ไมเกรน เป็นอาการเจ็บป่วยทางร่างกายที่สามารถเกิดและพบบ่อยสุดในช่วงอายุระหว่าง 15-30 ปี หรือบางรายสามารถตรวจพบได้เมื่ออายุเพียง 7-8 ปีเท่านั้น แต่อายุโดยเฉลี่ยที่พบผู้ป่วยมากที่สุดคือช่วงวัยรุ่นถึงวัยทำงานในช่วงต้น ๆ และพบน้อยในผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปีเป็นต้นไป นอกจากนี้ยังพบผู้ป่วยในเพศหญิงมากกว่าเพศชายอีกด้วย
ไมเกรน ถือเป็นโรคทางระบบประสาทชนิดเรื้อรัง พบได้มากถึง 20% ของประชากร โดยผู้หญิงมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ชาย 2-3 เท่า ปัจจัยเสี่ยงได้แก่ ความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ การรับประทานอาหารที่มีสารไทรามีน เช่น ชีส โยเกิร์ต เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน หรือ แอลกอฮอล์ รวมทั้งระดับฮอร์โมนเพศหญิงช่วงมีประจำเดือน เวลามีอาการไมเกรนขึ้นมา จะทำให้เกิดอาการปวดศีรษะรุนแรงมักป็นข้างใดข้างหนึ่ง ปวดแบบตุ้บๆ เป็นจังหวะ ร่วมกับมีอาการคลื่นไส้-อาเจียน ร่วมกับมีอาการไวต่อสิ่งกระตุ้นจากภายนอกเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะแสงจ้า เสียงดัง หรือ กลิ่นฉุน ในบางครั้งอาจมีรุนแรงมากจนถึงขั้นต้องหยุดงานนอนพักกันทีเดียว
โรคไมเกรนเป็นโรคที่พบมานานเป็นร้อยปีแล้ว จวบจนปัจจุบันก็ยังไม่สามารถระบุสาเหตุของการเกิดโรคไมเกรนได้อย่างชัดเจนนัก แต่โดยการตรวจวินิจฉัยส่วนมากจะพบว่าผู้ที่มาหาหมอจะมีอาการปวดศีรษะต่อเนื่อง หรือมีอาการรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จึงตัดสินใจมารับการวินิจฉัยโรค ซึ่งปกติตามขั้นตอนจะมีการตรวจซักประวัติถามถึงข้อมูลต่าง ๆ ทั้งประวัติการเจ็บป่วย ประวัติครอบครัว รูปแบบการใช้ชีวิต เป็นต้น ซึ่งหากทำการวินิจฉัยแล้วพบว่าผู้ป่วยเป็นไมเกรน ทางการแพทย์ก็จะให้การรักษาด้วยยาตามอาการนั้น ๆ ซึ่งโดยรวมแล้วสามารถจำแนกตามลักษณะการเกิดอาการได้เป็นสองประเภทหลัก ๆ คือ อาการปวดไมเกรนแบบนาน ๆ ครั้ง (Episodic Migraine) และการปวดไมเกรนแบบเรื้อรัง (Chronic Migraine)
การรักษาเมื่อรู้ว่าเป็น ไมเกรน
ปัจจุบันยังไม่มียาใดที่รักษา ไมเกรน ให้หายขาดได้ ซึ่งยาที่ใช้รักษาไมเกรนโดยทั่วไปจะใช้เพื่อการควบคุมอาการเมื่ออาการกำเริบเท่านั้น โดยแบ่งยารักษาออกเป็นสองประเภท คือ
ยารักษาแบบเฉียบพลัน สำหรับรับประทานทันทีที่มีอาการปวด ซึ่งยาจะได้ผลดีเมื่อรับประทานได้เร็วทันท่วงที เพราะหลังจากนี้ผู้ป่วยจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนซึ่งจะมีผลให้ยาออกฤทธิ์ได้น้อยลง
ยารักษาแบบป้องกัน ซึ่งเป็นยารับประทานแบบป้องกันที่ต้องได้รับอย่างต่อเนื่องทุกวัน เพื่อลดความรุนแรงหรือความถี่ของการเกิดอาการไมเกรน ซึ่งยาประเภทนี้ไม่จำเป็นต้องรอให้เกิดอาการขึ้นก่อน ยาในกลุ่มป้องกันนี้แพทย์มักจะแนะนำสำหรับกลุ่มผู้ป่วยไมเกรนที่มีอาการค่อนข้างบ่อย หรือกรณีที่ปวดนาน ๆ ครั้งแต่เมื่ออาการกำเริบแล้วรุนแรงจนไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติได้
ในปัจจุบันได้มีการคิดค้นพัฒนานวัตกรรม ยาป้องกันไมเกรน ที่เป็นยากลุ่มชีวโมเลกุลแบบฉีด โดยจะฉีดให้ผู้ป่วยเดือนละครั้ง ทั้งยังสามารถฉีดได้ทั้งกับผู้ป่วยที่มีอาการแบบเรื้อรัง และแบบนานๆครั้ง ทั้งนี้แพทย์ผู้ทำการรักษาจะพิจารณาการใช้ยาให้เหมาะสมกับความรุนแรงของผู้ป่วยแต่ละราย
วิธีการดูแลตนเอง สำหรับผู้ป่วยไมเกรน
รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ หรือเลือกทำกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายสมองบ่อย ๆ อย่าให้เครียดมากเกินไป ควรหลีกเลี่ยงแดดจัด หรืออาหารที่ไปกระตุ้นอาการ รวมทั้งดื่มน้ำมาก ๆ เพราะภาวะร่างกายขาดน้ำ ก็เป็นปัจจัยกระตุ้นได้เช่นกัน ดังนั้นผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงทุกอย่างที่อาจเกี่ยวข้อง ซึ่งอาจส่งผลให้ไมเกรนกำเริบบ่อยขึ้นหรือรุนแรงขึ้น
ที่มาข้อมูลจาก โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ , รพ. กรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล