Home Isolation Self Isolation การแยกตัว ทำ Home isolation ยังไง แนวทาง

เตรียมพร้อมแนวทางการแยกรักษาตัวที่บ้าน หรือ Home isolation

รู้วิธีการดูแลตัวเองที่บ้านของผู้ป่วยโควิด-19

Home / โควิด-19 / เตรียมพร้อมแนวทางการแยกรักษาตัวที่บ้าน หรือ Home isolation

จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยที่พบผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง และจากแนวโน้มที่เกิดขึ้น ความสามารถในการรองรับผู้ป่วยของโควิด-19 ในโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลของรัฐ เอกชน หรือ รพ.สนาม ย่อมมีข้อจำกัดในจำนวนของความสามารถในการรองรับ จำนวนเตียงที่จำกัด ดังนั้น ในหลายประเทศที่มีอัตราการพบผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก ๆ แนวทางหนึ่งที่มีการเลือกใช้คือ Home Isolation หรือการแยกตัวที่บ้าน เพื่อรักษาอาการ

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ ในประเทศไทยยังไม่มีการให้ผู้ป่วยทำการแยกตัว หรือ Home Isolation แต่อย่างใด ดังนั้นคำแนะนำเหล่านี้ จึงเป็นแนวทางเพื่อเตรียมพร้อม หากมีความจำเป็นที่จะต้องทำ Home Isolation ในการแยกตัวรักษาที่บ้านนั่นเอง

Home Isolation คือะไร

สำหรับการแยกกักตัวที่บ้าน หรือแยกตัวรักษาโรคโควิด-19 เป็นแนวทางที่มีการใช้กันในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อังกฤษ และอีกหลายประเทศในยุโรป เนื่องจากจำนวนเตียงใน รพ.ที่มีอยู่ไม่สามารถรองรับผู้ป่วยจำนวนมาก ๆ ได้ทั้งหมด

ในขณะนี้ผู้ป่วยที่มีอาการเบา หรือไม่มีอาการนั้น มีความแข็งแรงเพียงพอที่จะสามารถพักอาศัย โดยการแยกรักษาตัวที่บ้านได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้เตียงโรงพยาบาล เพื่อให้เตียงในโรงพยาบาลว่าง สำหรับรองรับผู้ป่วยที่มีอาการมากกว่า หรือจำเป็นมากกว่า นั่นเอง

ข้อดีของ Home Isolation :

  • ผู้ป่วยจำนวนมากมีอาการเบา สามารถดูแลตัวเองได้
  • กรณีที่มีผู้ป่วยในครอบครัวเดียวกัน สามารถลดความเครียดจากการต้องแยกกันอยู่ได้
  • ลดจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาล
  • รองรับผู้ป่วยได้มากขึ้น

ข้อเสียของ Home Isolation :

  • ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตที่บ้านได้เพิ่มขึ้น หากอยู่คนเดียวและไม่ได้มีการติดตามอาการที่ดีพอ
  • หากไม่ระวังอาจจะเกิดการติดเชื้อในบ้านเพิ่มขึ้นได้
  • มีโอกาสที่จะมีผู้ป่วยบางรายหนีออกจากการกักตัวออกไปภายนอก

ข้อแนะนำ : ในการระบาดในระลอกใหม่เดือน เม.ย. ที่ผ่านมา แนวโน้มของผู้ป่วยโควิด-19 พบปริมาณเชื้อค่อนข้างสูง (ค่า CT ต่ำ) ซึ่งทำให้เชื้อแพร่กระจายได้มาก รวมถึงในขณะเดียวกันส่งผลให้เชื้อลงปอดได้ง่ายขึ้น การทำ Home Isolation จึงจำเป็นจะต้องได้รับการติดตามอย่างใกล้ชิด



เกณฑ์ในการพิจารณาผู้ป่วยแยกตัวของไทย

แนวทางที่สาธารณสุขได้มีการพิจารณาไว้ ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในรายละเอียดไว้คือ จะมีการประเมินความพร้อมของตัวผู้ป่วยเอง ได้แก่

