สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี สมเด็จพระพุฒาจารย์โต สมเด็จโตวัดระฆัง

๑๗ เมษายน ครบรอบ ๒๓๖ ปีเกิด สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี)

คาถาชินบัญชร ถือได้ว่าเป็นมรดกชิ้นสำคัญของสมเด็จพระพุฒาจารย์โตทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลัง ปัจจุบันพุทธศาสนิกชนชาวไทยยังคงนิยมสวดมนต์คาถาชินบัญชรสมเด็จโตวัดระฆังสืบมา

Home / พระสงฆ์/เกจิอาจารย์ / ๑๗ เมษายน ครบรอบ ๒๓๖ ปีเกิด สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี)

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี)
อริยสงฆ์ ๕ แผ่นดิน

สมเด็จพระพุฒาจารย์

สมเด็จพระพุฒาจารย์โต หรือ สมเด็จโตวัดระฆัง เป็นพระนักเทศน์และนักสอนธรรมะที่เลื่องชื่อในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น ด้วยท่านเป็นสมณะที่ไม่ยินดีในสมณศักดิ์ เป็นผู้สมถะ มักน้อย ไม่ทะยานในลาภ ยศ วัตถุ ไม่เรี่ยไร ไม่สะสมข้าวของ โดยมีเรื่องเล่าอภินิหารมากมายเกี่ยวกับท่านที่ยังเป็นที่ร่ำลือมาจนถึงปัจจุบัน

ประวัติสมเด็จโตวัดระฆัง

วัดอินทรวิหาร

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) เกิดในสมัยรัชกาลที่ ๑ (หลังสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ได้ ๗ ปีแล้ว) เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๕ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ปีวอก จุลศักราชที่ ๑๑๕๐ หรือวันพฤหัสบดีที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๓๓๑ ณ บ้านตำบลไก่จ้น (ท่าหลวง) อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีชื่อเดิมว่า โต ด้วยเหตุเกิดมาแล้วมีรูปร่างบอบบาง คนโบราณจึงมักตั้งชื่อให้ตรงกันข้ามเพื่อเป็นการข่มนาม จึงได้ชื่อว่า โต มารดาบิดาของท่านเป็นใครไม่ทราบแน่ชัด มีผู้กล่าวประวัติของท่านในส่วนนี้แตกต่างกันไปหลายฉบับ

ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๓ ต่อมาปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดและเมตตาสามเณรโตเป็นอย่างยิ่ง ครั้นอายุครบอุปสมบทปี พ.ศ. ๒๓๕๐ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนาคหลวง อุปสมบท ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีสมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) เป็นพระอุปัชฌาย์ มีฉายานามในพุทธศาสนาว่า “พฺรหฺมรํสี” เนื่องจากเป็นเปรียญธรรมจึงเรียกว่า “พระมหาโต” มานับแต่นั้น ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้โปรดเกล้าฯ ให้รับพระมหาโตไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์

“นอนอยู่อยุธยา มานั่งที่ไชโย โตที่วัดอินทร์ จำศีลที่วัดระฆัง”

สมเด็จโตวัดระฆัง

เป็นที่ทราบกันดีว่า พระมหาโตได้ออกธุดงค์ไปตามสถานที่ต่าง ๆ และมักจะสร้างปูชนียสถานในที่ต่าง ๆ เช่น สร้างพระพุทธไสยาสน์ไว้ที่วัดสะตือ ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สร้างพระพุทธรูปหลวงพ่อโต วัดไชโยวรวิหาร จังหวัดอ่างทอง เป็นต้น ซึ่งปูชนียสถานทุกแห่งที่ท่านสร้างจะมีขนาดใหญ่โตสมกับชื่อของท่านอยู่เสมอ การจะสร้างปูชนียสถานขนาดใหญ่เช่นนี้ล้วนแต่ต้องใช้ทุนทรัพย์และแรงงานจำนวนมากในการก่อสร้างจึงจะทำได้สำเร็จ สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเครื่องหมายแสดงถึงความศรัทธาและบารมีของท่าน ซึ่งเป็นที่เคารพเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชนในย่านที่ท่านได้ธุดงค์ผ่านไปอย่างชัดเจน ซึ่งพระพุทธรูปหลวงพ่อโตองค์สุดท้ายที่สร้าง คือ หลวงพ่อโต (พระพุทธศรีอริยเมตไตรย) วัดอินทรวิหาร กรุงเทพมหานคร ซึ่งขณะนั้นยังสร้างไม่แล้วเสร็จ

วัดระฆัง

ราวปี พ.ศ. ๒๔๑๐ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ได้มาเป็นประธานก่อสร้างปูชนียวัตถุครั้งสุดท้ายที่สำคัญของท่าน คือ พระพุทธรูปหลวงพ่อโต (พระศรีอริยเมตไตรย) ที่วัดอินทรวิหาร (ในสมัยนั้นเรียกว่า วัดบางขุนพรหมใน) ทว่ายังสร้างไม่ทันสำเร็จ โดยขณะนั้นก่อองค์พระได้ถึงเพียงระดับพระนาภี (สะดือ) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ก็ได้มรณภาพบนศาลาเก่าวัดบางขุนพรหมใน ณ วันเสาร์ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๘ ปีวอก เวลาเที่ยง ตรงกับวันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๑๕ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สิริรวมอายุได้ ๘๔ ปี อยู่ในสมณเพศ ๖๔ พรรษา เป็นเจ้าอาวาสครองวัดระฆังโฆสิตารามได้ ๒๐ ปี สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) มีชีวิตอยู่ในแผ่นดินรัชกาลที่ ๑ ถึง รัชกาลที่ ๕ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดระฆังฯ ตั้งแต่ในแผ่นดินรัชกาลที่ ๔ ถึงรัชกาลที่ ๕ นับเป็นพระอริยสงฆ์ ๕ แผ่นดินด้วยกัน

หลวงพ่อโต ปางอุ้มบาตร

พระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่สมเด็จโตสร้าง

  • พระพุทธไสยาสน์ วัดสะตือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ยาว ๒๕ วา
  • พระพุทธมหามุนีศรีมหาราช วัดกุฎีทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สูง ๑๘ เมตร
  • หลวงพ่อโต วัดกลางคลองข่อย จังหวัดราชบุรี สูง ๑๓ เมตร
  • หลวงพ่อโต (พระมหาพุทธพิมพ์) วัดไชโยวรวิหาร จังหวัดอ่างทอง สูง ๒๒.๖๕ เมตร
  • หลวงพ่อโต (พระพุทธศรีอริยเมตไตรย) วัดอินทรวิหาร กรุงเทพมหานคร สูง ๓๒ เมตร สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๑๐

มรดกทางธรรม

คาถาชินบัญชร ถือได้ว่าเป็นมรดกชิ้นสำคัญของสมเด็จพระพุฒาจารย์โตทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลัง ปัจจุบันพุทธศาสนิกชนชาวไทยยังคงนิยมสวดมนต์คาถาชินบัญชรสมเด็จโตวัดระฆังสืบมา

พระคาถานี้เป็นคาถาศักดิ์สิทธิ์ตกทอดมาจากลังกา ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ค้นพบในคัมภีร์โบราณและได้ดัดแปลงแต่งเติมให้ดีขึ้นเป็นเอกลักษณ์พิเศษ ผู้ใดสวดภาวนาพระคาถานี้เป็นประจำสม่ำเสมอจะทำให้เกิดความสิริมงคลแก่ตนเอง ศัตรูไม่กล้ากล้ำกราย มีเมตตามหานิยม ขจัดภัยตลอดจนคุณไสยต่างๆ

พระมหาโต

คาถาชินบัญชร

ตั้งนะโม ๓ จบ

ปุตตะกาโม ลาเภ ปุตตัง ธะนะกาโม ลาเภ ธะนัง
อัตถิกาเย กายะ ญายะ เทวานัง ปิยะตัง สุตะวา
อิติปิโส ภะคะวา ยะมะราชาโน ท้าวเวสสุวัณโณ
มะระณัง สุขัง อะระหัง สุคะโต นะโมพุทธายะ

เริ่มบทพระคาถาชินบัญชร

๑. ชะยาสะนากะตา พุทธา เชตวา มารัง สะวาหะนัง
จะตุสัจจาสะภัง ระสัง เย ปิวิงสุ นะราสะภา.
๒. ตัณหังกะราทะโย พุทธา อัฏฐะวีสะติ นายะกา
สัพเพ ปะติฏฐิตา มัยหัง มัตถะเกเต มุนิสสะรา.
๓. สีเส ปะติฏฐิโต มัยหัง พุทโธ ธัมโม ทะวิโลจะเน
สังโฆ ปะติฏฐิโต มัยหัง อุเร สัพพะคุณากะโร.
๔. หะทะเย เม อะนุรุทโธ สารีปุตโต จะทักขิเณ
โกณฑัญโญ ปิฏฐิภาคัสมิง โมคคัลลาโน จะ วามะเก.
๕. ทักขิเณ สะวะเน มัยหัง อาสุง อานันทะ ราหุลา
กัสสะโป จะ มะหานาโม อุภาสุง วามะโสตะเก.
๖. เกสะโต ปิฏฐิภาคัสมิง สุริโย วะ ปะภังกะโร
นิสินโน สิริสัมปันโน โสภิโต มุนิปุงคะโว
๗. กุมาระกัสสะโป เถโร มะเหสี จิตตะวาทะโก
โส มัยหัง วะทะเน นิจจัง ปะติฏฐาสิ คุณากะโร.
๘. ปุณโณ อังคุลิมาโล จะ อุปาลี นันทะสีวะลี
เถรา ปัญจะ อิเม ชาตา นะลาเฏ ติละกา มะมะ.
๙. เสสาสีติ มะหาเถรา วิชิตา ชินะสาวะกา
เอตาสีติ มะหาเถรา ชิตะวันโต ชิโนระสา
ชะลันตา สีละเตเชนะ อังคะมังเคสุ สัณฐิตา.
๑๐. ระตะนัง ปุระโต อาสิ ทักขิเณ เมตตะสุตตะกัง
ธะชัคคัง ปัจฉะโต อาสิ วาเม อังคุลิมาละกัง
๑๑. ขันธะโมระปะริตตัญจะ อาฏานาฏิยะ สุตตะกัง
อากาเส ฉะทะนัง อาสิ เสสา ปาการะสัณฐิตา
๑๒. ชินาณา วะระสังยุตตา สัตตะปาการะลังกะตา
วาตะปิตตาทิสัญชาตา พาหิรัชฌัตตุปัททะวา.
๑๓. อะเสสา วินะยัง ยันตุ อะนันตะชินะเตชะสา
วะสะโต เม สะกิจเจนะ สะทา สัมพุทธะปัญชะเร.
๑๔. ชินะปัญชะระมัชฌัมหิ วิหะรันตัง มะหีตะเล
สะทา ปาเลนตุ มัง สัพเพ เต มะหาปุริสาสะภา.
๑๕. อิจเจวะมันโต สุคุตโต สุรักโข
ชินานุภาเวนะ ชิตูปัททะโว
ธัมมานุภาเวนะ ชิตาริสังโค
สังฆานุภาเวนะ ชิตันตะราโย
สัทธัมมานุภาวะปาลิโต จะรามิ ชินะปัญชะเรติ.

ภาพโดย MTHAI TEAM
เนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
สักการะ หลวงพ่อโต พรมน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ วัดอินทรวิหาร
สักการะหลวงพ่อนนท์ วัดสุนทรธรรมิการาม สิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งคลองบางค้อ
ขอพรให้มีชื่อเสียงโด่งดัง ณ วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร