เป็นเรื่องใหญ่มากในแวดวงเทคโนโลยี กับการควบรวมของ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT กับ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ซึ่งหากใครได้ตามข่าวจะรู้เลยว่านี่เป็นบทสรุปหลังจากที่ยืดเยื้อกันมานาน ซึ่งน่าใจหายประมาณนึงเลยเพราะต่อจากนี้จะไม่มี TOT และ CAT แล้ว แต่จะกลายเป็น ‘บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)’ หรือ ‘NT’ แทน ซึ่งเราจะมาทำความเข้าใจกัน เพื่อที่เราจะได้เข้าใจและดูเป้าหมายในอนาคต NT กัน
รู้จักจุดเริ่มต้นของ TOT และ CAT
บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (TOT Public Company Limited) ก่อตั้งเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2497 เป็นรัฐวิสาหกิจประเภทสื่อสารโทรคมนาคมในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยทีโอทีนั้นได้แปรรูปมาจาก องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ซึ่งตลอด 67 ปี ทีโอที ได้ดำเนินกิจการเกี่ยวกับโทรศัพท์และการสื่อสาร โดยทำหน้าที่ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมทุกประเภททั้งในและระหว่างประเทศ ผ่านบริการต่าง ๆ ทั้งทางสายโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต โทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งประกอบด้วยใบอนุญาตแบบที่ 3 (ที่มีโครงข่ายของตนเองเพื่อให้เช่าใช้)
ในส่วนของ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT Telecom Public Company Limited ก่อตั้งเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2519 เป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในรูปบริษัทมหาชน เกิดจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในกิจการโทรคมนาคมของการสื่อสารแห่งประเทศไทย (ก.ส.ท.) ที่ดำเนินธุรกิจด้านการสื่อสารโทรคมนาคมทั้งในและระหว่างประเทศ และในอดีตยังทำหน้าที่ให้บริการกิจการไปรษณีย์เพิ่มด้วย แต่หลังจากที่แปรรูปรัฐวิสาหกิจจึงได้แยกกิจการไปรษณีย์ออกจากกัน โดยกิจการไปรษณีย์ได้จัดตั้งเป็นบริษัทใหม่ในชื่อ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ส่วนกิจการโทรคมนาคมได้แปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัดในชื่อ กสท โทรคมนาคมในปัจจุบัน
จาก TOT และ CAT สู่ NT
ใครที่ติดตามข่าวสารจะรู้ว่าการควบรวม TOT และ CAT ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เพราะนโยบายเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2545 แต่ไม่สำเร็จเพราะเกิดการคัดค้านอย่างหนักจากสหภาพแรงงานของทั้ง 2 แห่ง แต่กระนั้นหลังจากที่หารือร่วมระหว่างผู้บริหาร และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจของทั้ง 2 แห่ง เพื่อให้ได้ข้อสรุปใน 3 เรื่องสำคัญ คือ แผนบริหารจัดการบุคลากร, สินทรัพย์และหนี้สิน, สัญญา และสัมปทานต่างๆ เพื่อสร้างความชัดเจนและไม่เกิดผลกระทบ จนในวันที่ 14 มกราคม 2563 ครม. มีมติอนุมัติให้ TOT และ CAT ควบรวม กลายเป็น บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT นั่นเอง
ซึ่งการควบรวมไม่ใช่เรื่องง่าย และด้วยการระบาดของ COVID-19 ทำให้ วันที่ 1 กันยายน 2563 มีคณะรัฐมนตรีอนุมัติขยายเวลาดำเนินการควบรวมให้อีก 6 เดือน จนควบรวมได้สำเร็จเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นก้าวแรกของ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT และยังคงมีฐานะเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจภายใต้สังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีกระทรวงการคลังถือหุ้นทั้งหมด
ควบรวมเพื่ออะไร ?