  1. เป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ (asymptomatic cases)
  2. มีอายุไม่น้อยกว่า 60 ปี
  3. มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง
  4. พักอาศัยอยู่คนเดียว หรือมีที่พักที่สามารถมีห้องแยกเพื่อพักคนเดียวได้
  5. ไม่มีภาวะอ้วน (ภาวะอ้วน หมายถึง ดัชนีมวลกาย > 30 กก./ม.2 หรือ น้ำหนักตัว > 90 กก.)
  6. ไม่มีโรคร่วม ดังต่อไปนี้
    6.1 โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD)
    6.2 โรคไตเรื้อรัง (CKD)
    6.3 โรคหัวใจและหลอดเลือด
    6.4 โรคหลอดเลือดสมอง
    6.5 เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้
    6.6 โรคอื่นๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์
  7. ยินยอมแยกตัวในที่พักของตนเอง

ซึ่งจะมีการพิจารณาความพร้อมของสถานที่ ความเป็นอยู่อาศัยในการแยกตัว ของผู้ป่วยด้วยว่ามีความพร้อมหรือไม่ ในส่วนของ

  1. มีผู้จัดหาอาหารและของใช้จำเป็นให้ได้
  2. มีห้องส่วนตัว (กรณีอยู่หอพัก / คอนโดมิเนียม ควรมีห้องน้ำส่วนตัว)
  3. ผู้ที่อยู่อาศัยร่วมสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำเรื่องสุขอนามัยได้
  4. ติดต่อกับโรงพยาบาลและเดินทางมาโรงพยาบาลได้สะดวก

หากมีความพร้อมทั้งในแง่ของทางร่างกาย และสถานที่แล้ว ก็จะมีการดำเนินการให้ผู้ป่วยสามารถทำการแยกตัวรักษาอยู่ที่บ้าน หรือ Home Isolation ได้ โดยจะมีการดำเนินในขั้นตอนของโรงพยาบาล เพื่อเข้าสู่กระบวนการแยกตัว หรือ Home Isolation โดยจะมีขั้นตอนคือ

  1. ให้แพทย์ประเมินความเหมาะสมของการทำ Home Isolation
  2. ลงทะเบียนผู้ติดเชื้อที่เข้าเกณฑ์การแยกตัวที่บ้าน
  3. มีภาพรังสีทรวงอก (chest X-ray) ในวันแรกที่วินิจฉัย
  4. แนะนำการดูแลรักษาตัวเองกับผู้ป่วย
  5. ติดตาม-ประเมินอาการ โดยใช้ปรอทวัดไข้ และ pulse oximeter ให้ผู้ติดเชื้อ เพื่อวัดค่าออกซิเจนในเลือดของผู้ป่วย และแจ้งต่อทางโรงพยาบาลทุกวัน
  6. ผู้ติดเชื้อมีอาการมากขึ้นให้มีระบบรับ-ส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาล
  7. ระหว่างติดตามอาการของผู้ป่วย แพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาตามความเหมาะสม

ลักษณะที่พักอาศัยที่เหมาะสม

  • ผู้ป่วยต้องอาศัยอยู่ในที่พักตลาดเวลากักตัว ห้ามออกจากบ้าน/ที่พัก
  • มีห้องนอนส่วนตัว หรือหากไม่มีห้อง ควรจะต้องนอนห่างจากผู้อื่น เปิดหน้าต่าง-ประตูระบายอากาศให้ดี
  • ต้องมีผู้จัดหาอาหารและของจำเป็นให้ โดยไม่ออกจากบ้าน
  • ผู้อาศัยร่วมบ้านสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำต่าง ๆ ได้ และแยกตัวจากผู้ป่วยได้
  • สามารถติดต่อกับทางโรงพยาบาลหรือเดินทางมาโรงพยาบาลได้สะดวก

>> วิธีการจัดการขยะติดเชื้อภายในบ้าน

สำหรับผู้ป่วยที่ต้องดูแล-สังเกตอาการตนเอง

  • ให้สังเกตอาการตนเอง วัดอุณหภูมิและ oxygen saturation ทุกวัน
  • หากมีอาการแย่ลง คือ มีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ เช่น หอบ เหนื่อย ไข้สูงลอย ไม่สามารถปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ ให้รีบโทรติดต่อโรงพยาบาลที่ท่านรักษาอยู่
  • เมื่อจะต้องเดินทางไปโรงพยาบาลให้ใช้รถยนต์ส่วนตัวหรือรถที่โรงพยาบาลมารับ ไม่ใช้รถสาธารณะ และให้ผู้ที่ร่วมทางสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา หรือหากมีผู้ร่วมทางมาด้วย ให้เปิดหน้าต่างรถ เพิ่มการระบายอากาศ

….

