สมเด็จพระพุฒาจารย์ สมเด็จเกี่ยว เกี่ยว อุปเสโณ

สมเด็จพระพุฒาจารย์ สมเด็จเกี่ยว พระมหาเถระ ผู้เป็นต้นแบบแห่งสงฆ์

การเดินทางต่างประเทศบ่อยครั้ง เจ้าประคุณสมเด็จมีโอกาสพบปะกับชาวไทย และผู้นำทางการเมืองของไทยที่พลัดถิ่นอยู่ต่างประเทศ เป็นเหตุให้ทราบถึงความเป็นอยู่และความลำบากของชาวไทย ที่มีความจำเป็นต้องลี้ภัยการเมือง ซึ่งเป็นหนึ่งในแรงผลักดันให้เจ้าประคุณสมเด็จมุ่งการสร้างวัดในต่างประเทศ

Home / พระสงฆ์/เกจิอาจารย์ / สมเด็จพระพุฒาจารย์ สมเด็จเกี่ยว พระมหาเถระ ผู้เป็นต้นแบบแห่งสงฆ์

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) หรือสมเด็จเกี่ยว

พระมหาเถระผู้เป็นประวัติศาสตร์ความทรงจำพระพุทธศาสนาโลก

สมเด็จเกี่ยว


หากเอ่ยนามพระสงฆ์ “ผู้เป็นต้นแบบแห่งสงฆ์ ” ที่พุทธบริษัทปรารถนาจะได้พบเห็น อันเป็นหนึ่งในทัสนานุตริยะ ที่เป็นมงคลยิ่ง เจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เป็นพระมหาเถระที่ได้รับการกล่าวนามถึงมากที่สุดรูปหนึ่ง ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาบนผืนแผ่นดินไทย ด้วยใบหน้าที่เปิดยิ้ม ฉายแววแห่งความเมตตา ทักทายผู้คนทุกชนชั้นที่พบเห็น เจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นผู้ริเริ่มวางรากฐานแนวคิดนำพระพุทธศาสนาก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ และนำพระพุทธศาสนาขจรขจายไปก้องโลก

ชีวิตของพระสงฆ์รูปหนึ่ง เมื่อแรกตั้งใจบรรพชาเป็นสามเณรเพียง 7 วัน แต่กลับดำรงตนอยู่ในสมณเพศตลอดมาตราบเข้าสู่วัยชรา และสามารถสร้างคุณูปการแก่พระพุทธศาสนาได้อย่างอัศจรรย์ เหมือนชีวิตเกิดมาเพื่อต่อลมหายใจให้พระพุทธศาสนา


40 ปี ที่รอยเท้าเหยียบย่างลงบนหิมะอันหนาวเหน็บ ณ แผ่นดินนอกอาณาเขตพระพุทธศาสนา กว่าบัวจะบานกลางหิมะ กว่าพระธรรมทูตจะยืนได้อย่างสง่า และกว่าพระพุทธศาสนาจะเดินทางไปทั่วทุกมุมโลก จากนี้ไปโลกจะจดจารึกเรื่องราวชีวิตของผู้บุกเบิกแผ่นดินแห่งใหม่ให้กับพระพุทธศาสนา ในนาม “พระมหาเถระผู้เป็นประวัติศาสตร์ความทรงจำพระพุทธศาสนาโลก” สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)

เผยแผ่พระพุทธศาสนา

สมเด็จเกี่ยวกับการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

ในการเดินทางไปต่างประเทศช่วงแรกๆ เจ้าประคุณสมเด็จจะเน้นประเทศที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นพม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม ศรีลังกา ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ จีน และประเทศที่พระพุทธศาสนาเคยเจริญรุ่งเรือง แต่ถึงกาลล่มสลายไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย อินโดนีเซีย บังคลาเทศ เนปาล อินเดีย และอัฟกานิสถาน เป็นต้น จากนั้น ก็เดินทางไกลออกไปยุโรป และอเมริกา

