คาถาบูชาพญานาค พญานาค วิธีบูชาพญานาค

วิธีบูชาพญานาค และเคล็ดลับการตั้งบูชาพญานาคในบ้าน

พญานาคมีความผูกพันกับพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก เป็นผู้ที่ดูแล ปกปักพระพุทธศาสนา เช่น บันไดที่ขึ้นบนอุโบสถ ก็จะตกแต่งทำเป็นบันไดพญานาค และจิตรกรรมฝาผนังต่างๆ เป็นต้น MThai จึงนำ วิธีบูชาพญานาค และเคล็ดลับการตั้งบูชาพญานาคในบ้าน

Home / พิธีกรรม / วิธีบูชาพญานาค และเคล็ดลับการตั้งบูชาพญานาคในบ้าน

พญานาคหมายถึงงูใหญ่ มีหงอน สัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ ความอุดมสมบูรณ์ วาสนา และบันไดสายรุ้งสู่จักรวาล เป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์ จากการจำศีลและบำเพ็ญภาวนา มีความศรัทธาในพุทธศาสนา ไม่เบียดเบียนผู้อื่น พญานาคนั้นจะมีความผูกพันกับพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก เป็นผู้ที่ดูแล ปกปักพระพุทธศาสนา เช่น บันไดที่ขึ้นบนอุโบสถ ก็จะตกแต่งทำเป็นบันไดพญานาค และจิตรกรรมฝาผนังต่างๆ เป็นต้น MThai จึงนำ วิธีบูชาพญานาค และเคล็ดลับการตั้งบูชาพญานาคในบ้าน

วิธีบูชาพญานาค

กำเนิดพญานาค

ในสุทธกสูตรกล่าวถึงพญานาคว่า มีกำเนิด 4 อย่าง คือ
(1) เกิดในฟองไข่เรียกว่า อัณฑชะ
(2)เกิดในครรภ์เรียกว่า ชลาพุชะ
(3) เกิดในที่หมักหมมเรียกว่าสังเสทชะ
(4) เกิดแล้วโตทันที เรียกว่า โอปปาติกะ

ในหิตสูตร แบ่งพญานาคในกำเนิดทั้ง 4 ออกเป็น 4 ตระกูล คือ
(1)ตระกูลวิรูปักขะ มีผิวกายเป็นสีทองคำ
(2) ตระกูลเอราปักถะ มีผิวสีเขียว
(3) ตระกูลฉัพยาปุตตะ มีผิวสีรุ้ง
(4) ตระกูลกัณหาโคตมะ มีผิวสีดำ

… พระพุทธเจ้าทรงแสดงเหตุและปัจจัยที่บุคคลเมื่อตายไปแล้วกำเนิดเป็นนาคทั้งสี่ตระกูล ล้วนกำเนิดด้วยอำนาจบุญ ได้บริจาคทานและการตั้งปรารถนาอย่างแรงกล้าว่า เมื่อตนตายไปแล้ว ขอให้ได้เกิดเป็นนาค พญานาคมีหน้าที่ปกป้องค้ำชูพระพุทธศาสนา

ความเชื่อเรื่องพญานาคหรืองูใหญ่ในภูมิภาคต่างๆ ของโลก
พญานาคหรืองู ในตำนานของฝรั่ง หรือชาวตะวันตก ถือว่าเป็นตัวแทนของกิเลส ความชั่วร้าย อย่างในตำนานอดัมและอีฟ ตรงข้ามกับชาวตะวันออก ที่ถือว่า งูใหญ่ พญานาค มังกร เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พลังอำนาจ

มุจลินท์

ความเชื่อพญานาคในพุทธศาสนาและพราหมณ์-ฮินดู

ในทางพระพุทธศาสนา ดั่งเรื่องราวของท่านพญามุจลินท์ เป็นพญานาคซึ่งปรากฏในพุทธประวัติและปรากฏในพระพุทธรูปปางนาคปรก โดยมุจลินท์นาคราชเป็นผู้แผ่พังพานปกป้องพระสมณโคดม เมื่อเกิดพายุฝนเป็นเวลา 7 วันขณะเสวยวิมุตติสุขในสัปดาห์ที่ ๖ หลังจากการตรัสรู้ที่ใต้ต้นมุจลินท์หรือต้นจิก

อีกหนึ่งเรื่องราวที่เกี่ยวกับนาคในพระพุทธศาสนา มีนาคหนึ่งตนที่ต้องการจะบวชเป็นพระภิกษุ เพราะรังเกียจในชาติกำเนิดของตน จึงจำแลงกายเป็นพระภิกษุสงฆ์ และถูกจับได้ในภายหลัง จึงไม่ได้รับอนุญาตให้บวชได้ เพราะนาคนั้นมิใช่มนุษย์ พระองค์ตรัสกับนาคว่า “เธอเป็นนาค ไม่สามารถเจริญในพระธรรมวินัยของเราได้ หากเธอปรารถนาเป็นมนุษย์ ขอให้เธอรักษาศีล 8 ในวันที่ 14, 15 และ 8 ผลบุญแห่งศีลจะส่งผลให้เธอพ้นจากชาติกำเนิดที่เป็นนาค และจะได้เกิดเป็นมนุษย์ในชาติถัดไป”

ชาวฮินดูหรือศาสนาพราหมณ์ถือว่า พญานาคเป็นผู้ใกล้ชิดกับเทพองค์ต่าง ๆ เป็นเทพเจ้าแห่งน้ำ เช่น อนันตนาคราช ที่เป็นบัลลังก์ของพระนารายณ์ตรงกับความเชื่อของลัทธิพราหมณ์ ที่เชื่อว่า นาค เป็นเทพแห่งน้ำ และพญาสุกรีนาคราช แต่ยังอีกตำนานหนึ่งที่กล่าวถึงกษัตริย์ นาคาอันยิ่งใหญ่อีกองค์หนึ่งที่มีชื่อว่า “วาสุกรี” เป็นบุตรของพระกัศยปมุนีและนางกัทรุ และเป็นพี่น้องกับ พญา อนันตนาคราช (พญานาคราชคู่บารมีของพระวิษณุ)

และอีกองค์ที่ไม่กล่าวไม่ได้ คือ พญาวาสุกรีเป็นนาคราชที่พระศิวะใช้เป็นสายธนูในการทำลาย ล้างเมืองตรีปุระ ในตำนานที่พระศิวะปราบตรีปุราสูร มีบางตำนานกล่าวว่างูที่พันรอบพระศอขององค์พระศิวะก็คือ วาสุกรีนาคราช

พญานาค

ในอินเดียตอนเหนือให้การนับถือพญาวาสุกรีเป็นอย่างมากในฐานะเทพเจ้าองค์หนึ่ง ในพิธี “นาคปัญจมี” ซึ่งเป็นพิธีบูชางูของอินเดีย ก็จะมีการบูชา พญาวาสุกรี ร่วมด้วย และอีกตำนานคือ “กวนเกษียรสมุทร” ซึ่งเป็นตำนานยิ่งใหญ่ที่อยู่ในมหากาพย์มหาภารตะของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูตามความเชื่อ การไหว้สักการะพญานาค เพื่อเสริมในเรื่องของโชคลาภ ทรัพย์สินเงินทอง การค้าขาย ทำมาค้าคล่อง และเรื่องเสี่ยงโชค ร่ำรวย มีเสน่ห์

พญานาค

วิธีการบูชาพญานาคในบ้าน
การบูชาพญานาค นิยมบูชาทุกวันขึ้น 15 ค่ำของทุกเดือน
หากจะนำพญานาคมาบูชาที่บ้าน ควรจัดวางท่านอยู่ในอ่างน้ำ โดยหันหน้าไปทางทิศตะวันออกหรือทิศเหนือ ไม่หันหน้าออกประตูบ้านอย่างชัดเจน ไม่ไกลจากตัวบ้านมากนักและต้องไม่มีน้ำจากหลังคาหยดลงเศียรของท่าน ขนาดขององค์ท่านขึ้นอยู่กับขนาดของตัวบ้าน และควรมีการดูแลทำความสะอาดอ่างพ่อปู่พญานาคให้สะอาดอย่างสม่ำเสมอ

การเบิกเนตรพญานาค ควรได้รับความเมตตาจากพระเกจิอาจารย์ แต่หากคิดจะเบิกเนตรท่านเอง ต้องถือศีลอุโบสถ 3 วันก่อนจะเบิกเนตรท่าน แต่ถ้าหากว่าไม่สะดวก ก็สามารถจัดหารูปภาพมาบูชาและหมั่นระลึกถึงองค์ท่าน ก็สามารถทำได้เช่นกัน

การจัดเตรียมเครื่องบูชา สามารถไหว้เองที่บ้านก็ได้

  1. ดอกไม้หอม เช่น ดอกมะลิ ดอกพุทธชาด
  2. ธูปหอม 9 ดอก หรือกำยาน
  3. ผลไม้ เช่น กล้วย มะพร้าว ( ผลไม้ที่ไม่มีรสชาติจัดจ้านหรือเปรี้ยวจนเกินไป ห้ามเนื้อสัตว์)
  4. น้ำสะอาดยิ่งถ้าเป็นน้ำฝนหรือน้ำแร่ยิ่งดี
  5. นมจืด (ไม่ปรุงแต่ง )
  6. เนยสด (ไม่ปรุงแต่ง)
  7. เครื่องหอม คือ น้ำมันจันทร์หอม ประพรมองค์ท่าน

สิ่งที่องค์พญานาคโปรดปรานมากที่สุด นั่นก็คือบุญ ผู้ที่หมั่นถือศีล ปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิและน้อมบุญถวายแด่องค์พญานาคทุกหมู่เหล่า ทุกสายญาณ ให้ท่านได้ร่วมอนุโมทนาบุญไปกับเรา ก็จะทำให้ท่านนั้นได้รับรู้ และอิ่มเอมกับบุญ และท่านมักจะช่วยดลบันดาลโชคลาภ วาสนากลับมาให้เป็นการตอบแทน

พญานาค

คาถาบูชาพญานาค

บทอัญเชิญ
นะโมตัสสะภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)
“นะมามิ ลิละ สาเข ปัตถะ ละปะ ธัมเม สะคะลับตี สะเยตานาคะ ลาเชนะยะ ปิสะโตฯ”
ต่อด้วย บทบูชาพญานาค
“นะติตัง พญามะ นาคะ อภินัง นาคา สาธุโนภันเต ยะมะ ยะมะ”

และต่อด้วย บทขันธปริตร
วิรูปักเขหิ เม เมตตัง เมตตัง
เอราปะเถหิ เม ฉัพ์ยาปุตเตหิ เม เมตตัง เมตตัง
กัณหาโคตะมะเกหิ จะ อะปาทะเกหิ เม เมตตัง เมตตัง ทิปาทะเกหิ เม จะตุปปะเทหิ เม เมตตัง เมตตัง
พะหุปปะเทหิ เม มา มัง
อะปาทะโก หิงสิ มา มัง
หิงสิ ทิปาทะโก มา มัง
จะตุปปะโท หิงสิ มา มัง
หิงสิ พะหุปปะโท
สัพเพ สัตตา สัพเพ ปาณา สัพเพ ภูตา จะ เกวะลา สัพเพ ภัท์รานิ ปัสสันตุ มา กิญจิ
ปาปะมาคะมา อัปปะมาโณ พุทโธ อัปปะมาโณธัมโม อัปปะมาโณสังโฆ
ปะมาณะวันตานิ สิริงสะปานิ
อะหิ วิจฉิกา สะตะปะที อุณณานาภี สะระพู มูสิกา
กะตา เม รักขา กะตา เม ปะริตตา
ปะฏิกกะมันตุ ภูตานิ
โสหัง นะโม ภะคะวะโต นะโม สัตตันนัง สัมมาสัมพุทธานัง ฯ

การบูชาพญานาคหรืองูในแบบศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

วันนาคปัญจมี ตรงกับศุกละปักษ์ ปัญจมี (ขึ้น 5ค่ำ) ในช่วงเดือนศรวณะหรือประมาณเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมในปฏิทินสากล สตรีชาวฮินดูจะทำการบูชานมัสการนาค หรืองู โดยถวายนมให้กับงูในวันนี้ และอธิษฐานให้น้องชายสุขภาพดีและครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข สำหรับบางท้องถิ่นเช่นในรัฐอานธรประเทศ ถือพรตอดอาหารในวันนาคจตุรถี หรือ 1วันก่อนถึงวันนาคปัญจมี โดยในรัฐทมิฬนาฑู จะมีการเฉลิมฉลองยาวนานถึง 6 วัน

การเตรียมเครื่องเซ่นสังเวย
นมสด
ขนม
ดอกไม้

การอารตีหรือบูชาไฟต่อหน้าเทวรูปของเทพแห่งนาคที่หล่อด้วยเงิน แกะด้วยหิน ไม้หรือภาพวาดบนผนังอย่างใดอย่างหนึ่ง จากนั้นก็ราดด้วยน้ำก่อน ตามด้วยน้ำนมโคสด และทำการบูชานมัสการด้วยการท่องบทสวดดังต่อไปนี้

“นาคะ ปรีตา ภะวันติ ศานติมาปโนติ พิอะ วิโพห สะศันติ โลกะ มา สาธยะ โมทะเต สัสถิตะ สะมะห์
ให้ทุกคนจงได้รับพรจากพระนาคาและนาคี ขอให้ทุกคนได้รับสันติสุข ขอประสาทพรให้ทุกคนอยู่อย่างสงบสุขและปราศจากทุกข์ทั้งปวง”


ดั่งจะเห็นได้ว่า การเตรียมเครื่องบูชาทั้งของแบบพุทธและพราหมณ์-ฮินดู มีความคล้ายคลึงกันอยู่มาก แต่พราหมณ์-ฮินดู มีการนำไฟมาบูชาด้วย เพราะไฟเปรียบเสมือนการขจัดสิ่งชั่วร้ายออกไปนั่นเอง

สถานที่ที่ควรไปกราบสักการะมีมากมาย แต่จะยกขึ้นมาเพียง 7 สถานที่

  1. คำชะโนด อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี
  2. วัดถ้ำศรีมงคล หรือ ถ้ำดินเพียง ตำบลผาตั้ง จังหวัดหนองคาย
  3. ลานพญาศรีสัตตนาคราช อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม
  4. ถ้ำพญานาค หรือ ถ้ำเมืองบาดาลจำลอง ที่ วัดไทย อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย
  5. ถ้ำนาคา อุทยานแห่งชาติภูลังกา บ้านดงชมภู อำเภอบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ
  6. แก่งอาฮง ตำบลไคสี อำเภอเมือง จังหวัดบึงกาฬ
  7. วัดถ้ำคีรีธรรม ตำบลหนองหญ้า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี

การจะกราบไหว้หรือเคารพบูชาสิ่งใด ควรจะเรียนรู้และตระหนักถึงความเป็นมา ความศักดิ์สิทธิ์และความสำคัญขององค์ท่าน ก็จะทำให้เราสามารถกราบไหว้ได้ถูกวิธี พร้อมน้อมจิตเคารพได้อย่างถูกต้อง และทำให้เกิดสัมฤทธิ์ผลนั้นเอง

บทความโดย อ.บุญลาด

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

บูชาพญานาคตามวันเกิด พร้อมบทสวดบูชาพญานาค

ทำไมก่อนบวชจึงเรียกว่า “นาค” และ “ขานนาค” คืออะไร

ไขความลับ! สิริมงคลของเราสถิตอยู่ตรงไหนขององค์พระพรหม ทั้ง 12 ปีเกิด