ฮวงจุ้ย ฮวงซุ้ย เช็งเม้ง

ขั้นตอนการไหว้ เช็งเม้ง 2567 เริ่มตั้งแต่ 15 มีนาคมนี้

ข้อห้ามหรือข้อที่ไม่ควรทำในวันเช็งเม้ง ได้แก่ ผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์และผู้หญิงที่มีประจำเดือนไม่ควรไปสุสาน ห้ามวางของที่แท่นหินหน้าป้ายชื่อ ซึ่งเป็นทางเข้าออกของวิญญาณ ไม่ควรถ่ายรูปหรือแสดงท่าทางไม่เคารพต่อบรรพบุรุษ ไม่ควรปักธงหรือปลูกต้นไม้บนหลุมสุสาน และที่สำคัญ ไม่ควรไปร่วมพิธีไหว้เช็งเม้งกับครอบครัวอื่น

Home / พิธีกรรม / ขั้นตอนการไหว้ เช็งเม้ง 2567 เริ่มตั้งแต่ 15 มีนาคมนี้

เทศกาล เช็งเม้ง (ภาษาแต้จิ๋ว) หรือ “เฉ่งเบ๋ง” (ภาษาจีนฮกเกี้ยน) เป็นประเพณีสำคัญของชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนอันเป็นการแสดงความกตัญญกตเวทีต่อบรรพบุรุษผู้ล่วงลับตามคำสอนของลัทธิขงจื้อ ด้วยการไปไหว้บรรพบุรุษที่สุสานหลุมฝังศพ หรือ ฮวงซุ้ย อย่างพร้อมหน้าพร้อมตาทั้งครอบครัว โดยคำว่า เช็งเม้ง มาจากคำว่า “เช็ง”หรือ”เฉ่ง” หมายถึง สะอาด บริสุทธิ์ และ “เม้ง”หรือ”เบ๋ง” หมายถึง สว่าง รวมแล้วหมายความถึง ช่วงเวลาแห่งความแจ่มใส รื่นรมย์ แล้วรื่นรมย์ตรงไหนกันในเมื่อเราไปเช็งเม้งกันในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน อันเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดของไทยเราทุกปี

เช็งเม้ง 2567

เช็งเม้ง

ทั้งนี้ก็เพราะว่า เช็งเม้งในประเทศจีน เริ่มต้นประมาณ 4-5 เมษายน ไปจนถึง 19-20 เมษายน ซึ่งตรงกับช่วงฤดูใบไม้ผลิ อากาศจะอบอุ่นขึ้น มีฝนตกปรอย ๆ บรรยากาศสดชื่น ฟ้าเปิดใสสว่าง นี่จึงเป็นที่มาของชื่อ เช็งเม้ง นั่นเอง

สำหรับเทศกาล “เช็งเม้ง” ในประเทศไทยคือ วันที่ 5 เมษายนของทุกปี และช่วงเวลาในเทศกาลเช็งเม้งมี 7 วัน คือ ระหว่างวันที่ 2 – 8 เมษายน โดยให้นับวันก่อนถึงเทศกาลเช็งเม้ง 3 วัน และเลยไปอีก 3 วัน แต่เนื่องจากปัญหาการจราจรที่หนาแน่น จึงมีการขยายช่วงเวลาเทศกาลให้เร็วขึ้นอีก 3 สัปดาห์ (ประมาณ 15 มีนาคม – 8 เมษายน)

การไหว้เช็งเม้ง

การไหว้เช็งเม้ง แบ่งเป็น 2 ส่วน คือจะมีทั้งการไหว้บรรพบุรุษที่สุสาน และ ไหว้บรรพบุรุษที่บ้าน

สำหรับการไหว้บรรพบุรุษที่บ้านก็คือการตั้งโต๊ะจัดเตรียมอาหารคาวหวาน กระดาษเงิน กระดาษทองพร้อมทั้งเสื้อผ้า ฯลฯ เหมือนเช่นการไหว้บรรพบุรุษตามปกติ

ขั้นตอนการไหว้เช็งเม้งที่สุสาน

1.ก่อนวันพิธีจะต้องทำความสะอาดหลุมฝังศพบรรพบุรุษให้เรียบร้อยเสียก่อน ต้องลงสีป้ายชื่อหลุมฝังศพให้ดูใหม่ ข้อสำคัญคือห้ามถอนหญ้าบนหลุมเด็ดขาดเพราะจะกระทบฮวงจุ้ยอันส่งผลถึงชะตาชีวิตลูกหลานได้ (เป็นความเชื่อตามหลักฮวงจุ้ยของชาวจีน) ขั้นตอนนี้สามารถติดต่อที่สุสานให้จัดการเตรียมให้ล่วงหน้าและนัดหมายวันเดินทางได้เลย

2.ในวันพิธี ให้กราบไหว้เจ้าที่ และ เทพยดาฟ้าดิน ก่อนเข้าไหว้ที่หลุมศพ

  • เทียน 1 คู่ + ธูป 5 ดอก ( อาจปักลงบนฟักตัดแบ่งเป็นท่อนๆ ใช้แทนกระถางธูปได้ )
  • ชา 5 ถ้วย
  • เหล้า 5 ถ้วย
  • ของไหว้ต่าง ๆ เช่น ขนมอี๋ ผลไม้ (ควรงดเนื้อหมูเพราะบางแห่งเจ้าที่เป็นอิสลาม)
  • กระดาษเงิน กระดาษทอง
ฮวงซุ้ย

3.ตกแต่งหลุมฝังศพและกราบไหว้บรรพบุรุษ

ลูกหลานก็จะไปตกแต่งประดับประดาหลุมฝังศพ โดยมักจะตกแต่งด้วยสายรุ้ง ธงกระดาษ ดอกไม้ต่างๆ แต่ห้ามปักธงบนหลังเต่า (เนินดินบนหลุมศพ) เพราะถือว่าเป็นการทิ่มแทงหลุม ทำให้หลังคาบ้านรั่ว กลายเป็นฮวงจุ้ยไม่ดี จากนั้นนำเครื่องเซ่นไหว้ อาหารคาวหวาน ผลไม้มงคล ไปตั้งหน้าหลุม พร้อมเผากระดาษเงินกระดาษทองและของใช้ให้บรรพบุรุษไม่อดอยาก โดยต้องเผาอ่วงแซจิ่ว หรือใบผ่านทางเป็นอันดับแรก เพื่อเปิดทางให้ของไหว้ต่าง ๆ ส่งถึงบรรพบุรุษ โดยรายละเอียดของไหว้มีดังต่อไปนี้

  • ชา 3 ถ้วย
  • เหล้า 3 ถ้วย
  • ไก่ต้ม 1 ตัว
  • หมูสามชั้น ต้ม 1 ชิ้น (โดยประมาณขนาด 1/2 กิโลกรัมขึ้นไป)
  • เส้นบะหมี่สด
  • ขนม 3 อย่าง คือ เต่เหลี่ยว ข้าวเหนียวกวน ขนมเต่า (ขนมกู้)
  • ขนมถ้วยฟู (ฮวดโก้ย)
  • ขนมจูชังเปี๊ยะ (ขนมเช็งเม้ง ของชาวแต้จิ๋ว 1 ปีจะมีโอกาสได้กินเฉพาะเทศกาลนี้เท่านั้น)
  • สับปะรด 2 ลูก (ใช้ทั้งก้านและหัวจุก) หรือ ผลไม้มงคลต่างๆ
  • ชาวแต้จิ๋วถือเคล็ด จะตั้งหอยแครงลวกไหว้ด้วย เมื่อลาของไหว้เสร็จแล้วก็จะแกะหอยแครงกินกันตรงหน้าหลุมเลย กินเสร็จก็เอาเปลือกหอยแครงโปรยลงไปที่สุสาน เป็นสัญลักษณ์ของความรักสามัคคีในครอบครัว (อ่านเพิ่มเติมที่มาของ หอยแครง ของเซ่นในวันเช็งเม้ง คลิก!)
  • อ่วงแซจิ่ว กระดาษเงิน กระดาษทอง ชุดเสื้อผ้า รองเท้า ประทัด ฯลฯ
  • เทียน 1 คู่ + ธูป ตามจำนวนบรรพบุรุษ ท่านละ 1 ดอก

ทั้งนี้อาหารคาวหวาน กระดาษที่นำมาไหว้นั้น แล้วแต่แต่ละครอบครัวจะจัดเตรียม หรือปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมตามงบประมาณ

จากนั้นให้ผู้อาวุโสเป็นผู้นำกราบไหว้ ( ปักธูป 3 รอบ ) เมื่อเทียนใกล้หมดก้านก็ให้ลูกหลานตีวงล้อมด้วยเส้นหวาย เพื่อเผากระดาษเงิน กระดาษทอง ฯลฯ เป็นการกำหนดขอบเขตว่าสิ่งเหล่านี้ลูกหลานส่งให้บรรพบุรุษของครอบครัวนั้นๆ เป็นการเฉพาะเพื่อป้องกันการแย่งชิง โดยคนตีวงล้อม จะต้องเป็นลูกหลานเท่านั้น เมื่อเสร็จสิ้นพิธีแล้ว บางครอบครัวอาจจะมานั่งล้อมวงรับประทานอาหารร่วมกันเป็นการแสดงความกลมเกลียวสามัคคีต่อหน้าบรรพบุรุษ จากนั้นก่อนกลับให้จุดประทัดบริเวณหลุมโดย ปี 2567 ทิศตะวันตกเป็นทิศอสูร หรือทิศร้าย ดังนั้นห้ามจุดประทัดในทิศตะวันตกโดยเด็ดขาด

ข้อห้ามหรือข้อที่ไม่ควรทำในวันเช็งเม้ง

  • ผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์และผู้หญิงที่มีประจำเดือนไม่ควรไปสุสาน
  • ห้ามวางของที่แท่นหินหน้าป้ายชื่อ ซึ่งเป็นทางเข้าออกของวิญญาณ
  • ไม่ควรถ่ายรูปหรือแสดงท่าทางไม่เคารพต่อบรรพบุรุษ
  • ไม่ควรปักธงหรือปลูกต้นไม้บนหลุมสุสาน
  • ไม่ควรไปร่วมพิธีไหว้เช็งเม้งกับครอบครัวอื่น

ฮวงซุ้ยบรรพบุรุษ คือ ฮวงจุ้ยแห่งความร่ำรวยและอยู่เย็นเป็นสุขของลูกหลาน

ชาวจีนถูกปลูกฝังจิตสำนึก ความเชื่อด้วยคำสอนจากลัทธิขงจื้อ (ความกตัญญู) และลัทธิเต๋า (พลังธรรมชาติ) กันมาอย่างยาวนานฝังรากลึกนับพันปี สำหรับชาวจีนเคร่งปฏิบัติรุ่นก่อนๆ เมื่อถึงคราวสิ้นอายุขัยก็จะไม่เผาศพ แต่จะเลือกทำเลฮวงจุ้ยดีๆ ฝังศพลงดินเป็นฮวงซุ้ย (สุสาน) เพื่อให้ลูกหลานได้มากราบไหว้แสดงความกตัญญูกตเวที ระลึกถึงรากเหง้าของตนในทุกๆ ปีโดยทำเลที่นิยมกันก็คือ ข้างหน้าติดแหล่งน้ำ ส่วนด้านหลังเป็นภูเขา ให้มีพลังธรรมชาติดิน น้ำ ลม และ ไฟ (แสงสว่างจากพระอาทิตย์และพระจันทร์) หมุนเวียนรอบๆ ฮวงซุ้ย เช่นนี้จึงจะเป็นฮวงซุ้ยที่ดี ดวงวิญญาณบรรพบุรุษได้รับพลังงานดีๆ นำไปสู่ภพภูมิที่ดี ลูกหลานได้รับความเจริญรุ่งเรือง ทั้งการงาน การเงินและสุขภาพ ซึ่งนับเป็นกุศโลบายในการรวมญาติ สร้างความสมัครสมานสามัคคีกันในครอบครัวอีกทางหนึ่ง

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

กระแส ‘เช็งเม้งรักษ์โลก’ ตัวเลือกเซ่นไหว้ผู้ล่วงลับแบบใหม่ในจีน

คำขอขมาอโหสิกรรมต่อบรรพบุรุษ วงศ์ตระกูล

ทำไมต้องเซ่นไหว้ หอยแครง ในวันเช็งเม้ง