ทั้ง TOT และ CAT นั้น ให้บริการด้านการสื่อสารโทรคมนาคมเหมือนกัน ซึ่งมีการทำงานที่ถือว่าทับซ้อนกันรวมไปถึงการลงทุน ซึ่งหากอ้างอิงจากข้อมูลปี 2562 จะพบว่า TOT มีสินทรัพย์ที่สำคัญ ได้แก่ โครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสง 1.5 ล้านคอลต่อกิโมเลตร, โครงการเคเบิลใต้น้ำ 2 ระบบ, ท่อร้อยสายใต้ดิน 32,173 ไมโครดักส์ต่อกิโลเมตร, เสาโทรคมนาคม 13,445 ต้น, ศูนย์ข้อมูล 4 แห่ง และมีพนักงานทั้งหมด 13,026 คน ส่วน CAT มีสินทรัพย์ที่สำคัญ ได้แก่ โครงการเคเบิลใต้น้ำ 6 ระบบ อยู่ระหว่างสร้าง 1 ระบบ, โครงการเคเบิลใยแแก้วนำแสง 0.7 ล้านคอลต่อกิโลเมตร, เสาโทรคมนาคม 18,159 ต้น, ท่อร้อยสาย 5,677 ไมโครดักส์ต่อกิโลเมตร และศูนย์ข้อมูล 9 แห่ง และพนักงาน 5,117 คน
จากข้อมูลดังกล่าวเห็นได้ชัดว่ามีหลายส่วนที่ทั้ง 2 บริษัทลงทุนซ้ำซ้อนกันอยู่ ไม่ว่าจะท่อร้อยสายใต้ดิน, โครงการเคเบิลใต้น้ำ และศูนย์ข้อมูล ซึ่งถ้ารวมกัน ก็จะมีแผนที่เสนอมีความชัดเจนมากว่า การควบรวมจะช่วยให้รัฐประหยัดเงินลงทุนตั้งแต่ปี 2562-2570 ได้ถึง 1,137 ล้านบาท เพราะไม่ต้องลงทุนซ้ำซ้อน
มุ่งสู่ TOP 3 ของ ตลาดคอมเมอร์เชียล
หนึ่งในสิ่งที่น่าจับตาจากการควบรวมครั้งนี้ คือ ตลาดโทรคมนาคมไทย เพราะ NT จะมีคลื่นในมือถึง 600 MHz ได้แก่ จาก 6 ย่านความถี่ ได้แก่ 700 MHz, 26 GHz, 850 MHz, 2100 MHz, 2300 MHz และ 900 MHz ด้วยความถี่ทั้งหมดนี้ทำให้การให้บริการของ NT ครอบคลุมไม่แพ้ใครในตลาด ขณะที่ความแรงนั้นอยู่ในอันดับ 3 ของตลาดแล้วในตอนนี้ และแนวโน้มด้านการพัฒนาสัญญานถือว่าไปในทิศทางบวก ในส่วนของสาขาให้บริการเมื่อรวมกันทำให้มีถึง 536 แห่งทั่วประเทศ
จึงไม่น่าแปลกที่ NT จะพัฒนาจนกลายเป็นบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติที่มีศักยภาพในการให้บริการ โดยเฉพาะเรื่อง 5G และดาวเทียม ทั้งการนำเอาดิจิทัลมาให้บริการภาคการสาธารณสุข การเกษตร และคมนาคม และที่สำคัญ NT ยังจะกลายเป็นผู้รวบรวมบิ๊กดาต้าผ่าน 5G ที่ประมูลได้ ซึ่งจะเริ่มนำมาให้บริการภาคสังคมอย่างปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ สำหรับ ใครที่อยากรู้จัก NT ให้มากขึ้น สามารถเข้าไปเยี่ยมชมเว็บไซท์ทางการได้ที่ https://www.ntplc.co.th/ หรือสนใจอินเทอร์เน็ตที่เสถียร คุณภาพสูง สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/2YryuQx