กาลครั้งหนึ่ง ประวัติศาสตร์ อยุธยา อโยธยา

อโยธยา : [EP.1] พหุสังคมในราชธานี

เรื่องราวความหลากหลาย และชนชาติต่าง ๆ ในสมัยที่อยุธยาเป็นราชธานี...

Home / TELL / อโยธยา : [EP.1] พหุสังคมในราชธานี

ประเด็นน่าสนใจ

พหุสังคม หรือ Plural Society หมายถึงการที่สังคมที่มีกลุ่มคนที่มีความแตกต่างทางเชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรม หรือศาสนา อยูร่วมกันเป็นสังคมเดียวกัน

ในครั้งอดีต อยุธยาถือเป็นหนึ่งในเมืองสำคัญที่ต่างชาติต่างพากันเข้ามาค้าขาย เป็นจำนวนมาก ทำให้ในกรุงศรีอยุธยา มีชุมชุนของชาวต่างชาติจำนวนมาก มาลงหลักปักฐานอยู่อยุธยาเป็นจำนวนมาก จากหลายเชื้อชาติ บางส่วนเป็นชาวต่างชาติที่เดินทางมาเพื่อเป็นพ่อค้า ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า บางส่วนเป็นนักบวชเพื่อเข้ามาเผยแผ่ศาสนา ไปจนถึงเหล่าบรรดาผู้ที่หลบหนีสงคราม ผู้ที่ต้องการทิ้งอดีตไว้เบื้องหลังที่แผ่นดินแม่ สู่โลกใหม่เพื่อแสวงหาชีวิตใหม่

ภาพวาดแผนที่ของอยุธยา
Struys, Jan Janszoon (1746)

และจากจำนวนของชาวต่างชาติที่เข้ามายังอยุธยานั้น ทำให้มีการตั้งรกรากถิ่นฐานเป็นชุมชนต่าง ๆ อยู่เป็นจำนวนมากรายรอบเมืองหลวง ตามบันทึกในจดหมายเหตุเดอ ลาลูแบร์ ที่ได้มีการวาดแผนที่ชุมชนต่าง ๆ โดยรอบนอกเกาะเมืองอยุธยา ปรากฎเป็นหลักฐาน กล่าวถึงชุมชนชาวต่างชาติจำนวนหลายจุด ซึ่งส่วนหนึ่งในบันทึกของเดอ ลาลูแบร์ ได้ระบุว่า เพราะเจ้าแผ่นดินสยาม ทรงเปรียบเสมือน “พ่อค้าใหญ่” สามารถค้าขายกับต่างชาติได้ เสมือนเป็นเมืองท่านานาชาติ แม้ว่า อยุธยาจะอยู่ห่างจากทะเลเข้ามาอย่างมากก็ตาม

พหุวัฒนธรรมสู่ต้นตำรับขนมไทย

ด้วยความที่อยุธยานั้นกลายเป็นเมืองท่า ที่มีหลากหลายเชื้อชาติ การที่ชาวต่างชาติจะแต่งงานอยู่ร่วมกันจึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ตามปรกติในสังคมอยุธยาในสมัยนั้น หนึ่งในตัวแทนของความเป็นพหุสังคมที่หลายคนน่าจะพอคุ้นหูนั่นคือ ท้าวทองกีบม้า มีชื่อตัวว่า มารี กีมาร์ หัวหน้าห้องเครื่องต้นวิเสทในราชสำนักที่ถูกขนานนามว่า เป็นต้นกำเนิดขนมไทยหลายอย่าง ที่ผสมผสานวัฒนธรรมของชาติต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นขนมอย่างทองม้วน ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง สังขยา ขนมหม้อแกง และอีกหลายอย่าง

เนื่องจากตามประวัตินั้น ท้าวกีบทองท้า เป็นลูกครึ่งจากบิดามีเชื้อสายโปรตุเกส กับ มารดาชื่ออูร์ซูลา ยามาดะ ก่อนที่จะได้แต่งงานกับเจ้าพระยาวิชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ซึ่งเป็นชาวกรีกที่เข้ารับราชการในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ฯ

แผนที่เส้นทางน้ำ จากอ่าวไทยผ่านกรุงเทพ สู่อยุธยา
(Atlas of Mutual Heritage)

หลากสัญชาติในอโยธยา

ซึ่งจะเห็นได้ว่า ในสมัยอยุธยานั้นมีกลุ่มชาวต่างชาติที่เข้ามาอาศัยอยู่หลายเชื้อชาติ หลายวัฒนธรรมที่ผสมผสานความแตกต่างกันออกไปอย่างลงตัว โดยในสมัยอยุธยานั้น มีกลุ่มชาวต่างชาติเข้ามาหลายเชื้อชาติด้วยกัน ประกอบไปด้วยกลุ่มหลัก ๆ คือ

กลุ่มพ่อค้าชาวจีน

ชาวจีน ถือเป็นกลุ่มเชื้อชาติที่เข้ามาในอยุธยาตั้งแต่ก่อนการสถาปนาเป็นราชธานี ซึ่งมาจากหลายกลุ่มไม่ว่าจะเป็น ชาวจีนกวางตุ้ง กวางสี หรือฝุเจี้ยน และด้วยความที่เข้ามาตั้งแต่เริ่มต้น ทำให้ชาวจีน ใช้ชีวิตผสมปนเปไปกับชาวไทยทั้งในพระนครและภายนอกเกาะเมือง

ซึ่งชาวจีนที่เข้ามาอยู่ในอยุธยา สามารถใช้ชีวิต วัฒนธรรมผสมผสานไปกับวิถีชีวิตของชาวสยามได้เป็นอย่างดี ด้วความคล้ายคลึงในด้านของวัฒนธรรม นิสัย แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงรักษาความวัฒนธรรมของตนเองไว้ได้

และด้วยความชาวจีนส่วนใหญ่ที่เข้ามานั้น เป็นพ่อค้า กะลาสี รวมถึงกลุ่มโจรสลัด ทำให้ดูจะได้เปรียบในเรื่องของการค้าขาย เดินเรือ เป็นอย่างมากจนทำให้กลุ่มชาวจีนจะได้รับสิทธิพิเศษ มีอำนาจในการต่อรองในหลาย ๆ โดดเด่นกว่ากลุ่มอื่น ที่อาศัยอยู่ในอยุธยา ทั้งในด้านการค้าขาย และอื่น ๆ นอกจากนี้โรงนครโสเภณีที่ขึ้นชื่อก็อยู่ในเขตพื้นที่ของชุมชนชาวจีนนี้เช่นกัน

กลุ่มแขก

เป็นกลุ่มชาวมุสลิม ที่เข้ามาอาศัยอยู่ในอยุธยา โดยมีมาจากหลายชาติพันธุ์ ไม่ว่าจะแขกจาม หรือ “ปทาคูจาม” ที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่ทางตอนใต้ของเวียดนาม กลุ่มพ่อค้ามุสลิมจากทางปลายแหลมมลายู ปัตตานี รวมถึงพ่อค้าจากทางฝั่งเปอร์เซีย กลุ่มแขกที่เข้ามาในอยุธยานั้นแม้จะเป็นชาวมุสลิม แต่ด้วยความหลากหลายของเชื้อชาติ นิกายต่าง ๆ ทำให้มีการอาศัยกระจายตัวไปกันเป็นกลุ่ม ๆ โดยมีตัวแทนในชุมชน เป็นตัวกลางเชื่อมต่อระหว่างกัน

ซึ่งบางส่วนก็จะไปตั้งร้านค้าอยู่ภายในกำแพงพระนคร เพื่อจำหน่ายสินค้างานฝีมืออย่างเครื่องประดับ เครื่องทองเหลืองต่าง ๆ

กลุ่มชาวญี่ปุ่น

ชาวญี่ปุ่น ถือเป็นอีกหนึ่งชนชาติที่เข้ามาอยู่ในอยุธยธาตั้งแต่ช่วงสมัยพระนเรศวร ชุมชนชาวญี่ปุ่นเป็นชุมชนที่เกาะกลุ่มอาศัยอยู่ร่วมกันบริเวณทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของพระนคร ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา

ชาวญี่ปุ่นที่เดินทางเข้ามาในอยุธยานั้นมีทั้งพ่อค้า รวมถึงคณะทูตจากตระกูล “โตกุกาวะ” ถือเป็นการเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างญี่ปุ่นกับสยาม และด้วยความที่มีเหล่าบรรดาคณะทูต ทำให้มีผู้มีความสามารถจำนวนไม่น้อย จนทำให้ชาวญี่ปุ่นเข้ามามีบทบาทในหน้าประวัติศาสตร์ของอยุธยาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น

