ในช่วงวันเข้าพรรษา 1 ในเช็กลิสท์ที่เราชาวพุทธจะทำกันนอกจากการตักบาตร เข้าวัด ถวายสังฆทาน ถือศีล 5 ฟังธรรมและเวียนเทียนแล้ว ยังมีประเพณี ตักบาตรดอกไม้ ซึ่งบ้างก็ใช้ดอกบัว บ้างก็ใช้ดอกมะลิ ดอกกุหลาบ ดอกเบญจมาศ หากแต่ในวัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวง อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี จะมีประเพณี ตักบาตรดอกเข้าพรรษา โดยเฉพาะซึ่งเชื่อกันว่าเมื่อพระสงฆ์ได้รับบิณฑบาตแล้วก็จะนำไปสักการะรอยพระพุทธบาท อันจะส่งผลบุญให้ผู้ทำบุญตักบาตรได้ขึ้นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์… และแน่นอนว่าเรื่องนี้ย่อมมีที่มา
ภาพ ประเพณีตักบาตรดอกไม้ วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร
จุดกำเนิดประเพณี ตักบาตรดอกไม้ ในสมัยพุทธกาล
ประเพณี ตักบาตรดอกไม้ ในสมัยพุทธกาล มีเรื่องเล่าว่า นายสุมนมาลาการ เป็นชาวเมืองราชคฤห์ มีหน้าที่นำดอกมะลิไปถวายพระเจ้าพิมพิสารวันละ 8 ทะนาน ทุกวัน เพื่อแลกทรัพย์วันละ 8 กหาปณะ ต่อมาเช้าวันหนึ่ง ขณะที่เขากำลังถือดอกไม้จะเข้าประตูเมือง เป็นเวลาที่พระพุทธเจ้าเสด็จออกบิณฑบาตพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ เขาได้เห็นฉัพพรรณรังสีจากพระวรกายพระพุทธเจ้าแล้วเกิดความเลื่อมใสเป็นอย่างมาก จึงถวายดอกมะลิแด่พระพุทธองค์แทนที่จะนำไปถวายพระเจ้าพิมพิสาร ด้วยคิดว่า แม้จะต้องตายด้วยโทษประหารก็ยอม
ชาวเมืองทราบดังนั้นจึงพาการโห่ร้องสรรเสริญเป็นอันมาก มีเพียงภรรยาของเขาที่ไม่พอใจ ภรรยาจึงนำความนั้นไปกราบทูลพระเจ้าพิมพิสาร แต่พระเจ้าพิมพิสารบรรลุพระโสดาบันแล้ว นอกจากจะไม่โกรธแล้ว ยังนำความนี้กราบทูลพระพุทธเจ้าอีกที พระพุทธเจ้าได้กล่าวสรรเสริญนายสุมนมาลาการ ทำให้นายสุมนมาลาการได้รับของพระราชทานจากพระเจ้าพิมพิสารถึง 8 ชนิด คือช้าง ม้า ทาส ทาสี เครื่องประดับ นารี อย่างละ 8 ทรัพย์อีก 8,000 กหาปณะ และบ้านส่วยอีก 8 ตำบล
ครั้นกลับถึงวัด พระอานนท์ได้กราบทูลผลบุญที่นายสุมนมาลาการจะพึงได้รับ พระพุทธองค์ตรัสว่า นายสุมนมาลาการได้สละชีวิตบูชาพระองค์ในครั้งนี้จักไม่ได้ไปเกิดในนรกตลอดแสนกัลป์ และนี่เองจึงเป็นที่มาของประเพณีตักบาตรดอกไม้ที่เผยแผ่มาถึงเมืองพุทธแดนสยามนี้เช่นกัน
ทำไมถึงใช้ ดอกเข้าพรรษา ตักบาตรดอกไม้
ดอกเข้าพรรษา นั้นหนึ่งปีจะออกดอกเพียงครั้งเดียว เฉพาะในช่วงเทศกาลวันเข้าพรรษาเท่านั้น เป็นสัญลักษณ์ของฤดูฝน หมายถึง ความงามจากธรรมชาติที่ส่งต่อมายังโลกมนุษย์ มีอีกชื่อหนึ่งว่า ดอกหงส์เหิน ด้วยเพราะลักษณะของดอกและเกสรคล้ายคลึงกับตัวหงส์ที่เหินบินอย่างสง่างาม เดิมทีในไทยจะพบออกดอกมากช่วงเทศกาลเข้าพรรษาใน จ.สระบุรี ชาวสระบุรีจึงนิยมนำมาถวายพระ หรือ ตักบาตรดอกเข้าพรรษา ที่วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร ซึ่งจะจัดขึ้นทุกปี
