จีวร ผ้าห่อศพ พระพุทธเจ้า พระอานนท์

จากผ้าห่อศพสู่ จีวร งานศิลปะเครื่องนุ่งห่มของผู้ละกิเลส

ในสมัยพุทธกาล พระภิกษุต้องแสวงหาผ้าที่เขาทิ้งแล้วจากกองขยะ หรือ จากป่าช้ามาทำจีวร โดยผ้าเหล่านั้นส่วนใหญ่จะเปื้อนฝุ่นหรือสกปรกจึงเรียกว่า บังสุกุล และพระพุทธเจ้าไม่อนุญาตให้พระภิกษุรับผ้านุ่งห่มจากฆราวาส แต่ให้พระภิกษุเก็บผ้าบังสุกุล หรือผ้าที่เขาทิ้งไว้ตามร้านตลาดหรือผ้าห่อศพที่ไม่มีผู้ใดปรารถนาเพราะสกปรก มาซักล้างให้สะอาด

Home / แฟชั่น / จากผ้าห่อศพสู่ จีวร งานศิลปะเครื่องนุ่งห่มของผู้ละกิเลส

แรกเริ่มเมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้นั้น ยังไม่ปรากฏคำว่า ” จีวร “ หากแต่เมื่อมีคนเลื่อมใส ศรัทธาพุทธศาสนามากขึ้น ทรงอนุญาตให้เหล่าพระสาวกสามารถบวชกุลบุตรได้เอง เกิดคำว่า “สังฆาฏิและจีวร” ในระบบอุปัชฌาย์อาจารย์ อันเกิดเป็นอาจารย์กับศิษย์ แต่ในขั้นตอนการบวชในยุคแรกนั้นไม่ได้มีข้อกำหนดว่าจะต้องเตรียม “จีวร” มาให้พร้อมก่อน จะบวชก่อนแล้วค่อยหาจีวรภายหลังก็ได้ ทำให้เกิดการที่บางคนบวชแล้วไม่มีจีวร เดินเปลือยกายบิณฑบาต ทำให้ดูไม่งาม กลายเป็นที่ตำหนิของผู้คน พระพุทธเจ้าจึงทรงตั้งข้อกำหนดว่า ” ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรผู้ไม่มีจีวรไม่พึงให้อุปสมบท รูปใดให้อุปสมบท ต้องอาบัติทุกกฎ” (อาบัติที่เกิดจากการทำที่ไม่ดีไม่เหมาะสมซึ่งเป็นโทษอย่างเบาสำหรับพระสงฆ์และต้องรับโทษด้วยการสารภาพผิดหรือประจานตนต่อหน้าพระภิกษุสงฆ์ด้วยกันเอง) จึงเกิดการบวชโดยวิธี “ญัตติจตุตถกรรม” ระบุชัดเจนว่า ผู้ประสงค์จะบวชต้องมีบาตร จีวรและเครื่องอัฏฐบริขารครบ ซึ่งเป็นวิธีการบวชที่ภิกษุไทยใช้อยู่ในปัจจุบัน

จีวร

ในสมัยพุทธกาล พระภิกษุต้องแสวงหาผ้าที่เขาทิ้งแล้วจากกองขยะ หรือ จากป่าช้ามาทำจีวร โดยผ้าเหล่านั้นส่วนใหญ่จะเปื้อนฝุ่นหรือสกปรกจึงเรียกว่า บังสุกุล และพระพุทธเจ้าไม่อนุญาตให้พระภิกษุรับผ้านุ่งห่มจากฆราวาส แต่ให้พระภิกษุเก็บผ้าบังสุกุล หรือผ้าที่เขาทิ้งไว้ตามร้านตลาดหรือผ้าห่อศพที่ไม่มีผู้ใดปรารถนาเพราะสกปรก มาซักล้างให้สะอาด แล้วเก็บไว้เพื่อนำมาเย็บเป็นผ้าผืนใดผืนหนึ่งแทนที่ชำรุดถือเป็นการปฏิบัติเคร่งเพื่อลด ละ กิเลส นั่นเอง ซึ่งพระพุทธองค์ก็นุ่งห่มด้วยผ้าบังสุกุลเหล่านี้เช่นกันเมื่อครั้งทรงออกผนวช ต่อมาจึงมีพระบรมพุทธานุญาตให้รับผ้าจากฆราวาสได้ เพื่อเจริญศรัทธาของเหล่าพุทธศาสนิกชนผู้เลื่อมใส และเป็นการแบ่งเบาความยากลำบากของพระภิกษุสงฆ์ในการแสวงหาผ้าอีกทางหนึ่ง โดย จีวรพระ นั้นมีลักษณะเป็นผ้าผืนเดียวที่มีลักษณะใหญ่ แต่จะมีการตัดเย็บที่ยุ่งยาก ทำเป็นตอนๆ แล้วนำมาเย็บติดกันโดยมีวิธีการเย็บสลับกัน ซึ่งแต่ละตอนก็มีขนาดไม่เท่ากันอันเกิดจากการกะประมาณผืนผ้าที่มีสัดส่วนที่แตกต่างกัน โดยนำมาคำนวณเพื่อให้ได้ขนาดตามต้องการ

ที่มาของลายคันนาบนจีวร

ในช่วงต้นพุทธกาล พระภิกษุยังคงใช้ผ้าที่หาได้มาเย็บต่อ ๆ กัน ไม่เป็นระเบียบ จนต่อมาพระพุทธเจ้าได้ทอดพระเนตรนาของชาวมคธ พูนดินคันนาเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ก่อคันนายาวทั้งด้านยาวและด้านกว้าง คั่นระหว่างด้วยคันนาสั้นๆ เชื่อมกันเหมือนทางสี่แพร่ง จึงทรงดำริให้ตัดผ้าจีวร เป็นสี่เหลี่ยมผืนเล็กๆ มาเย็บติดกันเป็นผืนใหญ่เหมือนคันนา จึงมีลักษณะเป็นผ้าที่เศร้าหมอง คือผู้อื่นมักไม่ต้องการไปตัดเย็บอีก เหมาะสมกับสมณะ โดยลวดลายคันนานี้ออกแบบโดยพระอานนท์ ดังปรากฏข้อความในพระวินัยปิฎก ว่า

“อานนท์ เธอเห็นนาของชาวมคธ ซึ่งเขาพูนดินขึ้นเป็นคันนาสี่เหลี่ยม พูนคันนายาวทั้งด้านยาวและด้านกว้าง พูนคันนาคั่นในระหว่างๆ ด้วยคันนาสั้นๆ พูนคันนาเชื่อมกันทาง 4 แพร่ง ตามที่ซึ่ง คันนากับคันนา ผ่านตัดกันไปหรือไม่? … เธอสามารถแต่งจีวรของภิกษุทั้งหลาย ให้มีรูปอย่างนั้นได้หรือไม่?”

พระอานนท์ตอบว่า “สามารถ พระพุทธเจ้าข้า.”

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ทักขิณาคิรีชนบทตามพระพุทธาภิรมย์ แล้วเสด็จ กลับมาพระนครราชคฤห์อีก ครั้งนั้นท่านพระอานนท์แต่งจีวรสำหรับภิกษุหลายรูป ครั้นแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคได้กราบทูลว่า

“ขอพระผู้มีพระภาคจงทอดพระเนตรจีวรที่ข้าพระพุทธเจ้าแต่งแล้ว พระพุทธเจ้าข้า.”

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งแก่ภิกษุทั้งหลายว่า

“ภิกษุทั้งหลาย อานนท์เป็นคนฉลาด อานนท์ได้ซาบซึ้ง ถึงเนื้อความแห่งถ้อยคำที่เรากล่าวย่อได้โดยกว้างขวาง …จีวรจักเป็นผ้าที่ตัดแล้ว เศร้าหมองด้วยศัสตรา สมควรแก่สมณะ และพวกศัตรูไม่ต้องการ

การตัดเย็บจีวรจึงมีข้อกำหนดแบ่งเป็นกระทงมีเส้นคั่น กระทงใหญ่เรียกว่า “มณฑล” กระทงเล็กเรียกว่า “อัฒมณฑล” เส้นคั่นขวางเรียกว่า “อัฒกุสิ” รวมทั้ง 3 อย่าง เรียกว่า “ขัณฑ์” ในระหว่างขัณฑ์มีเส้นคั่นยืนเรียกว่า “กุสิ”
ขอบทั้ง 4 ด้านของผ้าเรียกว่า “อนุวาต”

จีวร 1 ผืนกำหนดให้มีขัณฑ์ไม่น้อยกว่า 5 ขัณฑ์ หรือมากกว่านั้นได้คือนับเป็น 7, 9 และ 11 ขัณฑ์

จากแนวคิดของพระพุทธเจ้าที่เกิดจากการพิจารณาคันนาอันเป็นสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ จึงกลายมาเป็นงานศิลปะวัฒนธรรมการแต่งกายของพระภิกษุสงฆ์อันมีวิธีการตัดเย็บแบบเฉพาะตัว ซึ่งต่อมามีผู้เลื่อมใสศรัทธาต้องการเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์มากขึ้นจึงมีการใช้สีจีวรอย่างหลากหลาย พระพุทธเจ้าจึงทรงวางกฎเกณฑ์และบทบัญญัติเกี่ยวกับการใช้จีวรว่า

ผ้าที่มาจากวัสดุต้องห้ามมิให้นำมาทำจีวร ได้แก่ ผ้าคากรอง เปลือกต้นไม้กรอง ผลไม้กรอง ผ้ากัมพลที่ทำจากหางขนสัตว์ ปีกนกเค้า หนังเสือ เส้นปอ และผ้ากัมพลที่ทอจากผมมนุษย์