  • ออกพระสุมิฮิโร เจ้ากรมทหารอาสาญี่ปุ่น ที่นำทหารอาสาญี่ปุ่นเข้าสู้ศึกยุทธหัตถี,
  • คิอิ คิวเอะมง ซึ่งได้บรรดาศักดิ์เป็นถึงออกพระ ผู้ได้รับตราประทับแดงจากรัฐบาลเอโดะให้ทำการค้า และหัวหน้าชุมชนชาวญี่ปุ่นในอยุธยา
  • นากามาสะ ยามาดะ หรือที่คนไทยหลายคนรู้จักในชื่อ ออกญาเสนาภิมุข ซึ่งถือเป็นบรรดาศักดิ์ในระดับพระยา มีศักดินาถึง 1,000 ไร่ และเป็นคนโปรดของพระเจ้าทรงธรรม ตลอดจนมีส่วนเกี่ยวข้องในช่วงของการผลัดแผ่นดินหลังสิ้นสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมด้วย

กลุ่มชาวโปรตุเกส

ชาวยุโรปที่ถือว่าเป็นชาติแรก ๆ ที่เดินทางเข้ามาในอยุธยา นั่นก็คือชาวโปรตุเกส โดยอพยพเข้ามาทำการค้าขาย ตั้งรกรากในอยุธยา ซึ่งในช่วงสมัยของพระนารายณ์ มีชาวโปรตุเกสเข้ามาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก โดยรวมกลุ่มกันอยู่บริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาตรงข้ามกับชุมชนชาวญี่ปุ่นที่อยู่ฝั่งตรงข้าม

MAP OF AYUTTHAYA – VICENZO MARIA CORONELLI

กลุ่มชาวฮอลันดา-อังกฤษ-ฝรั่งเศส

กลุ่มชาวยุโรปอย่าง อังกฤษ ฝรั่งเศส และฮอลันดา ได้เข้ามาทำการค้าในสยาม ในลักษณะของการเป็นตัวแทนจากบริษัทการค้า เดินทางเข้ามาทำการค้าขายสินค้ากับสยาม โดยจะมีการตั้งสถานีการค้า หรือโกดังสินค้า ตามแบบตะวันตก

ตามบันทึกที่มีระบุว่า หมู่บ้านชาวฮอลันดา รวมตัวกันอยู่ใกล้กับหมู่บ้านชาวญี่ปุ่น ซึ่งต่อมาเมื่อชาวอังกฤษเข้ามา ก็ได้มีการตั้งสถานีการค้าใกล้ ๆ กับชุมชนขาวฮอลันดานี่เอง

ส่วนชาวฝรั่งเศสนั้น มีการเดินทางเข้ามาหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มที่เป็นคณะทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่14 กลุ่มมิชชันนารีที่เข้ามาเผยแผ่ศาสนา และกลุ่มพ่อค้าต่าง ๆ ทำให้ชุมชนชาวฝรั่งเศสกระจายกันออกไปใช้หลายจุด เป็นชุมชนเแล็ก ๆ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

กลุ่มเชื้อชาติอื่น ๆ

นอกจากนี้ ในอยุธยา ยังมีกลุ่มเชื้อชาติอื่นๆ ที่เข้ามาอาศัยตั้งถิ่นฐานอยู่ไม่น้อยเช่น ชาวมอญ ที่อพยพมาจากฝั่งพม่า กลุ่มแขกจามหรือปทาจาม ที่มาจากทางเวียดนามตอนใต้เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า ในสมัยอยุธยานั้น มีความหลากหลายทั้งเชื้อชาติ ศาสนา ความเชื่อ ต่าง ๆ มากมายรวมอยู่ด้วยกัน จนกลายเป็นวัฒนธรรมและเป็นความน่าสนใจของสิ่งที่เกิดขึ้นจากการผสมผสานสิ่งเหล่านี้เข้าด้วยกัน

อโยธยา [EP.2] – เมื่อซามูไรผลัดถิ่น สู่ออกญาในราชสำนัก และการผลัดแผ่นดินในสมัยอยุธยา