ตั้งครรภ์ น้ำมะกรูด ผักสวนครัว พืชสวนครัว ภาวะมีบุตรยาก มะกรูด สมุนไพร สารต้านอนุมูลอิสระ

งานวิจัยเผย น้ำมะกรูดคั้นสด มีสารเควอซิทินสูง ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ดีต่อสตรีมีบุตรยาก

มะกรูด นิยมนำมาเป็นเครื่องปรุงอาหารหลายชนิด นอกจากนี้ยังมีคุณประโยชน์ทางยามากมาย ในน้ำมะกรูดคั้นสด ดีต่อสตรีมีบุตรยาก

Home / HEALTH / งานวิจัยเผย น้ำมะกรูดคั้นสด มีสารเควอซิทินสูง ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ดีต่อสตรีมีบุตรยาก

มะกรูด เป็นพืชในสกุลส้ม (Citrus) พืชสวนครัวที่อยู่คู่ครัวไทยมาเนิ่นนาน นิยมใช้ทั้ง น้ำมะกรูด ใบมะกรูด และผิวมะกรูด มาเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องปรุงอาหารหลายชนิด นอกจากนี้มะกรูดยังมีคุณประโยชน์ทางยามากมาย สามารถนำส่วนต่างๆ มาใช้รักษาอาการได้อย่างหลากหลาย

ในน้ำมะกรูดคั้นสด มี “สารเควอซิทิน” สูง ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ดีต่อสตรีมีบุตรยาก

ที่สำคัญ มะกรูด ยังมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง จึงมีส่วนช่วยสร้างเสริมภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกายและต้านทานโรคหลายชนิด อีกทั้งมะกรูดยังมีฤทธิ์ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ และช่วยฟอกเลือดสตรี ช่วยขับระดู นิยมใช้เป็นส่วนผสมในยาบำรุงประจำเดือน ซึ่งมักจะมีมะกรูดอยู่ในตำรับยาเสมอ นอกจากนี้ มะกรูด ยังมี สารต้านอนุมูลอิสระ ในกลุ่มฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) ชื่อว่า “เควอซิทิน” (Quercetin) สูงสุดในกลุ่มของพืชผลไม้รสเปรี้ยวเป็นแอนตี้ออกซิแดนซ์ชั้นดี ช่วยต้านอนุมูลอิสระให้กับเซลล์

ครูก้อย นัชชา ลอยชูศักดิ์” ผู้ก่อตั้งเพจ BabyAndMom.co.th เผยว่า จากการรวบรวมการศึกษางานวิจัยเกี่ยวกับผู้มีบุตรยากทั้งในและต่างประเทศเพื่อเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับผู้มีบุตรยากผ่านทางเพจ พบว่ามีรายงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร International Journal of Food Sciences and Nutrition เมื่อปี ค.ศ. 2009 ศึกษาพบว่า “สารเควอซิทิน” มีมากในกลุ่มผลไม้รสเปรี้ยว (Citrus fruits) โดยเฉพาะผลไม้จำพวกมะกรูด (Kariff lime หรือ Citrus hystrix) ซึ่งมีสารต้านอนุมูลอิสระในกลุ่มฟลาโวนอยด์หลายชนิดมาก โดยตัวอย่างสดมีสารฟลาโวนอยด์รวม 1,104±74 มิลลิกรัม ต่อ มะกรูด 100 กรัม (ประมาณ 1.1 ส่วนในน้ำหนักร้อยส่วน) ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณ แอนตี้ออกซิแดนซ์ (Antioxidant) รวมที่สูงมาก และมีเควอซิทิน 43±9 มิลลิกรัม ต่อมะกรูด 100 กรัม

โดยทั่วไปแล้วในร่างกายมีการสร้างอนุมูลอิสระออกมาตลอดเวลาจากกระบวนการเผาผลาญสารอาหาร อนุมูลอิสระส่วนใหญ่มีอะตอมของออกซิเจนที่ไวต่อการทำปฏิกริยาออกซิเดชั่น หรือเรียกว่า reactive oxygen species (ROS) ซึ่งสร้างความเสียหายแก่เซลล์ หากร่างกายเรามีสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidants) ที่จะมาจัดการกับ ROS ไม่เพียงพอจะทำให้เซลล์ต่างๆ ถูกทำลายจนเสื่อมไปเรื่อยๆ

