตลอดหลังจากสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมสวรรคต และราชบัลลังก์ถูกส่งต่อให้กับพระราชโอรสทั้ง 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระเชษฐาธิราช ที่มีพระชนมายุได้ 15 พรรษา ก่อนถูกสำเร็จโทษโดยจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ และให้สมเด็จพระอาทิตยวงศ์ ที่มีพระชนมายุเพียง 9 พรรษา

ซึ่งแน่นอนว่า ด้วยวัยเพียง 9 พรรษา ย่อมไม่สามารถว่าราชการ งานเมืองต่าง ๆ ได้ ทำให้บรรดาเสนา อำมาตย์ในราชสำนักตัดสินใจ ในการเจ้าพระยากลาโหมฯ ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนฯ ขึ้นครองราชย์ แทน และนั่นเป็นเหตุให้มีการนำไปสู่การวางแผนขจัดหอกข้างแคร่อย่าง ออกญาเสนาภิมุข (ยามาดะ นางามาซะ) เสียก่อน แม้ว่า ทั้งออกญาเสนาภิมุข (ยามาดะ นางามาซะ) และเจ้าพระยากลาโหมฯ จะได้รับความไว้วางใจจากพระเจ้าทรงธรรม และร่วมงานกันให้สมเด็จพระเชษฐาธิราช ได้สืบราชสมบัติต่อจากพระบิดามาก่อนก็ตาม

เหตุผลหลัก ๆ สำคัญ ที่จำเป็น คือ

  • ออกญาเสนาภิมุข (ยามาดะ นางามาซะ) มีบรรดาศักดิ์-บารมีอยู่ในราชสำนัก และมีความจงรักภักดีต่อพระเจ้าทรงธรรมอย่างมาก และเชื่อว่า การสืบราชบัลลังก์นั้น จะต้องเป็นไปตามการสืบสัตติวงศ์ตามราชประเพณีเท่านั้น
  • กองกำลังอาสาชาวญี่ปุ่น ในสมัยอยุธยา ถือเป็นหนึ่งในกองกำลังที่กำลังรบ มีประสิทธิภาพ มีความสามารถมากกองกำลังหนึ่ง ตั้งแต่ครั้งเข้าร่วมในศึกยุทธหัตถี สมัยสมเด็จพระนเรศวร มีความจงรักภักดีต่อผู้เห็นนาย ยากที่จะเปลี่ยนแปลง ตามวิถีของนักรบซามูไรตามหลัก “บูชิโด”
  • มีความสัมพันธ์กับพ่อค้าชาวญี่ปุ่นเป็นอย่างดี ในการดูแลการค้ากับพ่อค้าชาวญี่ปุ่น รวมถึงพ่อค้าจากมะละกา และถือเป็นตัวแทนทางการค้าจากประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย
ดาบสไตล์ญี่ปุ่น ใน Tokyo National Museum

ด้วยเหตุผลหลัก ๆ 3 ประการนี้ ทำให้เจ้าพระยากลาโหมฯ ต้องนำอุบายต่าง ๆ มาใช้เพื่อมิให้เกิดปัญหาในการผลัดเปลี่ยนราชวงค์ และสถาปนาตนเองขึ้นไป สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เพราะตัวของออกญาเสนาภิมุขเองก็ไม่ได้เห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าว ตามที่ได้มีบันทึกไว้ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับวันวลิต กล่าวถึงในช่วงของการสถาปนาพระอาทิตย์วงศ์ ระหว่างพระยากลาโหม และ ออกญาเสนาภิมุขว่า

ครั้นคืนเดือนมืด เจ้าพระยากลาโหมพร้อมออกญาพระคลัง ลงเรือนไปยังบ้านออกญาเสนาภิมุข โดยมิได้ให้ข้าทาสคนใดติดตามไปด้วย พระยากลาโหมปรึกษาว่า ราชอาณาจักรที่จะดำรงคงอยู่โดยมิมีพระมหากษัตริย์ทรงปกปักษ์รักษานั้นไม่ได้ พระราชอนุชาของพระเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตไปนั้นเล่า ก็ล้วนแต่ยังทรงพระเยาว์ ครั้นจะอัญเชิญเสด็จขึ้นครอบครองราชย์สมบัติ เกรงว่าจะมีภัยแก่บ้านเมือง ขอให้ออกญาเสนาภิมุขพิเคราะห์ว่า ควรคัดเลือกขุนนางผู้ใหญ่คนใดคนหนึ่งขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินชั่วคราวก่อนหรือไม่

คำปรึกษาดังกล่าวที่เจ้าพระยากลาโหม กล่าวน้น ทำให้ออกญาเสนาภิมุขรู้ในความหมายของการหยั่งเชิงถามถึงความเห็นในการที่จะให้ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินแทน ซึ่งนั่นก็มีเพียงเจ้าพระยากลาโหมฯ เท่านั้น ออกญาเสนา หรือยามาดะจึงได้ตอบกลับว่า

ถึงคราวจำเป็นต้องตั้งขุนนางผู้ใหญ่ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ก็คงจะมีผู้เลือกเจ้าพระยากลาโหมเป็นมั่นคง ด้วยเป็นขุนนางผู้ใหญ่ มีอำนาจ ไม่ผู้ใดสมควรไปกว่านี้ แต่ประชาชนก็จะมีข้อครหาได้ แลจะเข้าใช้ว่า เพราะอำนาจอันมิชอบ หากเป็นขุนนางท่านอื่น ก็เกรงว่า จะยึดเอาราชสมบัติไว้เป็นของตน

อีกทั้งพระราชาแห่งพระนครศรีอยุธยาได้ถูกสำเร็จโทษ ก็เกรงว่าจะกลายเป็นเหตุให้เกิดรบรา แย่งชิงอำนาจกัน จึงควรอัญเชิญพระอนุชาของพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาขึ้นสืบราชสมบัติ แลเจ้าพระยากลาโหมเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ด้วยมีความสามารถ….

ภาพโปสเตอร์หนังเกี่ยวกับประวัติของยามาดะ ในญี่ปุ่น

มอบหน้าที่ – วางสตรีในอุบาย – ใช้ยาพิษ

จากความเห็นดังกล่าว ก็จะเห็นว่า ออกญาเสนาภิมุข (ยามาดะ นางามาซะ) ยังคงเห็นสมควรให้มีสืบราชสมบัติต่อให้กับสมเด็จพระอาทิตยวงศ์ต่อไป และตามบันทึกยังระบุอีกว่า ออกญาเสนาภิมุขได้กล่าวว่า “หากอยุธยายังมีขัตติยวงศ์ ผู้มีสิทธิ์สืบราชสมบัติอยู่จะมิยอมให้ผู้อื่นได้ราชสมบัติเป็นเด็ดขาด”

ในข้อนี้ทำให้เจ้าพระยากลาโหมฯ จำเป็นที่จะต้องขจัดออกญาเสนาภิมุขเสียก่อน แต่ไม่สามารถใช้กำลังโดยตรงได้ จึงจำเป็นต้องใช้อุบาย โดยมอบหมายงานให้ไปปราบเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ในข้อหาเป็นกบฏ ทำให้ออกญาเสนาภิมุข จำเป็นต้องนำกองกำลังอาสาญี่ปุ่น ลงไปยังเมืองนครศรีธรรมราช เพื่อเข้าปราบปราม แต่แน่นอนว่า ด้วยเดิมที่แล้ว เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชมิได้ต้องการก่อกบฏ เพียงแค่ไม่ได้เดินทางไปร่วมในเข้าพิธีถวายน้ำพระพิพัฒน์สัตยาที่กรุงศรีอยุธยา ด้วยติดพันการศึกที่หัวเมืองทางใต้ ทำให้ไม่ได้มีการต่อต้านจากเมืองนครศรีธรรมราชแต่อย่างใด

ภาพวาดของชาวญี่ปุ่น เกี่ยวกับออกญาเสนาภิมุข หรือยามาดะ
นำกองกำลังทหารญี่ปุ่นในศึกที่ปัตตานี