อุปสมบท

หลักฐานเรื่องสีของผ้าจีวรพระภิกษุไทยสมัยโบราณจะเห็นได้จากภาพใน จิตรกรรมฝาผนังและจิตรกรรมในสมุดไทยโบราณ ตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นต้นมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ สีที่ปรากฏ คือสีเหลืองคล้ำ หรือออกไปทางเจือด้วยสีน้ำตาลแดง

หากย้อนไปดูว่าพระพุทธเจ้าพูดเรื่องของผ้าจีวรและสีจีวรในพระไตรปิฎกอย่างไร จะพบว่าพระองค์ได้พูดถึงเรื่องนี้ไว้ในพระวินัยปิฎกเล่มที่ 5 มหาวรรค ภาค 2 ทรงอนุญาตให้ย้อมสีผ้า 6 ชนิดได้แก่

1. น้ำย้อมเกิดแต่รากหรือเหง้า

2. น้ำย้อมเกิดแต่ต้นไม้

3. น้ำย้อมเกิดแต่เปลือกไม้

4. น้ำย้อมเกิดแต่ใบไม้

5. น้ำย้อมเกิดแต่ดอกไม้

และ 6. น้ำย้อมเกิดแต่ผลไม้

เพราะฉะนั้นตั้งแต่สมัยพุทธกาลท่านจึงใช้คำว่าย้อมฝาด คือ ย้อมแล้วเป็นการรักษาคุณภาพของผ้าด้วย คือ เมื่อย้อมแล้วทำให้ผ้านั้นไม่เปื่อยง่าย เพราะยางไม้บางประเภทมีคุณสมบัติเป็นยา คือ ทำให้เชื้อราไม่เจริญง่าย หรือบางประเภทก็ไม่ได้เป็นยา แต่ว่าสีเข้มก็เลยทำให้ดูแล้วไม่ค่อยเปื้อน ยางไม้บางประเภทเมื่อย้อมแล้วก็ทำให้ผ้าไม่เก็บความชื้น วัตถุประสงค์ในการย้อมผ้าอยู่ตรงนั้น เพราะฉะนั้นสบง จีวรของพระตั้งแต่สมัยพุทธกาล สีอาจจะแตกจะต่างกันไปบ้าง ท่านก็ไม่เอามา เป็นอารมณ์จนเกินไป

บิณฑบาต

ส่วนสีจีวรที่พระพุทธเจ้าทรงห้ามนั้นประกอบด้วย สีเหลืองล้วน สีบานเย็น สีดำล้วน สีแสดล้วน สีชมพูล้วน สีแดงเลือดล้วน และสีหลังตะขาบล้วน เปรียบให้เห็นภาพชัดๆ คือ ห้ามสีเขียวครามเหมือนดอกผักตบชวา, ห้ามสีเหลืองเหมือนดอกกรรณิการ์, ห้ามสีแดงเหมือนชบา, ห้ามสีหงสบาท (สีแดงกับเหลืองปนกัน), ห้ามสีดำเหมือนลูกประคำดีควาย, ห้ามสีแดงเข้มเหมือนหลังตะขาบ และห้ามสีแดงกลายเหมือนสีดอกบัว โดยมีสาเหตุมาจากพระฉัพพัคคีย์ได้นุ่งจีวรสีเหล่านี้ ทั้งห้ามใช้ผ้าที่มีลายดอกกาววาวเป็นจีวร (คือ จีวรเป็นรูปลายสัตว์หรือจีวรเป็นลายดอกไม้ ผลไม้ เป็นต้น) ยกเว้นลายดอกพิกุล หรือลายริ้วของจีวรแพร ซึ่งพระพุทธเจ้ามองว่าการนุ่งห่มผ้าแบบนี้ไม่ต่างจากคนธรรมดาสามัญชน ไม่ใช่สิ่งที่สมณะพึงปฏิบัติ จึงถูกพระพุทธเจ้าห้ามไว้ หากพระรูปใดฝ่าฝืนต้องโทษอาบัติทุกกฎ

จากข้อสังเกตเหล่านี้จะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้บอกหรือกำหนดว่าต้องห่มผ้าจีวรสีเดียว ซึ่งคล้ายกับวาทะของพระพรหมโมลีที่กล่าวว่า “การบรรลุธรรม การสอบเปรียญได้ ผ้าสีไหนก็บรรลุธรรมได้” หากไม่ได้ฝ่าฝืนพระวินัยที่พระพุทธเจ้ากำหนด

ปัจจุบันจีวรพระย้อมด้วยสีวิทยาศาสตร์ สีจีวรแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือสีเหลืองอมส้ม หรือสีเหลืองอมน้ำตาล หรือสีกรัก

ที่มาข้อมูล
จีวร : การตัดเย็บจากอดีตถึงปัจจุบัน , วารสารครุศาสตร์ปริทรรศน์ฯ ปีที่ 3 ฉบับที่ 2 พฤษภาคม – สิงหาคม 2559

archive.clib.psu.ac.th

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

ทิศต้องห้ามตั้ง หิ้งพระ และโต๊ะหมู่บูชาสำหรับเจ้าของบ้านแต่ละปีนักษัตร