จากการเดินทางต่างประเทศบ่อยครั้ง เจ้าประคุณสมเด็จมีโอกาสพบปะกับชาวไทย และผู้นำทางการเมืองของไทยที่พลัดถิ่นอยู่ต่างประเทศ เป็นเหตุให้ทราบถึงความเป็นอยู่และความลำบากของชาวไทย ที่มีความจำเป็นต้องลี้ภัยการเมือง ซึ่งเป็นหนึ่งในแรงผลักดันให้เจ้าประคุณสมเด็จมุ่งการสร้างวัดในต่างประเทศ ในโอกาสต่อมาสมเด็จเกี่ยว นำพระพุทธศาสนาสู่โลกยุคใหม่

ภายหลังสิ้นสุดยุคพระธรรมทูตทั้ง 9 สาย ของพระเจ้าอโศกมหาราช พระพุทธศาสนาก็เริ่มอ่อนแอลงทุกขณะ แล้วค่อยๆ เลือนหายจากโลกไปทีละสาย แม้ประเทศศรีลังกาที่เป็นปราการที่แข็งแกร่งที่สุดของพระพุทธศาสนาในยุคนั้น ก็ถึงกาลล่มสลายลง จนเหลือที่มั่นสุดท้ายบนแผ่นดินสุวรรณภูมิ อันเป็นผลงานการวางรากฐานของพระธรรมทูตต่างประเทศสายที่ 8 โดยมีพระโสณะและพระอุตตระเป็นหัวหน้าคณะ

แต่พระพุทธศาสนาในแผ่นดินสุวรรณภูมิ ไม่ว่าจะเป็นลาว เขมร หรือพม่าก็ตาม ต่างก็เริ่มอ่อนแรงลงตามกาลเวลา เพราะการเมืองของประเทศนั้นๆ และการเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ จนพระพุทธศาสนาเหลือปราการสุดท้ายบนผืนแผ่นดินไทย

พระพุทธศาสนาที่ดูท่าว่าจะเริ่มเลือนหายไปจากโลก กลับทอประกายเจิดจรัสขึ้นมาอีกครั้ง และแผ่รัศมีเรืองรองไปทั่วทุกมุมโลก เพราะความมุ่งมั่นที่จะรักษาพระพุทธศาสนาของพระสงฆ์ไทยทุกยุคทุกสมัย

เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นหนึ่งในพระมหาเถระผู้มุ่งมั่นที่จะเห็นพระพุทธศาสนามีความมั่นคงอยู่บนผืนแผ่นดินไทย และแผ่ไพศาลไปเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลก

แม้จะตั้งใจบวชเป็นสามเณรเพียง 7 วัน แต่กลับดำรงตนอยู่ในสมณเพศตลอดมาตราบเข้าสู่วัยชรา และสามารถสร้างคุณูปการแก่พระพุทธศาสนาได้อย่างอัศจรรย์ เหมือนชีวิตเกิดมาเพื่อต่อลมหายใจให้พระพุทธศาสนา

จริยวัตรและปฏิปทาที่งดงาม ภายใต้ใบหน้าที่อ่อนโยน มีรอยยิ้มฉายอยู่บนหน้าตลอดเวลา บ่งบอกพลังแห่งเมตตาธรรม เป็นภาพที่ติดตาและตรึงใจแก่ผู้พบเห็นอยู่ตลอด อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการฝึกฝนในพระกรรมฐานอย่างหนัก
เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้เรียนพระกรรมฐาน ในเบื้องต้นจากหลวงพ่อพริ้ง ซึ่งเป็นพระวิปัสสนาจารย์องค์สำคัญของเกาะสมุย โดยหลวงพ่อพริ้งได้นำเจริญพระกรรมฐานบนหลุมฝังศพ ขณะมีอายุ 12 ปี เท่านั้น ต่อมา ได้เรียนพระกรรมฐานจากเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถร) ซึ่งเป็นที่ทราบโดยทั่วไปว่า พระองค์ท่านมีความชำนาญด้านกสิณ และเจ้าประคุณสมเด็จฯ ยังได้ให้ความสนใจวิธีการเจริญพระกรรมฐานตามแนวต่างๆ

