พระสังฆราช พระสังฆราชองค์ที่ 20 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ พระสังฆราช องค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

เพื่อให้ทุกคนได้รู้จักพระองค์ท่านมากขึ้น MThai จึงอยากพาทุกท่านมาศึกษา พระประวัติ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นี้ไปด้วยกัน

Home / พระสงฆ์/เกจิอาจารย์ / สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ พระสังฆราช องค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

หากจะพูดถึงบุคคลที่ประชาชนชาวไทยให้ความเคารพอีกหนึ่งท่าน ก็หนีไม่พ้นพระสังฆราช พระประธานแห่งภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนาที่ชาวไทยให้ความนับถือ โดยในปัจจุบันประเทศไทยได้มีการแต่งตั้ง พระสังฆราชเป็นองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว  เพื่อให้ทุกคนได้รู้จักท่านมากขึ้น MThai จึงอยากพาทุกท่านมาศึกษา พระประวัติ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นี้ไปด้วยกัน

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ พระสังฆราชองค์ที่ 20

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ มีพระนามเดิมว่า อัมพร ประสัตถพงศ์ ประสูติเมื่อเวลารุ่งเช้าของวันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2470 ตรงกับแรม 12 ค่ำ เดือน 7 ปีเถาะ ณ บ้านเลขที่ 28 หมู่ 1 ตำบลบางป่า อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี ในวัยเยาว์ ครอบครัวประกอบอาชีพค้าขาย และด้วยมีบุตรธิดามาก จึงได้ฝากท่านได้เรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนเทวานุเคราะห์ กองบินน้อยที่ 4 ตำบลโคกกะเทียม อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี กับ นาวาอากาศโท ทรัพย์ วรกี ผู้เป็นลุง ซึ่งมารับราชการทหารอากาศ อยู่ที่ลพบุรี จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 แล้วมาศึกษาต่อที่โรงเรียนประชาบาลวัดพเนินพลูจนจบชั้น ป. 4 ในปี พ.ศ. 2480

พระสังฆราช

การบรรพชาอุปสมบท

เมื่อ พ.ศ. 2483 พระองค์ผนวชเป็นสามเณร ณ วัดสัตตนารถปริวัตรวรวิหาร ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี โดยมีพระธรรมเสนานี (เงิน นนฺโท) เป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วย้ายไปอยู่วัดตรีญาติเพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม โดยมีพระครูศรีธรรมานุศาสน์ (โสตถิ์ สุมิตฺตเถร) เป็นพระอาจารย์คอยอบรมพระธรรมวินัย ต่อมาได้ทรงเข้าพิธีผนวชเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2491 ณ พัทธสีมาวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยมีพระเทพโมลี (วาสน์ วาสโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระจินดากรมุนี (ทองเจือ จินฺตากโร) เป็นพระกรรมวาจาจารย์

พระสังฆราช

การศึกษาพระปริยัติธรรม

ขณะจำพรรษาที่วัดตรีญาติ ตำบลพงสวาย สามเณรอัมพร ประสัตถพงศ์ สามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรีในปี พ.ศ. 2483 สอบได้นักธรรมชั้นโทในปีต่อมา ถึงปี พ.ศ. 2486 สามารถสอบได้นักธรรมชั้นเอกและเปรียญธรรม 3 ประโยค และสอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยคในปี พ.ศ. 2488

เมื่อ พ.ศ. 2490 ทรงย้ายมาอยู่จำพรรษา ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยสมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินฺตากโร) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระจินดากรมุนี นำมาฝากกับสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่พระเทพโมลี เป็น พระอุปัชฌาย์ และภายหลังอุปสมบท พระองค์ได้ศึกษาพระปริยัติธรรมต่อในสำนักเรียนวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม จน พ.ศ. 2491 สามารถสอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค และ พ.ศ. 2493 สามารถสอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยค

หลังได้เปรียญ 5 ประโยค พระองค์ได้ศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นนักศึกษารุ่นที่ 5 จบศาสนศาสตรบัณฑิต เมื่อปี พ.ศ. 2500 และทรงเดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ณ มหาวิทยาลัยพาราณสี (Banaras Hindu University) ประเทศอินเดีย จบการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2512 ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี

ปี พ.ศ. 2552 สภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ถวายศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพุทธศาสตร์

ปี พ.ศ. 2553 สภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ถวายปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาธรรมนิเทศ

 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

การแต่งตั้งพระสังฆราชองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

จนกระทั่งวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชโองการโปรดสถาปนาสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และได้เสด็จพระราชดำเนินไปประกอบพระราชพิธีสถาปนาเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 เวลา 16.50 น. ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยนิมนต์สมเด็จพระราชาคณะ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะภาค และเจ้าคณะจังหวัดทั่วราชอาณาจักร เข้าร่วมพระราชพิธี

คำสอนเตือนใจจากองค์พระสังฆราช

อยู่ให้เขาเบาใจ ยามจากไปให้เขาอาลัยถึง
ไม่ใช่อยู่ให้เขาหนักใจ จากไปให้เขาไล่ส่ง

อย่าทำเป็นตากระทู้ หูกระทะ

เปรียบเทียบถึงหูกระทะที่มีหูแต่ไม่ได้ยิน ส่วนตากระทู้ คือต้นไม้มีตาเป็นปุ่มๆ แต่มองไม่เห็น

จงตาดู หูฟัง นำแบบอย่างที่ดีงามมาปฏิบัติ
หรือคำสอนที่ว่า เขาสอนก็ฟัง เขาทำก็ดู
เรียนรู้แล้วปฏิบัติ ลงท้ายกลายเป็นสัตบุรุษ
แต่ถ้าเขาสอนก็ไม่จำ
เขาทำก็ไม่ดู
เรียนรู้ก็ไม่ปฏิบัติ
ลงท้ายกลายเป็นควาย….

ทีฆายุโก โหตุ สงฺฆราชา 26 มิถุนายน วันคล้ายวันประสูติ เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

เนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

จากผ้าห่อศพสู่ จีวร งานศิลปะเครื่องนุ่งห่มของผู้ละกิเลส

9 อานิสงส์เครื่องถวายสังฆทาน ถวายสังฆทานอย่างไรให้ได้ผลบุญ

ไหว้พระ สะเดาะห์เคราะห์ให้ชีวิตรุ่งโรจน์ ณ วัดอรุณราชวราราม