จากความสำเร็จที่เกิดขึ้น เจ้าพระยากลาโหมฯ จึงได้แต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชขึ้นแทน พร้อมกันนี้ ได้มอบของกำนัลหญิงงามคนหนึ่งเป็นภรรยา ซึ่งตัวของออกญาเสนาภิมุขนั้นมีภรรยาและบุตรชาย ชื่อว่าโออิน อยู่ก่อนแล้ว ส่วนเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชคนเก่า ได้รับมอบหมายให้เป็นที่ปรึกษา (บ้างว่าเพราะเจรจาขอชีวิต, บางว่าเป็นอุบาย เนื่องจากหนังสือลับจากออกญาพระคลัง ว่า เจ้าพระยากลาโหมจะคืนตำแหน่งให้หลังสังหารยามาดะได้) แต่ก็มีตามบันทึกระะบุว่า แม้จะไม่มีการต่อต้าน แต่ผู้ที่มีท่าทีกระด้างกระเดื่อง หรือมีท่าทีที่จะก่อกบฏก็ถูกลงโทษทั้งยึดทรัพย์และประหาร

แต่ในขณะเดียวกัน ออกญาเสนาภิมุขไม่ได้อยู่ในเมืองนครศรีธรรมราช ในช่วงที่ของกำนัลจากอยุธยามาถึง แต่อยู่ระหว่างการคุมกองกำลังรบอยู่ที่เมืองปัตตานี และถูกอาวุธบาดเจ็บต้องกลับมารักษาตัวที่เมืองนครศรีธรรมราช เมื่อกลับมาถึงก็ได้รับทราบถึงการปูนบำเหน็จความดีความชอบนี้ พร้อมกับรับทราบว่า เจ้าพระยากลาโหมฯ ได้สถาปนาตนเองขึ้นเป็นพระเจ้าปราสาททองแล้ว

แม้ว่า ออกญาเสนาภิมุขจะไม่พอใจในครั้งแรก แต่ก็ยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นก็ตาม และจากด้วยท่าทีไม่พอใจนั้น จึงทำให้ ออกญาเสนาภิมุข หรือยามาดะ ถูกวางยาพิษในช่วงนี้เอง ตามบันทึกและพงศาวดารต่าง ๆ มีความคลุมเครือไม่ชัดเจนนัก บ้างว่า หญิงที่เจ้าพระยากลาโหมส่งมานี้เป็นผู้วางยา, บางว่าตายเพราะแผลติดเชื้อ, บ้างว่า พิษในอาหาร แต่ตามบันทึกของวันวลิต ระบุว่า เป็นออกพระมริตผู้เป็นอนุชาของพระยากลาโหมเป็นผู้นำยาพิษนี้มาให้ โดยอ้างว่าเป็นยาสมานแผล

การ์ตูนที่เกี่ยวข้องกับยามาดะ ที่วางขายในญี่ปุ่น

ยุยง-แตกแยก-ย่อยยับ

หลังจากออกญาเสนาภิมุข* หรือยามาดะ เสียชีวิตลง ได้แต่งตั้งให้ โออิน ผู้เป็นบุตรชาย อายุ 18 ปี ขึ้นเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชแทน ชื่อว่า ออกขุนเสนาภิมุข* สืบทอดต่อจากยามาดะ แน่นอนว่า ด้วยวัยอายุเพียง 18 ปี ทำให้เกิดความไม่พอใจขึ้นในกองกำลังญี่ปุ่นด้วยกัน ที่ฝ่ายหนึ่งเห็นว่า ควรให้ “ออกขุนศรีวิทยาวุธ” ชาวญี่ปุ่น ซึ่งมีตำแหน่งเป็นนายกองกำลังอาสาของชาวญี่ปุ่นที่ร่วมศึกด้วย รับตำแหน่งแทน ส่งผลให้มีปัญหาทะเลาะเบาะแว้งระหว่างสองกลุ่มเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ และกองกำลังญี่ปุ่นก็อ่อนแอลง

