พระอัญญาโกณฑัญญะ เป็นพระสงฆ์รูปแรกในพระพุทธศาสนา เป็นคนแรกที่มีดวงตาเห็นธรรม ยอมรับการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เดิมเป็นพราหมณ์ ฐานะเศรษฐี ชื่อ โกณฑัญญะ ส่วนคำว่า อัญญา ได้เพิ่มขึ้นมาในภายหลังที่ได้ฟังธรรมกับพระพุทธเจ้าแล้วนั่นเอง
ประวัติ พระอัญญาโกณฑัญญะ
โกณฑัญญะ เป็นบุตรของท่านโทณวัตถุ ซึ่งเป็นพราหมณ์ ฐานะเศรษฐี อยู่ไม่ไกลจากกรุงกบิลพัสดุ์ โดยบิดาได้ส่งให้เรียนจบการศึกษาขั้นสูง คือ ไตรเพท ได้แก่ ฤคเวท ยชุรเวท สามเวท และยังมีความเชี่ยวชาญพิเศษในการทายลักษณะบุคคล ดังนั้นเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะประสูติได้ 5 วัน โกณฑัญญะเป็นพราหมณ์เพียงคนเดียวที่ทำนายเจ้าชายสิทธัตถะไว้เพียงหนทางเดียวว่า พระราชกุมารจะเสด็จออกผนวช และสำเร็จเป็นศาสดาเอกของโลกอย่างแน่นอน ซึ่งทำนายแตกต่างจากพราหมณ์คนอื่นๆ ที่ทำนายว่าจะมี 2 ทางคือ ไม่เป็นพระมหาจักรพรรดิ ก็จะทรงออกผนวช
เวลาล่วงเลยมาถึง 29 ปี เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวช โกณฑัญญะได้ทราบข่าวจึงชวน วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ อัสสชิ จึงเรียกว่า ปัญจวัคคีย์ โดยหวังว่าถ้าเจ้าชายสิทธัตธะได้บรรลุธรรมก็จะสอนให้พวกตนบ้าง
เจ้าชายสิทธัตถะทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาอยู่นานถึง 6 ปี ทรงพิจารณาว่าไม่ถูกต้อง ร่างกายทรุดโทรม ไม่สามารถนำไปสู่การบรรลุธรรมได้ จึงหันมาบำเพ็ญเพียรทางจิตโดยยึดหลักมัชฌิมา เดินทางสายกลาง ด้านปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ก็คิดว่าเจ้าชายสิทธัตถะทรงหมดความเพียรแล้ว จึงชวนกันปลีกตัวออกห่าง ไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณแล้วทรงดำริพิจารณาหาบุคคลผู้สมควรจะรับฟังพระปฐมเทศนา และตรัสรู้ตามได้โดยเร็วในชั้นแรก พระพุทธองค์ทรงระลึกถึง ปัญจวัคคีย์ ผู้ซึ่งเคยมีอุปการคุณแก่พระองค์เมื่อสมัยทำทุกรกิริยา และทรงทราบว่าขณะนี้ท่านทั้ง 5 พักอาศัยอยู่ที่ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ทรงดำริดังนี้แล้ว จึงได้เสด็จพุทธดำเนินไปสู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
เมื่อปัญจวัคคีย์เห็นพระพุทธเจ้าเสด็จมาแต่ไกล จึงตกลงกันว่า พระสมณโคดมคลายความเพียรเสียแล้ว คราวนี้จะไม่ไหว้ จะจัดที่นั่งไว้ให้ ถ้าประสงค์นั่งก็จงนั่ง แต่ถ้าไม่ประสงค์นั่งก็แล้วแต่พระองค์
เมื่อเสด็จมาถึง พฤติกรรมที่เคยแสดงก็แสดงความเคารพต่อพระองค์ แต่มีกริยากระด้างกระเดื่องอยู่ พระพุทธเจ้านั่งแล้วตรัสว่า “เราตรัสรู้อมตธรรม” ปัญจวัคคีย์ไม่เชื่อและค้านถึง 3 ครั้ง เมื่อมา ทบทวนทีหลังก็ยอมรับฟังธรรมที่พระองค์จะแสดง พระองค์ได้แสดงพระธรรมเทศนา คือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร และทรงแนะนำให้ดำเนินทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา) และแสดงธรรม อริยสัจ 4
เมื่อจบพระธรรมเทศนา ธรรมจักษุ คือ ดวงตาเห็นธรรมอันปราศจากธุลีมลทิน เกิดขึ้นแก่โกณฑัญญะว่า
“สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา”
พระพุทธองค์ ทรงทราบว่า โกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม เป็นพระโสดาบันบุคคลในพระพุทธศาสนาแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานด้วยความพอพระทัยด้วยพระดำรัสว่า
“อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ”
แปลว่า “โกณฑัญญะ ได้รู้แล้วหนอ โกณฑัญญะ ได้รู้แล้วหนอ”
ท่านโกณฑัญญะพิจารณาธรรมอย่างลึกซึ้ง แล้วได้บรรลุแจ่มแจ้ง มีความเชื่อมั่นในพระศาสดาอย่างมั่นคง จึงขอบวชเป็นพระภิกษุ นับเป็นพระสงฆ์รูปแรกในพระพุทธศาสนา หรือเรียกว่าเป็นวันเกิดขึ้นของ สังฆรัตนะ (พระรัตนตรัย) ท่านโกณฑัญญะ บวชโดยวิธี “เอหิภิกขุปสัมปทา” คือ พระพุทธเจ้าประทานการอุปสมบทให้ด้วยพระดำรัสว่า
“เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว
เธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด”
ส่วนปัญจวัคคีย์ 4 ท่านที่เหลือ ก็ได้บรรลุตามมา และองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุปสมบทให้โดยวิธีเดียวกันเหมือนกับท่านโกณฑัญญะ พระพุทธเจ้าแสดงธรรมต่อโดยตรัสถึง เบญจขันธ์ ซึ่งมีชื่อในพระสูตรว่า “อนัตตลักขณสูตร” เมื่อทรงแสดงเสร็จ ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ ด้วยเหตุการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 อันทำให้เกิดพระรัตนตรัยครบองค์โดยสมบูรณ์ อันได้แก่ พระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์ จึงกลายเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนานั่นก็คือ วันอาสาฬหบูชา อันหมายถึง การบูชาเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในเดือน 8 ของทุกปีนี่เอง
ทั้งนี้พระอัญญาโกณฑัญญะได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่า เป็นผู้ยอดเยี่ยมกว่าภิกษุทั้งหลายในตำแหน่งเอตทัคคะด้านรัตตัญญู (แปลว่า ผู้รู้ราตรีนาน หมายถึงได้บวชก่อนใครได้รู้ ได้ฟังมาก) เป็นผู้มีประสบการณ์มาก สามารถให้คำแนะนำแก่ภิกษุทั้งหลายในกิจการต่างๆ
เมื่อ พระอัญญาโกณฑัญญะ ออกพรรษาปวารณาแล้ว พระพุทธองค์ทรงส่งไปประกาศพระศาสนาพร้อมกับพระสาวกรุ่นแรก จำนวน 60 รูป นับเป็นพระสงฆ์คณะแรกที่พระพุทธเจ้าส่งไปประกาศเผยแผ่คำสอนของพระพุทธศาสนาให้สืบต่อไป
ในบั้นปลาย พระอัญญาโกณฑัญญะ เป็นพระเถระผู้เฒ่าไม่ชอบคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ชอบหลีกเร้นอยู่ในสถานที่อันสงบวิเวกตามลำพัง ในคัมภีร์มโนรถปูรณีและคัมภีร์ธุรัตวิลาสินี กล่าวไว้ตรงกันว่า 12 ปี ก่อนที่ท่านจะนิพพานท่านได้กราบทูลลาพระบรมศาสดาไปจำพรรษา ณ สระฉัททันต์ ป่าหิมพานต์ ตามลำพัง
จนเมื่อท่านพิจารณาอายุสังขารแล้ว ได้มาเฝ้าพระพุทธองค์ เพื่อกราบทูลลานิพพาน ครั้นพระพุทธองค์ประทานอนุญาตแล้ว ท่านเดินทางกลับยังป่าหิมพานต์ และนิพพานในบรรณศาลาที่พักริมสระฉัททันต์นั้น ในกาลนั้นพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์สาวกจำนวนมาก ได้เสด็จไปทำฌาปนกิจศพให้ท่านเป็นครั้งสุดท้าย
ทั้งนี้ พระสงฆ์ มีความสำคัญอย่างยิ่งในการดำรงรักษาพุทธศาสนา และเผยแผ่พระธรรมคำสอนแก่พุทธศาสนิกชน นับเป็นเนื้อนาบุญของพุทธศาสนาที่จะช่วยให้พระธรรมคำสอนอันเป็นหนทางสู่การพ้นทุกข์ไม่สูญสลายหายไปตามกาลเวลานั่นเอง
ขอขอบคุณภาพประกอบสวยๆ จาก T : Prompt
เนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
บทสวดเวียนเทียน 3 รอบ (พร้อมคำแปล)
วันอาสาฬหบูชา วันที่พระรัตนตรัยถือกำเนิดครบทั้ง 3 องค์
วิธีทำบุญเสริมดวง “วันเข้าพรรษา” ตามวันเกิด เสริมสิริมงคล โชคลาภ