หากต้องกักอยู่อยู่ที่บ้าน (Home Isolation) ไม่ว่าคุณจะติดเชื้อโควิด-19 แล้ว หรือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องกักตัวรอดูอาการว่าติด Covid-19 หรือไม่? จะมีวิธีการ ทิ้งขยะติดเชื้อ อย่างไรให้ถูกสุขลักษณะอนามัย ไม่ให้ขยะนั้นเสี่ยงติดเชื้อกับคนที่บ้าน และคนเก็บขยะ
วิธีทิ้งขยะติดเชื้อ เมื่อต้องกักตัวที่บ้าน ทิ้งยังไงให้ปลอดภัยที่สุด
โควิด-19 ทำให้ปริมาณขยะติดเชื้อเฉลี่ย 17 ตัน/วัน
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระหว่างเดือน ม.ค. – มิ.ย.64 ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีปริมาณมูลฝอยติดเชื้อ 11,393 ตัน หรือเฉลี่ย 63 ตัน/วัน แบ่งเป็นมูลฝอยติดเชื้อทั่วไปที่เก็บขนและกำจัดจากสถานบริการด้านสาธารณสุข เช่น โรงพยาบาล ศูนย์บริการสาธารณสุข และคลินิก ปริมาณทั้งสิ้น 8,299 ตัน หรือเฉลี่ย 46 ตัน/วัน และมูลฝอยติดเชื้อโควิด-19 รวมถึงหน้ากากอนามัยใช้แล้วที่เก็บขนและกำจัดจากสถานพยาบาลที่รักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 สถานที่กักตัวของรัฐและโรงแรมทางเลือกสำหรับผู้กักตัว โรงพยาบาลสนาม โรงพยาบาลโรงแรม (Hospitel) หน่วยบริการตรวจเชิงรุก ศูนย์บริการฉีดวัคซีน และสถานที่สำหรับผู้กักตัวในอาคารพักอาศัยประเภทต่าง ๆ เช่น หอพัก อพาร์ทเมนท์ คอนโดมิเนียม และบ้านพักอาศัย ปริมาณทั้งสิ้น 3,094 ตัน หรือเฉลี่ย 17 ตัน/วัน
ขยะติดเชื้อ คืออะไร?
ขยะติดเชื้อ คือ ขยะมูลฝอยที่ปนเปื้อนเชื้อโรคอย่างเช่น สารคัดหลั่งจากผู้ป่วย และทำให้ชื้อโรคนั้นติดต่อกับผู้อื่นได้ ไม่ว่าจะเป็น เสมหะ น้ำมูก น้ำลาย ของใช้ส่วนตัวที่ใช้แล้วต้องทิ้ง อาทิ หน้ากากอนามัย ทิชชู่ รวมไปจนถึงขยะจากโรงพยาบาล ทางการแพทย์ ที่ใช้ในกระบวนการรักษา การทดลอง การชันสูตรต่างๆ
>> เตรียมพร้อมแนวทางการแยกรักษาตัวที่บ้าน หรือ Home isolation
วิธีการแยก ขยะติดเชื้อ ที่ถูกต้อง
ทิ้งขยะปนเปื้อนเชื้อโรค สารคัดหลั่ง เช่น หน้ากากอนามัย ทิชชู่
- หน้ากากอนามัย ให้หันด้านที่สัมผัสกับใบหน้าเราเข้าด้านใน แล้วใช้สายคล้องหูพันโดยรอบ ใส่ถุงที่ปิดสนิท มัดปากถุงให้แน่น ขยะติดเชื้ออื่นๆ ก็ทำเช่นเดียวกันใส่ถุงปิดให้มิดชิด
- จากนั้นฉีดพ่นฆ่าเชื้อโรค ด้วยแอลกอฮอล์ 70% ขึ้นไป
- เขียนติดหน้าถุงว่า หน้ากากอนามัย หรือ ขยะติดเชื้อ หรือ ทำสัญลักษณ์สีแดง บอกเป็นสัญลักษณ์ให้คนที่มาเก็บได้รู้
- รวบรวบนำไปทิ้งจุดทิ้งขยะ ทิ้งในถังรองรับหน้ากากอนามัยเฉพาะ (สีส้ม) มีจุดตั้งวางในพื้นที่สาธารณะประมาณ 1,000 จุด แยกทิ้งกับรถเก็บขนมูลฝอยของสำนักงานเขต
- ขยะในสำนักงานต่างๆ ก็สามารถทำได้ด้วยวิธีเดียวกันนี้ ให้ใส่ถุงที่ปิดสนิท ฉีดพ่นแอลกอฮอล์ก่อน ทำสัญลักษณ์ที่ถุงเพื่อบอกให้คนที่เก็บขยะได้รับรู้เพื่อเป็นการเซฟความปลอดภัย
- อย่าลืม!! ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้งหลังทิ้งขยะ
สิ่งที่ไม่แนะนำ
- การทิ้งขยะติดเชื้อ เช่น หน้ากากอนามัย โดยม้วนใส่ขวดพลาสติก เนื่องจากพบว่า บางครั้งมีผู้มาเก็บหาของเก่า เปิดขวดและเทขยะภายในออกทิ้งไว้ภายนอก ทำให้มีความเสี่ยงต่อการระบาดได้ง่าย
- การทิ้งขยะติดเชื้อ ร่วมกับขยะอื่น
โดยทางสำนักงานเขตจัดรถเก็บขนมูลฝอยเฉพาะ จะมาเก็บรวบรวมไปยังจุดพักรวมมูลฝอยติดเชื้อของสำนักงานเขต ทั้งนี้จะนำไปกำจัดในเตาเผามูลฝอยติดเชื้อที่ศูนย์กำจัดมูลฝอย เผาทำลายอย่างถูกวิธีวันต่อวัน
ของใช้ส่วนตัว ที่นำกลับมาใช้ได้ แต่ต้องฆ่าเชื้อ!
- ของใช้ส่วนตัว เช่น เสื้อผ้า ผ้าปูเตียง ผ้าห่ม ผ้าเช็ดตัว ปลอกหมอน สามารถนำมาใช้ได้ แต่ต้องทำความสะอาดฆ่าเชื้อให้ปลอดภัย
- แนะนำให้ใช้ผงซักฟอกสูตรเข้มข้นฆ่าเชื้อโรค หรือ “สารฟอกขาวคลอรีน” เหมาะกับการใช้งานเพื่อซักผ้าสีขาว ที่มีส่วนผสมของ “โซเดียมไฮโปคลอไรท์” ตั้งแต่ 0.1 เปอร์เซ็นต์ ประมาณ 1,000 ppm (หน่วยความเข้มข้นเป็นสัดส่วนในล้านส่วน) ขึ้นไป สามารถฆ่าเชื้อโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็วและเด็ดขาด หรือจะใช้น้ำยาที่มีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อโรค เช่น Dettol รุ่นมงกุฎสีฟ้า ก็ได้เช่นกัน
- ซักด้วยน้ำร้อนอุณหภูมิ 60-90 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่องค์การอนามัยโลก ระบุว่าสามารถยับยั้งการแพร่เชื้อโควิด-19 ได้
- เมื่อซักเสร็จแล้วก็นำไปตากแดดให้แห้ง ก็สามารถนำมาใช้ได้อย่างสะอาด
จุดตั้งวาง แหล่งทิ้ง ‘ขยะติดเชื้อ’ ใน กทม. พื้นที่สาธารณะประมาณ 1,000 จุด
- สำนักงานเขต 50 จุด
- โรงเรียนสังกัด กทม.
- ศาลาว่าการกรุงเทพ (เสาชิงช้า)
- ศาลาว่าการกรุงเทพ (ดินแดง)
- ศูนย์บริการสาธารณสุข
- ศูนย์กีฬา กทม.
- โรงพยาบาลสังกัด กทม.
- ศูนย์เยาวชน กทม.
- สถานีดับเพลิง
- สวนสาธารณะ
รายชื่อ เตาเผามูลฝอยติดเชื้อตามแบบมาตรฐานของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
เตาเผามูลฝอยติดเชื้อของเทศบาลหาดใหญ่ มีขนาด 5 ตันต่อวัน
- ใช้เป็นศูนย์กำจัดมูลฝอยตำบลควรลัง และชุมชนอื่นๆ ในพื้นที่ใกล้เคียง
- กิโลกรัมละ 21 บาท และนอกเขตเทศบาลต้องทำการเก็บขนเอง คิดค่ากำจัดที่กิโลกรัมละ 20 บาท (ในปี 2552)
เตาเผามูลฝอยติดเชื้อจังหวัดนนทบุรี มีขนาด 5 ตันต่อวัน
- เก็บขยะติดเชื้อภายในจังหวัดนนทบุรี ยกเว้นในเขตเทศบาลที่ส่งไปกำจัดที่นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน
- กิโลกรัมละ 9 บาทต่อกิโลกรัม (ในปี 2552)
เตาเผามูลฝอยติดเชื้อของเทศบาลเมืองสมุทรสาคร มีขนาด 5 ตันต่อวัน
- ใช้เป็นศูนย์กำจัดมูลฝอยติดเชื้อรวมของจังหวัดสมุทรสาคร
- อัตรากิโลกรัมละ 10 บาท (ในปี 2552)
เตาเผามูลฝอยติดเชื้อของเทศบาลเมืองภูเก็ต มีขนาด 400 ตันต่อวัน
- ใช้เป็นศูนย์กำจัดมูลฝอยติดเชื้อรวมของจังหวัดภูเก็ต
- อัตรากิโลกรัมละ 7 – 10 บาท (ในปี 2552)
เตาเผามูลฝอยติดเชื้อของเทศบาลนครขอนแก่นมีขนาด 1.2 ตันต่อวัน
- ในเขตเทศบาลทีกิโลกรัมละ 16 บาท และนอกเขตเทศบาลที่กิโลกรัมละ 16 บาท ไม่รวมค่าเก็บขน
เตาเผามูลฝอยติดเชื้อของเทศบาลเมืองสุพรรณบุรี มีขนาด 100 กิโลกรัม/ชั่วโมง
- ขณะนี้ยังไม่คิดค่าบริการเก็บขนและกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ
บริษัท อัคคีปราการ จำกัด
- ได้รับสิทธิจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมให้เป็นผู้ดำเนินการบริหารและประกอบการศูนย์บริหารจัดการวัสดุเหลือใช้อุตสาหกรรม ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมจัดสร้างขึ้น เตาเผาของบริษัท อัคคีปราการ จำกัด สามารถเผาทำลาย มูลฝอยติดเชื้อและมูลฝอยที่เป็นอันตรายและเป็นพิษ ด้วยอุณหภูมิ 1,100 – 1,300 องศาเซลเซียส ลักษณะเตาเผาเป็นแบบ (Rotary Kiln) โดยมี ผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศที่ระบายออกจากปล่องเป็นไปตามมาตรฐาน
ข้อมูลจาก : pcd.go.th, prbangkok, greenery.or