จากความไม่พอใจชาวญี่ปุ่นจากเมื่อครั้งเข้ายึดเมืองนครศรีธรรมราชจากเจ้าเมืองคนเก่าเป็นทุนเดิมที่แต่เดิมนั้นเมืองนครศรีธรรมราชถือเป็นหัวเมืองเอกทางใต้ มีอำนาจปกครองเป็นของตนเองมาตั้งแต่ต้น เมื่อถึงกรุงศรีอยุธยา ส่งชาวญี่ปุ่นมาปกครอง ร่วมกับปัญหาทะเลาะเบาะแว้งกันระหว่างชาวญี่ปุ่นนี้ ทำให้ท่าทีของความไม่พอใจชาวญี่ปุ่นในเมืองนครศรีธรรมราชมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสะท้อนออกมาดังเช่นในเพลงกล่อมเด็กในเมืองนครศรีธรรมราชที่ร้องว่า

“ไก่อูกเหอ ไก่อูกหางลุ่น
ข้าหลวงญี่ปุ่น ทำวุ่นจับเด็ก
จับเอาแต่สาวสาว บ่าวบ่าวไปทำมหาดเล็ก
ญี่ปุ่นจับเด็ก วุ่นทั้งเมืองนครเอย”

หรือในบทร้องมโนราห์ท่อนหนึ่งก็มีกล่าวถึงชาวญี่ปุ่น ว่า “อ้ายมอญมักกาสัน ส่งให้ญี่ปุ่นหัวโกน เลี้ยงลูกชาวบ้านเอย ชาวบ้านเหอ อีนี่ใจยักษ์ใจโลนกูส่งให้ญี่ปุ่นหัวโกนหนำใจ แล้เจ้ามโนราห์”

และในที่สุดกระแสการต่อต้านชาวญี่ปุ่นก็ถึงจุดสูงสุด เมื่อในพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาของเมืองเมืองนครศรีธรรมราช ไม่มีผู้มาร่วมพิธี ส่งผลให้ให้โอชิน หรือ ออกขุนเสนาภิมุข ไม่พอใจอย่างมาก และจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นโอกาสให้เจ้าเมืองนครคนเก่า ยุให้ ออกขุนศรีวิทยาวุธ ประกาศแยกตัวออกจากโอชิน ลูกชายของยามาดะ โดยอ้างว่า เพราะชาวเมืองนครศรีธรรมราชไม่ยอมรับ

แต่ท้ายที่สุดแล้ว ออกขุนศรีวิทยาวุธ รู้ตัวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นแผนของเจ้าเมืองนครคนเก่า ในการสร้างความร้าวฉานให้กองกำลังญี่ปุ่นในเมืองนครศรีธรรมราช จึงได้กลับมาจับมือกับ ออกขุนเสนาภิมุข หรือโอชิน ลูกชายของยามาดะ บุกสังหารเจ้าเมืองนครคนเก่าและบ่าวไพร่จนหมด

ยิ่งสร้างความไม่พอใจให้กับชาวนครศรีธรรมราช ลุกขึ้นสู้ เพื่อขับไล่ชาวญี่ปุ่นออกจากเมืองกลายเป็นเหตุจราจลในเมืองนครศรีธรรมราชในที่สุด ส่งผลให้มีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก ชาวเมืองบางส่วนต้องหลบหนีออกจากเมืองไป และหลังจากเหตุการณ์สงบลง ความบาดหมางระหว่างชาวญี่ปุ่นด้วยกันเองภายใต้การนำของ ออกขุนศรีวิทยาวุธ และ ออกขุนเสนาภิมุข ก็เกิดขึ้นอีกครั้ง และในครั้งนี้ ออกขุนศรีวิทยาวุธ ก็ถูกสังหาร สภาพเมืองนครศรีธรรมราชจึงแทบกลายเป็นเมืองร้าง

