ธงฉัพพรรณรังสี เป็นธงพุทธศาสนาสากลตั้งแต่ปี 2493 เริ่มปรากฏการใช้ตั้งแต่ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 25 หรือปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นธงศาสนาของชาวพุทธในศรีลังกา พม่า ลาว กัมพูชา และยังเป็นธงประจำองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก ยกเว้นประเทศไทยที่มีการกำหนดใช้ธงธรรมจักรเป็นธงศาสนามาก่อนแล้ว ธงฉัพพรรณรังสีจึงไม่เป็นที่นิยมแพร่หลายในไทย
ที่มาและความหมายของสีบน ธงฉัพพรรณรังสี
โดย ธงฉัพพรรณรังสี ได้แรงบันดาลใจจากรัศมีที่แผ่ออกมาจากพระวรกายของพระพุทธเจ้า 6 สี อันประกอบด้วย
1.นีลํ สีนิลเขียวเหมือนดอกอัญชัน
2.ปีตํ สีเหลืองเหมือนหรดาล (แร่ชนิดหนึ่งประกอบด้วยสารหนูและกำมะถัน ใช้เขียนลายรดน้ำ)
3.โอทาตํ สีขาวเหมือนแผ่นเงิน
4.โลหิตกํ สีแดงเหมือนแสงตะวันรอน
5.มญเชฏฐํ สีแดงปนเหลือง หรือสีแสด เหมือนหงสบาท (เท้าหงส์) หรือเหมือนสีดอกหงอนไก่
และ 6.ปภสสรํ สีเลื่อมพรายเหมือนแก้วผลึก คือการรวมกันของสีทั้งห้า รวมเรียกว่า“ฉัพพรรณรังสี” อันแปลว่ารัศมี 6 สี
ซึ่งสีในธงฉัพพรรณรังสีแต่ละสีมีความหมายอื่นแฝงดังต่อไปนี้
สีนีละ: พระมหากรุณาธิคุณแห่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันแผ่ไพศาลไปทั่วสากลจักรวาล
สีปีตะ: มัชฌิมาปฏิปทาหรือทางสายกลาง คือ การหลีกเหลี่ยงความสุดโต่งทั้งปวง
สีโรหิตะ: การอำนวยพรให้ประสบความสำเร็จ สมบูรณ์พร้อมด้วยสติปัญญา คุณงามความดี ความเป็นผู้มีโชค และเกียรติยศทั้งปวง
สีโอทาตะ: ความบริสุทธิ์แห่งพระธรรม ซึ่งเป็นของที่ไม่จำกัดกาล (อกาลิโก) และนำปวงชนไปสู่ความหลุดพ้น
สีมัญเชฏฐะ: พระปัญญาคุณแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
สีประภัสสร: ความจริงทั้งหมดในพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ใครคือผู้ออกแบบธงฉัพพรรณรังสี
ธงฉัพพรรณรังสี ออกแบบโดยนายพันเอก เฮนรี สตีล โอลคอต (Col. Henry Steel Olcott) นายทหารนักหนังสือพิมพ์ชาวอเมริกัน หนึ่งในผู้ก่อตั้งสมาคมเทวญาณสากล (Theosophical Society) และองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก หรือ พ.ส.ล. (World Fellowship of Buddhists – WFB) ได้ออกประกาศรับรองธงฉัพพรรณรังสีให้เป็นธงพุทธศาสนาสากลเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ณ กรุงโคลอมโบ ประเทศศรีลังกา โดยนายพันเอก เฮนรี สตีล โอลคอตได้นำสีทั้งหกมาดัดแปลงเป็นผืนธง โดยมีลักษณะเป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้า แบ่งเป็นแถบเรียงเป็นแนวตั้งความกว้างเท่ากัน 6 แถบ เรียงลำดับแถบสีจากด้านซ้าย (ซึ่งเป็นด้านต้นของธง) ไปทางขวาดังนี้ แถบแรกสีน้ำเงิน แถบที่ 2 สีเหลือง แถบที่ 3 สีแดง แถบที่ 4 สีขาว แถบที่ 5 สีแสด ส่วนแถบสุดท้ายหรือแถบสีประภัสสร เป็นแถบสีที่เกิดจากการนำแถบสีทั้ง 5 สีแรกในตอนต้นมาเรียกลำดับใหม่ในแนวนอน
อนึ่ง แต่เดิมนั้นพันเอก เฮนรี สตีล โอลคอต นับถือศาสนาคริสต์ จนกระทั่งได้อ่านรายงานการสนทนาธรรมของท่านคุณานันทะกับบาทหลวงชาวคริสต์ที่สนทนาธรรมแบบมาราธอน 3 วัน 3 คืน ก็ทำให้เขาตัดสินใจเดินทางข้ามโลกมาศึกษาศาสนาพุทธที่ศรีลังกาด้วยความเลื่อมใส แล้วที่สุดก็ประกาศตนเป็นพุทธมามกะและสร้างคุณความดีแก่ชาวพุทธอีกนับไม่ถ้วน
ธงฉัพพรรณรังสีและบาตรที่จะใช้ใน
พิธีอัญเชิญ ต้นปรมตฺถสิริมหาโพธิ หน่อเนื้อพุทธางกูร จากศรีลังกาในวันศุกร์ที่ 12 พ.ค. 2566
ติดตามร่วมรับชมไลฟ์สด ชม ธงฉัพพรรณรังสี หนึ่งในศาสนวัตถุชิ้นสำคัญที่จะใช้ร่วม “พิธีอัญเชิญ ต้นปรมตฺถสิริมหาโพธิ หน่อเนื้อพุทธางกูร จากศรีลังกา มาประดิษฐานปลูก ณ ลานธรรมหลวงปู่ทวด วัดแหลมแค จ.ชลบุรี “ อย่าลืมกดติดตามเพจ MTHAI เพื่อสาธุบุญร่วมกัน ที่ Fanpage FB : MTHAI ในวันศุกร์ที่ 12 พ.ค. 66 เวลาประมาณ 6 โมงเช้าเป็นต้นไป