ตะขาบ มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Centipede มีลักษณะลำตัวเป็นปล้อง มีขนาดความยาวลำตัวตั้งแต่ 3 – 8 เซนติเมตร มีจำนวนปล้องถึง 50-150 ปล้อง และมีขามากถึง 30-300 ขา โดยมีเขี้ยวพิษ 1 คู่ ที่ปล้องแรกของลำตัว ตะขาบเป็นสัตว์มีพิษที่อาศัยอยู่ในที่ชื้นแฉะ เช่น ใต้เปลือกไม้ ขุดรูในดิน ใต้ก้อนหิน เมื่อน้ำท่วมตะขาบก็จะหนีออกมาจากแหล่งที่อยู่
ตะขาบกัด ทำอย่างไรให้หายปวด?? วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น
ตะขาบกัด โดยใช้เขี้ยวคู่หน้าและฉีดน้ำพิษเข้าไปในแผลที่กัดจึงทำให้เจ็บปวดทรมาน น้ำพิษของตะขาบประกอบด้วยเอนไซม์ proteinases และ esterases โดยปกติพิษจะไม่รุนแรงถึงแก่ชีวิต แต่ทั้งนี้ความรุนแรงของพิษขึ้นอยู่กับขนาดของตะขาบที่กัดด้วย
อาการเมื่อโดน ตะขาบกัด
เมื่อถูกตะขาบกัดจะมีรอยเขี้ยว 2 รอย มีอาการปวด คัน ปวดแสบปวดร้อน บวมแดงร้อน ชา อักเสบบริเวณที่ถูกกัด อาจมีไข้ต่ำๆ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ใจสั่น บางรายอาจเกิดอัมพาตตรงบริเวณที่ถูกกัด ในรายที่มีอาการแพ้รุนแรง เช่น มีแผลพุพองหรือน้ำเหลืองบนบริเวณที่เกิดแผล ช็อคหมดสติ ให้รีบพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลทันที
วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น
- ทำความสะอาดแผลบริเวณที่ถูกกัดด้วยการล้างน้ำสะอาด
- ห้ามแกะเกาบริเวณที่ถูกกัด เพื่อไม่ให้เกิดการติดเชื้อซ้ำซ้อน
- ห้ามขยับบริเวณที่ถูก ตะขาบกัด
- หากมีอาการปวด สามารถกินยาพาราเซตามอลเพื่อบรรเทาอาการปวด
- ใช้ยาหม่องหรือยาสามัญประจำบ้านทาบางๆ บริเวณที่ถูกกัด
- หากมีอาการรุนแรงหรือแพ้มาก ควรไปรักษาที่โรงพยาบาลทันที
สูตรยาตามตำราภูมิปัญญาไทย
โดยใช้สมุนไพรใกล้ตัวเพื่อปฐมพยาบาลผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากตะขาบ เพียงใช้ยางมะละกอสดๆ มาทาบริเวณที่ โดนตะขาบกัด จะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดลงได้ หรือ น้ำมะนาวผสมผงชูรส นำมาทาบริเวณรอยแผลที่ถูกตะขาบกัด จะช่วยให้อาการปวดทุเลาลงได้ผลชะงัดนัก