กวาดล้างหมู่บ้านญี่ปุ่นจนสิ้น

จากสถานการณ์ที่ย่ำแย่อย่างต่อเนื่อง ออกขุนเสนาภิมุขและกองอาสาญี่ปุ่นที่เหลืออยู่ ก็ตัดสินใจหนีออกจากเมืองนครศรีธรรมราชไปยังเขมร บางส่วนเดินทางกลับมายังหมู่บ้านญี่ปุ่นที่อยุธยา และนั่นเอง กลายเป็นข่าวการจราจลที่เมืองนครศรีธรรมราชก็แพร่กระจายไปทั่วกรุงศรีอยุธยา สร้างกระแสความไม่พอใจชาวญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ก็ได้มีพระราชโองการให้ยึดเรือสำเภาที่เป็นของยามาดะ ที่เพิ่งกลับมาจากญีปุ่นพร้อมทั้งสินค้าในเรือสำเภาทั้งหมด แต่ด้วยเห็นว่า การค้ากับญี่ปุ่นยังมีความสำคัญอยู่ จึงได้มีรับสั่งคืนให้ในภายหลัง ทางด้านของกลุ่มพ่อค้าชาวญี่ปุ่น และชาวญี่ปุ่นในอยุธยาไม่พอใจ และกลายเป็นชนวนเหตุให้พระเจ้าทรงธรรมเห็นว่า หากปล่อยว่าจะก่อให้เกิดความกระด้างกระเดื่องและนำไปสู่การกบฏเหมือนเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนได้ จึงได้สั่งกวาดล้างชาวญี่ปุ่นอย่างเด็ดขาด และให้เผาทำลายหมู่บ้านญีปุ่นเสีย

ตามบันทึกระบุไว้ว่า การกวาดล้างชาวญี่ปุ่นในหมู่บ้านญี่ปุ่นนั้นมีทั้งการเผาทำลายบ้านเรือน และยิงปืนใหญ่เข้าไปยังหมู่บ้านญี่ปุ่น ทำให้ชาวญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ต้องหลบหนีลงเรือสำเภาออกจากกรุงศรีอยุธยา แม้กระนั้นระหว่างทางในการหลบหนี ก็ยังต้องสู้รบกับทหารไทย ในระหว่างทางอีกด้วย ทำให้เหลือชาวญี่ปุ่นไม่มากนักที่หนีออกจากอยุธยาไปได้

ภาพวาดท่าเรือของเมืองนางาซากที่
สมเด็จพระเจ้าปราสาททองได้ส่งคณะทูตเดินทางไปเชื่อมสัมพันธไมตรี

สู่สัมพันธไมตรีที่ลดต่ำลง

หลังจากการกวาดล้างชาวญี่ปุ่นในอยุธยาไปจนหมด ซึ่งการยกเลิกทหารรักษาพระองค์ชาวญี่ปุ่นก็เกิดขึ้นในสมัยของพระเจ้าปราสาททองนี่เอง แน่นอนว่า หลังจากเหตุกวาดล้างชาวญี่ปุ่นในอยุธยา ส่งผลให้การค้าระหว่างสยาม – ญี่ปุ่นได้รับผลกระทบ ซึ่งตลอดสมัยของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมที่มีความสัมพันธุ์ระหว่างสองประเทศรุ่งเรืองถึงขีดสุด ส่งผลให้การค้า “หนังกวาง” ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก รวมถึงสินค้าอย่างอื่น เช่น เขาสัตว์ ไม้หอม-เครื่องเทศต่าง ๆ

โดยตลอดเวลาที่ผ่านมา กรุงศรีอยุธยาเป็นฝ่ายที่ได้เปรียบดุลการค้ามาโดยตลอด จึงทำให้สมเด็จพระเจ้าปราสาททองได้กลับมาอนุญาตให้ชาวญี่ปุ่นเข้ามายังอยุธยาได้อีกครั้ง แต่ในครั้งนี้ ด้วยยังไม่ไว้ใจชาวญี่ปุ่น จึงให้หมู่บ้านญี่ปุ่นที่ฟื้นฟูขึ้นใหม่นั่นอยู่ภายใต้การดูแลของขุนนางที่เป็นคนไทย ไม่ใช่เหมือนในยุคก่อนที่ให้ชาวญี่ปุ่นดูแลกันเอง

พระเจ้าปราสาททอง ได้พยายามในการฟื้นฟูสัมพันธไมตรี ด้วยการส่งคณะทูตไปยังญี่ปุ่นถึง 2 ครั้ง และก็ไม่สามารถเชื่อมสัมพันธไมตรีได้ทั้ง 2 ครั้ง โดยเหตุผลนั้นระบุตามประวัติว่า สมเด็จพระเจ้าปราสาททองนั้นเป็นผู้ที่แย่งชิงราชบังลังก์อยุธยา จึงไม่อาจจะยอมรับเรื่องที่เกิดขึ้นนี้ได้ และในภายหลัง ประเทศญีปุ่นได้มีนโยบายที่ชื่อว่า ซาโกกุง เป็นนโยบายด้านการต่างประเทศ โดยห้ามคนต่างด้าว และชาวญี่ปุ่นออกนอกประเทศ ซึ่งส่งผลให้การเข้า-ออกประเทศญี่ปุ่นเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย และมีโทษถึงประหารชีวิต ยกเว้นกรณีที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น ซึ่งนั่นเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้สัมพันธไมตรีระหว่าง สยาม – ญี่ปุ่น ลดต่ำลงอย่างมาก

ทำให้การค้าหนังกวาง-สินค้าอื่น ๆ เช่นไม้ฝาก หนังกระเบน ฯลฯ ระหว่างสยามและญี่ปุ่น จำเป็นต้องยกให้กับชาวฮอลันดาเป็นผู้ที่ทำการค้าแทนผ่าน และบริษัทของชาวฮอลันดาก็ได้ผูกขาดการค้าหนังกวางในอยุธยาไว้

อย่างไรก็ตาม มีชาวญี่ปุ่นบางส่วนที่เดินทางทางเข้ามาในอยุธยาในสมัยนั้น แต่ไม่มากเช่นเหมือนสมัยของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม

จนสิ้นรัชสมัยของพระเจ้าปราสาททอง ความสัมพันระหว่างไทย – ญี่ปุ่น ก็ยังไม่ดีขึ้น เจ้าฟ้าไชย พระราชโอรสขึ้นสืบราชสมบัติต่อจากพระเจ้าปราสาททอง ก็ได้แต่งตั้งคณะราชทูตไปยังญี่ปุ่นอีกครั้ง โดยนำพระราชสาส์นไปถวาย โดยระบุใจความสำคัญว่า เหตุขับไล่พ่อค้าญี่ปุ่นในสยามนั้นไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด แต่ด้วยนโยบายปิดประเทศ จึงทำให้คณะราชทูตไทยต้องนำเครื่องบรรณาการกลับมา

ภาพวาดที่ปรากฎนักรบชาวญี่ปุ่นในขบวนพยุหายาตรา ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ

หลังจากสมเด็จเจ้าฟ้าไชย ครองราชย์ได้ไม่ถึงปี ก็มีการเปลี่ยนราชบัลลังก์อีกครั้ง โดยสมเด็จพระศรีสุธรรมราชพระอนุชาของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง และสมเด็จพระศรีสุธรรม ก็ครองราชย์ได้ไม่ถึง 3 เดือน ก็มีการเปลี่ยนผ่านอีกครั้งสู่สมัยของ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช

และในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช นี้เองที่ทำให้สถานการณ์การค้าระหว่างสยาม และญี่ปุ่นกลับมาดีขึ้นอีกครั้ง รวมถึงการเชื่อมสัมพันธไมตรีกับชาติตะวันตกก็รุ่งเรืองมากขึ้น


หมายเหตุ
* ออกญา และ ออกขุน นั้นเป็นชื่อบรรดาศักดิ์ (ตำแหน่ง) ส่วนชื่อที่ตั้งขึ้นตามหลังจากตำแหน่งอีกทีหนึ่ง นอกจากนี้ยังมี ออกพระ ออกหลวง ออกท้าว ออกหมื่น ออกพัน