เชื่อกันว่าเมื่อนำดอกเข้าพรรษามาตักบาตรจะได้บุญกุศลแรง ซึ่งดอกเข้าพรรษาก็มีหลายสีหลายสายพันธุ์ ทั้ง สีเหลือง สีขาว และ สีม่วง โดยแต่ละสีก็มีความหมายแตกต่างกันไปดังต่อไปนี้
- สีขาว หมายถึง ความบริสุทธื์ของศีล สมาธิ ปัญญา ในทางพระพุทธศาสนา
- สีเหลือง หมายถึง สีแห่งพระสงฆ์
- สีม่วง เป็นสีที่หายากที่สุด นับเป็นแรร์ไอเท็ม เชื่อกันว่า ถ้าได้ถวายพระด้วยดอกเข้าพรรษาสีนี้ อานิสงส์แรงนัก (เป็นความเชื่อส่วนบุคคลนะคะ)
เมื่อพระสงฆ์ได้รับบิณฑบาตแล้วก็จะนำไปสักการะรอยพระพุทธบาทอันเปรียบเสมือนใกล้ชิดพระพุทธองค์ที่สุดแล้ว จึงเชื่อกันว่าจะส่งผลบุญให้ผู้ทำบุญตักบาตรได้ขึ้นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั่นเอง
พิธี ตักบาตรดอกไม้ ในกรุงเทพมหานครมีที่ไหนบ้าง
สำหรับในกรุงเทพมหานคร มีงาน ตักบาตรดอกไม้ ในช่วงเข้าพรรษาเป็นประจำทุกปีที่
- วัดบวรนิเวศวิหาร
- วัดตรีทศเทพวรวิหาร
- วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
- วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก
- และวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามวรวิหาร
ซึ่งทางวัดบวรนิเวศวิหาร จะนิยมใช้ดอกบัว เนื่องจากเป็นดอกไม้ที่รองรับพระบาทเจ้าชายสิทธัตถะเมื่อครั้งประสูติ
ในทางพระพุทธศาสนา ดอกบัว จึงเป็นดอกไม้ประธานของดอกไม้ทั้งปวง แต่นอกจากดอกบัวแล้วก็ยังมีดอกไม้อื่นๆ ที่พุทธศาสนิกชนนำมาใส่บาตรได้ด้วยเช่นกัน อาทิ ดอกเข้าพรรษา ดอกกุหลาบ พุทธรักษา มะลิ กล้วยไม้ เบญจมาศ เป็นต้น ทั้งนี้ตามความสะดวกและศรัทธาของแต่ละบุคคล
ด้วยปัจจุบัน สามารถปลูกดอกเข้าพรรษาได้ทั่วไป จึงสามารถหาซื้อดอกเข้าพรรษาได้ไม่ยาก การนำดอกเข้าพรรษามาตักบาตรดอกไม้ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาเชื่อว่า ทำให้จิตใจผ่องใส งดงาม สดชื่น สืบทอดพระพุทธศาสนาให้เจริญเติบโตยิ่งขึ้นไป
นอกจากไทยเราจะใช้ดอกเข้าพรรษา หรือ ดอกหงส์เหินในการบูชาพระแล้ว ทางประเทศเมียนมาร์เองก็นิยมใช้ดอกหงส์เหินถวายบูชาพระเช่นกัน หากแต่หน้าตาของต้นและดอกจะแตกต่างกันออกไป และความงดงามอ่อนช้อยแบบหยาดฟ้ามาดินของดอกหงส์เหินนี้ ถึงกับมีนิทานที่ชาวเมียนมาร์เล่าถึงดอกหงส์เหินนี้สืบต่อกันมา
หม่องต๊ะ ไกด์เมียนมาร์ เล่าให้ผู้เขียนฟังเมื่อครั้งไปเยือนย่างกุ้ง ประเทศเมียนมาร์ ว่า ดอกหงส์เหินนี้ มีอีกชื่อที่แปลเป็นไทยว่า ดอกช่างทองร้องไห้ ด้วยมีคนเอาดอกหงส์เหินไปใช้ช่างตีทองขึ้นรูปตามแบบ แต่ตีเท่าไหร่ก็ไม่สามารถทำให้สวยหยดย้อยอ่อนช้อยได้เท่า หมดปัญญาจะตีให้เหมือนถึงกับนั่งร้องไห้กันเลยทีเดียว
วันเข้าพรรษาปีนี้ หากมีโอกาส ห้ามพลาดไปร่วม ตักบาตรดอกไม้ กันสักครั้งนะคะ เพื่อรักษาสืบสานประเพณีอันดีงามทางศาสนานี้ให้คงอยู่สืบต่อไปค่ะ
ภาพโดย MTHAI TEAM
ขอบคุณภาพตักบาตรดอกไม้จาก ข่าวสารท่องเที่ยว ททท.
เนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
รู้จัก ธงฉัพพรรณรังสี 6 รัศมีที่แผ่ออกมาจากพระวรกายของพระพุทธเจ้า