สารอนุมูลอิสระที่ส่งผลต่อภาวะเจริญพันธุ์

“ครูก้อย นัชชา” ได้เผยถึงสารอนุมูลอิสระที่ส่งผลต่อภาวะเจริญพันธุ์ ผ่านรายการ Research​ Talk​ Ep.6 ในหัวข้อ งานวิจัยเผย น้ำมะกรูดมีสารต้านอนุมูลอิสระ “Quercetin” สูงสุด ว่า มีงานวิจัยฉบับที่ตีพิมพ์ในวารสาร Reproductive Biology and Endocrinology ประเทศอิตาลี่ เมื่อปี ค.ศ. 2016 ได้มีการศึกษาพบว่า reactive oxygen species (ROS) เป็นปัจจัยหลักที่ส่งต่อผู้หญิงมีบุตรยาก (Female infertility) โดยงานวิจัยมีรายงานถึงระบบสืบพันธุ์ของเพศหญิงที่ถูกอนุมูลอิสระเข้าไปทำลาย ดังนี้

  • ทำลายการเจริญเติบโตของเซลล์ไข (Oocyte Maturation)
  • ขัดขวางการฟอร์มตัวของ Corpus luteum ซึ่งเป็นตัวสร้างฮอร์โมน โปรเจสเตอโรน ในการกระตุ้นให้ผนังมดลูกฟอร์มตัวหนาขึ้นรองรับการฝังตัวของตัวอ่อน
  • ลดอัตราการปฏิสนธิ (Fertilization)
  • ส่งผลต่อการพัฒนาการเจริญเติบโตของตัวอ่อน (Embryo development)
  • ส่งผลต่อคุณภาพของเซลล์ไข่ (Oocyte quality)
  • ส่งผลต่อรังไข่ (Ovary)

นอกจากนี้อนุมูลอิสระจะสร้างความเสียหายต่อเซลล์ไข่ได้มากยิ่งขึ้นในกระบวนการทำเด็กหลอดแก้ว เนื่องจากเซลล์ไข่ที่เก็บออกมาจะไม่มีของเหลวที่เรียกว่า follicular fluid ป้องกันอยู่เหมือนในร่างกายมนุษย์ ทำให้เซลล์ไข่ถูกทำลาย และเสื่อมสภาพเร็วขึ้นไปอีก ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งในการเตรียมเซลล์ไข่ให้มีคุณภาพดีที่สุด และถูกทำลายน้อยที่สุดก่อนเข้าสู่กระบวนการทางแพทย์

“เควอซิทิน” ในมะกรูดดีต่อสตรีมีบุตรยากอย่างไร

“ครูก้อย นัชชา” กล่าวต่อว่า มีงานวิจัยหลายฉบับศึกษาถึงสรรพคุณของเควอซิทินที่ช่วยเสริมภาวะเจริญพันธุ์ซึ่งส่งผลดีต่อผู้มีบุตรยากหลากหลายประการ โดยได้สรุปเป็น 6 ข้อหลักๆ ดังนี้

1.ป้องกันไข่ฝ่อ

จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Oncotarget เมื่อปี 2017 ศึกษาพบว่า สารเควอซิทินช่วยลดการเสื่อมสภาพของเซลล์ไข่ โดยปริมาณสารต่อต้านอนุมูลอิสระ “Quercetin” ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เปอร์เซ็นต์ความผิดปกติของเซลล์ไข่ลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะการเลี้ยงไข่ที่ 24 ชั่วโมง หากไม่มี “สารต้านอนุมูลอิสระ เควอซิทิน” ไข่จะฝ่อเสียเกือบ 80% แต่ในกรณีที่มี
เควอซิทินเพียง 10 ไมโครโมลาร์ จะช่วยลดความเสียหายได้เกือบครึ่งหนึ่ง ซึ่งอาจเพิ่มโอกาสในความสำเร็จจนถึงระดับบลาสโตซีสต์ได้อีกเท่าตัว

อีกงานวิจัยหนึ่ง เป็นงานวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสาร Cell Death & Disease เมื่อปี 2020 ศึกษาสาเหตุการท้องยากอันเนื่องมาจากเซลล์ไข่ที่เสื่อม (impaired oocyte) เมื่อผู้หญิงมีอายุมากขึ้น เพื่อหาแนวทางในการชะลอเซลล์ไข่ไม่ให้ฝ่อเสียหายจากการเลี้ยงไข่ภายนอก (In Vitro Maturation: IVM) โดยได้ศึกษาจากไข่ของหนูทดลองแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ได้รับสารเควอซิทิน กับกลุ่มที่ไม่ได้รับสารเควอซิทิน พบว่า เควอซิทินช่วยให้อัตราการเลี้ยงไข่สำเร็จ 19.6% และเพื่มอัตราตัวอ่อนถึงระยะบลาสโตซีสต์ 15.5% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ใช้สารเควอซิทิน ดังนั้นเควอซิทินจึงอาจมีส่วนช่วยในการเพิ่มความสำเร็จในการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ในการรักษาผู้มีบุตรยากต่อไป

2.บำรุงรังไข่

มีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Ovarian Research เมื่อปี 2018 ได้ศึกษาถึงคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระของสารเควอซิทินที่มีประโยชน์ต่อการทำงานของรังไข่ (Ovary) จากงานวิจัยสรุปไว้ว่า “รังไข่” เป็นอวัยวะที่ เซนซิทีฟ และง่ายต่อการเสื่อมถอยของเซลล์ (aging) จากอนุมูลอิสระ หรือ ความแก่นั่นเอง ซึ่งรังไข่ที่แก่บอกได้จากการลดลงของฟองไข่และคุณภาพของเซลล์ไข่
รังไข่ของผู้หญิงวัยทอง หรือ ผู้หญิงที่มีภาวะวัยทองก่อนวัยจะทำงานด้อยประสิทธิภาพลง ความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระของเซลล์ในรังไข่ก็ลดน้อยลง เมื่อสารต้านอนุมูลอิสระในรังไข่เพิ่มมากขึ้นก็จะทำลายโครงสร้างและระบบการทำงานของรังไข่ โดยอนุมูลอิสระจะเข้าไปทำลาย lipid และกรดไขมัน รวมไปถึงโปรตีนที่เป็นองค์ประกอบของเซลล์ จากงานวิจัยศึกษาในหนูทดลองพบว่า สารเควอซิทินช่วยเพิ่มความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระของรังไข่ซึ่งอาจส่งผลต่อการช่วยชะลอความเสื่อมของรังไข่ได้

3.ต้านการอักเสบ

ด้วยคุณสมบัติของ “เควอซิทิน” ที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพ เควอซิทินจึงมีสรรพคุณในการต้านการอักเสบ (Anti- Inflammatory Properries) มีงานวิจัยหลายฉบับที่ศึกษาถึงฤทธิ์ในการต้านการอักเสบของสารเควอซิทิน

งานวิจัยฉบับหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrients เมื่อปี ค.ศ. 2016 ศึกษาถึงสรรพคุณของสารเควอซิทินที่ช่วยลดการอักเสบในร่างกายและยังเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายอีกด้วย การอักเสบเป็นกระบวนการที่สำคัญมากในการซ่อมแซมเนื้อเยื่อให้กลับมาเป็นปกติ การอักเสบจะเกิดขึ้นเพื่อป้องกันการทำลายเซลล์ หรือ การบาดเจ็บในร่างกายซึ่งอาจมีสาเหตุมาจาก ความเครียด ความเจ็บป่วย การรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ กระบวนการอักเสบเป็นกลไกในการป้องกันสิ่งแปลกปลอม แต่หากมีการอักเสบมากเกินไปก็จะเกิดอันตรายต่อเนื้อเยื่อได้
จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Reproductive Science เมื่อปี 2011 ศึกษาพบว่าการอักเสบเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคทางสูติศาสตร์ (Gynecological disease) ซึ่งการอักเสบ (Inflammation) ส่งผลต่อการตกไข่และการสร้างฮอร์โมนรวมไปถึงเกี่ยวข้องกับภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการมีบุตรนั้น การอักเสบมีความสัมพันธ์กับการเกิดภาวะต่างๆ ดังนี้

  • เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
  • ภาวะถุงน้ำหลายใบในรังไข่ (PCOS)
  • ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ
  • ซีสต์รังไข่ หรือ เนื้องอกในโพรงมดลูก
  • รังไข่เสื่อม วัยทองก่อนวัย
  • เซลล์ไข่และเซลล์สเปิร์มที่ด้อยคุณภาพ
  • การที่ตัวอ่อนไม่ฝังตัว หรือแท้งในระยะเริ่มต้น

4.ปรับสมดุลฮอร์โมน

เควอซิทิน ช่วยเยียวยาภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง (PCOS) ภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรังเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งที่ทำให้มีบุตรยาก โดยภาวะนี้มีสาเหตุมาจากฮอร์โมนเพศที่ไม่สมดุล โรคอ้วน เบาหวาน น้ำตาลในเลือดสูงซึ่งมีส่วนเกี่ยวพันกันก่อให้เกิดภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Ovarian Research ปี 2020 ทำการศึกษาโดยการรวบรวมงานวิจัยที่เกี่ยวกับ ประโยชน์ของ Quercetin ต่อผู้หญิงที่เป็น PCOS โดยรวบรวมงานวิจัยทั้งที่ทดลองในมนุษย์และในหนูทดลอง ได้ผลการศึกษาถึงประโยชน์ของ Quercetin ต่อการเยียวยา PCOS ในการช่วยปรับสมดุลฮอร์โมน จากการศึกษาในผู้หญิงที่อยู่ในภาวะ PCOS พบว่า เควอซิทินช่วยลดระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน และฮอร์โมนแอนโดรเจนซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชาย และช่วยเสริมการสร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน และ เอสโตรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิงที่สำคัญในการสืบพันธุ์ และการตั้งครรภ์ นอกจากนี้ยังช่วยลดระดับฮอร์โมน LH ซึ่งเป็นฮอร์โมนกระตุ้นการตกไข่ ซึ่งผู้ป่วย PCOS จะมีฮอร์โมนตัวนี้สูงเกินไป ส่งผลให้รังไข่ทำงานไม่เป็นปกติ

5.ลดน้ำตาลในเลือด

ผู้หญิงที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงส่งผลต่อความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน และยังเป็นการเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะดื้ออินซูลิน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง (PCOS) จากกงานวิจัยที่กล่าวมาข้างต้น ได้มีการทดลองในหนูทดลองที่เป็น PCOS พบว่าการได้รับสารเควอซิทินในปริมาณ 25mg/kg ช่วยลดระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดได้ จึงส่งผลต่อการช่วยลดภาวะดื้ออินซูลิน ยังมีรายงานจากการศึกษาว่าการได้รับเควอซิทินวันละ 1,000 mg เป็นเวลา 12 สัปดาห์ ช่วยลดการดื้ออินซูลิน และ ลดระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดได้อีกด้วย

6.ลดความดันโลหิต

ความดันโลหิตสูงเป็นอันตรายอย่างมากต่อผู้หญิงตั้งครรภ์เพราะจะก่อให้เกิดภาวะคลอดก่อนกำหนด มีภาวะเลือดออกระหว่างตั้งครรภ์ ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงทารกลดลง ทำให้ทารกโตช้าหรือเสียชีวิตในครรภ์ได้ ดังนั้นการรักษาระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติก่อนการตั้งครรภ์จะส่งผลต่อการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย มีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of the American Heart Association เมื่อปี ค.ศ. 2016 ศึกษาพบว่าสารเควอซิทินช่วยลดความดันโลหิตได้ จึงเป็นแนวทางในการใช้ประยุกต์ใช้เพื่อรักษาภาวะความดันโลหิตสูงต่อไป

กล่าวโดยสรุป น้ำมะกรูดคั้นสดมีสารเควอซิทินสูง ส่งผลดีต่อผู้หญิงที่มีบุตรยาก เนื่องจากมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ช่วยปกป้องเซลล์ไข่ ช่วยชะลอความเสื่อมของรังไข่ ลดภาวะดื้ออินซูลิน ลดระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด ป้องกันไขมันอุดตันในเส้นเลือด ลดฮอร์โมนเพศชายและระดับฮอร์โมน LH ปรับสมดุลฮอร์โมน ช่วยให้ไข่ตกปกติ และมีฤทธิ์เป็นอัลคาไลน์ ช่วยปรับร่างกายให้เป็นด่าง เหมาะกับการปฏิสนธิ มีวิตามินซีสูง ช่วยเสริมสร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน กระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ช่วยให้ผิวพรรณสดใส และช่วยให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงมดลูกอย่างเพียงพอ รวมถึงช่วยลดการอักเสบของเซลล์อันเป็นสาเหตุของภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง (PCOS) ช่วยให้ตัวอ่อนฝังตัวได้ดีขึ้น โดยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ รายการ Research​ Talk​ Ep.6 ในหัวข้อ งานวิจัยเผย น้ำมะกรูดมีสารต้านอนุมูลอิสระ “Quercetin” สูงสุด ครูก้อย นัชชา กล่าวทิ้งท้าย.