สมเด็จเกี่ยวนำพระพุทธศาสนาก้องโลก

สมเด็จพระพุฒาจารย์

ในส่วนงานพระพุทธศาสนาในต่างประเทศ เจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นผู้ริเริ่มเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ ริเริ่มการสร้างวัดไทยในต่างประเทศ และริเริ่มให้มีการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปประจำ ณ วัดไทยในต่างประเทศ ริเริ่มสานศาสนสัมพันธ์กับพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน และริเริ่มฟื้นฟูพระพุทธศาสนาเถรวาทในประเทศจีน ได้ออกเดินทางไปต่างประเทศทั่วทุกมุมโลก เพื่อหาแนวทางที่จะให้มีวัดเกิดขึ้นในประเทศนั้นๆ อันมีแรงบันดาลใจจากเจ้าประคุณสมเด็จสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถร) ผู้เป็นอาจารย์

เผยแผ่พระพุทธศาสนา

ลำดับเส้นทางชีวิตกับการวางรากฐานงานพระธรรมทูต ณ ดินแดนนอกอาณาเขตพระพุทธศาสนา

พ.ศ.2489 สอบได้นักธรรมชั้นเอก
พ.ศ.2497 สอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค
พ.ศ.2497 ไปร่วมประชุมฉัฏฐสังคีติ ณ ประเทศพม่า
พ.ศ.2498 เป็นกรรมการพิเศษแผนกตรวจสำนวนแปลวินัยปิฎก ฉบับปี 2500 ของคณะสงฆ์
พ.ศ.2499 เป็นอาจารย์สอนบาลี มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย
พ.ศ.2500 ไปร่วมประชุมอรรถกถาสังคยานา ณ ประเทศพม่า เป็นประธานหัวหน้าแผนกคณะพุทธศาสตร์ มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย
พ.ศ.2502 เป็นผู้ช่วยอธิการบดี มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย
เป็นหัวหน้าแผนกธรรมวิจัย มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย
ไปสังเกตการณ์พระพุทธศาสนาในประเทศใกล้เคียง ได้แก่ ลาว อินโดนีเซีย อินเดีย และศรีลังกา เป็นต้น
พ.ศ.2504 เป็นกรรมการหน่วยวิจัย จัดทำนามมานุกรมของคณะสงฆ์ โดยกรมศาสนา
พ.ศ.2505 เป็นหัวหน้าคณะเดินทางไปดูการศาสนาและเชื่อมศาสนสัมพันธ์ ที่ประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง และจีน ฯลฯ
พ.ศ.2506 เป็นประธานคณะกรรมการต้อนรับสมณทูต จากไต้หวัน
พ.ศ.2507 เป็นเลขาธิการมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย
ได้รับพระราชทานแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะภาค 9 เป็นหัวหน้าอำนวยการพระธรรมทูตสาย 8
พ.ศ.2508 ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค 9
เป็นเลขานุการสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช ญาโณทยมหาราเถระ สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 15 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
พ.ศ.2509 เป็นหัวหน้าคณะเดินทางไปสังเกตการณ์การศึกษาพระพุทธศาสนาที่ประเทศลาว และเวียดนาม
พ.ศ.2510 เป็นหัวหน้าคณะเดินทางไปสังเกตการณ์การศึกษาพระพุทธศาสนาที่ประเทศลาว และศรีลังกา ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง ในความอุปถัมภ์ของ พ.ส.ล.
พ.ศ.2511 เดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจเพื่อประกอบพิธีอุปสมบทให้กับชาวไต้หวัน ณ ประเทศไต้หวัน
พ.ศ.2512 เป็นกรรมการอำนวยการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ
พ.ศ.2513 เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดสระเกศ
เป็นกรรมการยกร่างหลักสูตรในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญ
พ.ศ.2514 ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดสระเกศ
พ.ศ.2515 เป็นหัวหน้าคณะไปปฏิบัติศาสนกิจที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อสังเกตการณ์พระพุทธศาสนาตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ตามคำนิมนต์ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา
พ.ศ.2516 เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม
พ.ศ.2524 ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค 10
เป็นรองประธานสภาสงฆ์แห่งโลก
พ.ศ.2525 ไปปฏิบัติศาสนกิจเพื่อสาธิตอุปสมบทกรรม และอุโบสถกรรม ตามแบบคณะสงฆ์ไทย ที่ประเทศศรีลังกา
พ.ศ.2528 เป็นประธานกรรมาธิการ สังคยานาพระธรรมวินัย ตรวจชำระ พระไตรปิฎก ในมหามงคลสมัยพระชนมพรรษา 5 รอบ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน
พ.ศ.2532 ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก
เป็นประธานคณะกรรมการสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ
พ.ศ.2534 เป็นประธานคณะกรรมการจัดการชำระและพิมพ์อรรถกถาพระไตรปิฎก เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในมหามงคลวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ 12 สิงหาคม พ.ศ.2535
เป็นประธานกรรมการศูนย์ควบคุมการไปต่างประเทศสำหรับพระภิกษุ สามเณร (ศ.ต.ภ.)
เป็นรองแม่กองงานพระธรรมทูต
พ.ศ.2535 เดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจเพื่อประกอบพิธีอุปสมบทให้กับชาวไต้หวัน ณ ประเทศไต้หวัน
พ.ศ.2537 เดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจเพื่อประกอบพิธีอุปสมบทให้กับชาวออสเตรเลีย ณ ประเทศออสเตรเลีย
พ.ศ.2539 เดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจ และสังเกตการณ์พระพุทธศาสนาในประเทศเยอรมัน
พ.ศ.2540 ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการฝ่ายเผยแผ่พระพุทธศาสนา มหาเถระสมาคม
เป็นประธานคณะกรรมการช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติและอุบัติภัย
พ.ศ.2541 เดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจเพื่อประกอบพิธีอุปสมบทให้กับชาวไต้หวัน ณ ประเทศไต้หวัน
พ.ศ.2542 เดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจเพื่อเปิดวัดนอร์เวย์ และสังเกตการณ์พระพุทธศาสนา ในภาคพื้นยุโรป เช่น สวีเดน เยอรมัน เนเธอแลนด์ เบลเยี่ยม ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส และสวิตเซอร์แลนด์
พ.ศ.2543 เดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจเพื่อประกอบพิธีอุปสมบทให้กับชาวไต้หวัน ณ ประเทศไต้หวัน
พ.ศ.2545 เป็นหัวหน้าคณะเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจ ณ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน
พ.ศ.2547 เป็นประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
พ.ศ.2549 ริเริ่มให้จัดตั้งกลุ่มโรงเรียนการกุศลของวัดในพระพุทธศาสนา
พ.ศ.2550 ริเริ่มให้จัดตั้งสถานีวิทยุและโทรทัศน์พระพุทธศาสนาภายใต้กำกับมหาเถรสมาคม
ริเริ่มให้พระสงฆ์นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้กับการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
พ.ศ.2551 จัดตั้งสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ ภายใต้กำกับมหาเถระสมาคม โดยการสนับสนุนของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นศูนย์กลางด้านความมั่นคงของพระพุทธศาสนา
พ.ศ.2553 ให้กำเนิดพระธรรมทูตอาสา 5 จังหวัด ชายแดนภาคใต้
มีพระบัญชาให้อัญเชิญพระคัมภีร์โบราณทางพระพุทธศาสนา 2,000 ปี จากประเทศนอร์เวย์ ประดิษฐานเป็นการถาวร ณ บรมบรรพต ภูเขาทอง
พ.ศ.2554 จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือวัด และผู้ประสบภัยน้ำท่วมของคณะสงฆ์
พ.ศ.2555 ก่อตั้งรางวัลระดับนานาชาติ “Awakening Leadership Award” และประกาศเกียรติคุณแก่ผู้นำชาวพุทธ กว่า 85 ประเทศทั่วโลก ณ องค์การสหประชาชาติ

10 สิงหาคม รำลึกมรณกาล สมเด็จพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ครบรอบ 10 ปีในปี 2566

ขอขอบคุณภาพประกอบและเนื้อหาบทความจาก วัดสระเกศ

เนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ พระผู้ทรงตรีปิฎกาจารย์ รูปที่ 2 ของโลก