ประวัติความเป็นมาของวันเยาวชนแห่งชาติ
องค์การสหประชาชาติ (UNITED NATIONS) ได้ประกาศให้ปี พ.ศ. ๒๕๒๘ เป็นปีเยาวชนสากล และขอให้ประเทศสมาชิกร่วมเฉลิมฉลองปีเยาวชนสากล เพื่อที่จะมุ่งเน้นให้เยาวชน ซึ่งหมายถึงหนุ่มสาว ที่มีอายุตั้งแต่ ๑๘ – ๒๕ ปี ได้ตระหนักถึงความสำคัญของตนเองที่จะเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติในอนาคตและสามารถช่วยสร้างเสริมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม จึงกำหนดให้วันที่ ๒๐ กันยายนของทุกปี เป็นวันเยาวชนแห่งชาติ
ความสำคัญของวันที่ ๒๐ กันยายน
วันที่ ๒๐ กันยายนของทุกปี เป็นวันเยาวชนแห่งชาติ เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์สองพระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ ๘ ซึ่งทั้งสองพระองค์ ได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติในขณะที่ทรงพระเยาว์ จึงถือได้ว่าเป็นวันสิริมงคลที่เยาวชนควรสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของล้นเกล้าทั้งสองพระองค์ เยาวชนจึงควรกระตือรือร้นในการพัฒนาตนเองและประพฤติตนให้เป็นประโยชน์ต่อชุมชน สังคม และประเทศชาติ เฉกเช่นยุวกษัตริย์ทั้งสองพระองค์
คำขวัญวันเยาวชนแห่งชาติ
“ร่วมแรงแข็งขัน ช่วยกันพัฒนา ใฝ่หาสันติ” (Participation Development and Peace) ซึ่งมีความหมายต่อเยาวชนทุกคนสามารถยึดถือและนำไปปฏิบัติ ดังนี้
– ร่วมแรงแข็งขัน (Participation) หมายถึง เยาวชนรวมกลุ่มกันเพื่อแสดงพลังสร้างสรรค์กิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง สังคม และประเทศชาติ
– ช่วยกันพัฒนา (Development) หมายถึง เยาวชนควรพัฒนาตนเองทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสติปัญญาให้เป็นบุคคลที่มีคุณภาพของสังคมในอนาคต และบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ
– ใฝ่หาสันติ (Peace) หมายถึง เยาวชนต้องช่วยกันสร้างสันติ โดยเริ่มจากตนเอง ครอบครัวของตน แล้วขยายไปยังชุมชน และประเทศชาติ
เป้าหมายของวันเยาวชนแห่งชาติ
เป้าหมายของวันเยาวชนแห่งชาติที่สำคัญมี ๓ ประการ คือ
๑. เพื่อให้เยาวชนช่วงอายุ ๑๘ – ๒๕ ปี ได้ตระหนักถึงความสำคัญ ในการพัฒนาตนเอง พัฒนาชุมชน พัฒนาประเทศ
๒. เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาเยาวชนให้เป็นทรัพยากรบุคคล ที่มีความสำคัญต่อประเทศชาติ ทั้งในด้านคุณภาพและคุณธรรม
๓. เพื่อให้นโยบายส่งเสริม และพัฒนาเยาวชนดำเนินไปอย่างต่อเนื่องสัมฤทธิ์ผล