ข้อควรปฏิบัติของผู้ป่วยที่ทำ Home Isolation

  • ไม่ให้บุคคลอื่นมาเยี่ยมที่บ้านระหว่างแยกตัว
  • งดการออกจากบ้านในระหว่างแยกตัว
  • ให้อยู่ในห้องตลอดเวลา เลี่ยงการใกล้ชิดกับบุคคลอื่นในที่พัก โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ป่วยเรื้อรัง
  • หากมีอาการไอ จาม ต้องสวมหน้ากากอนามัย แม้ว่าจะอยู่ในห้องส่วนตัวก็ตาม
  • สวมหน้ากากอนามัย ไม่ใช้หน้ากากผ้า
  • หากจำเป็นต้องเข้าใกล้ผู้อื่น ให้สวมหน้ากาก รักษาระยะห่างไม่น้อยกว่า 1 เมตร
  • ถ้ามีอาการไอ – จาม ให้อยู่ห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 2 เมตร หันหน้าที่ในทิศทางตรงกันข้ามกับผู้ที่อยู่ใกล้ว
  • การไอ-จาม ไม่ต้องเอามือปิดปากและไม่ต้องถอดหน้ากากอนามัย เนื่องจากมืออาจจะเปรอะเปื้อนได้ หากไอจาม ในขณะที่ไม่ได้สวมหน้ากาก ให้ใช้ต้นแขนด้านในปิดปาก
  • ล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์เป็นประจำ โดยเฉพาะภายหลังสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย ไอ และก่อนจับพื้นที่ผิวสัมผัสร่วม เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได
  • กรณีผู้ป่วยที่มีบุตร ยังคงสามารรถให้นมบุตรได้ แต่ต้องสวมหน้ากากอนามัย – ล้างมือ ป้องกันทุกครั้งก่อนสัมผัส หรือ ให้นมบุตร
  • ใช้ห้องน้ำแยกจากผู้อื่น กรณีใช้ห้องน้ำร่วมกัน ให้ใช้เป็นคนสุดท้าย เมื่อใช้ชักโครกแล้วให้ปิดฝาก่อนกดน้ำ
  • ทำความสะอาดห้องน้ำ – พื้นผิวที่อาจจะปนเปื้อนเสมหะ น้ำมูก อุจาระ ปัสสาวะ หรือสารคัดหลั่งต่าง ๆ ด้วยน้ำและน้ำยาฟอกผ้าขาว 5%โซเดียมไฮโปคลอไรท์(เช่น ไฮเตอร์, คลอรอกซ์) โดยใช้5% โซเดียมโซเดียมไฮโปคลอไรท์ น้ำยาฟอกขาว 1 ส่วนต่อน้ำ 99 ส่วน หรือ 0.5% (น้ำยาฟอกขาว 1 ส่วน ต่อน้ำ 9 ส่วน)
  • แยกของใช้จากผู้อื่น เช่น ช้อน แก้วน้ำ ผ้าเช็ดตัว โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์
  • ไม่รับประทานอาหารร่วมกัน รวมถึงไม่รับอาหารจากผู้ส่งอาหารโดยตรง
  • ซักเสื้อผ้า ผ้าปูเตียง ผ้าขนหนู ด้วยน้ำ-สบู่หรือผงซักฟ้องตามปรกติ
  • กรณีทิ้งหน้ากากอนามัย ขยะที่เปรอะสารคัดหลั่งให้ใส่ถุงพลาสติก ปิดปากถุงให้สนิท และทิ้งในถังขยะมิดชิด ล้างมือด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ทันที

แนวทางในการแยกกักของต่างประเทศ

สหรัฐฯ จะมีการแยกกักผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการเบา หรือไม่มีอาการแต่ตรวจพบเชื้อ โดยมี

  • จะต้องมีระบบรอรับการแจ้งเตือนฉุกเฉิน กรณีที่มีปัญหาทางด้านการหายใจ
  • ต้องมีห้องแยกจากสมาชิกคนอื่น ภายในบ้าน
  • ควรมีห้องน้ำแยกจากผู้อื่น (ถ้าเป็นไปได้)
  • เลี่ยงการสัมผัสร่วมกับสมาชิกคนอื่นในบ้าน รวมถึงสัตว์เลี้ยง
  • ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
  • สวมหน้ากากเมื่อต้องอยู่ใกล้กับผู้อื่น หรือเมื่อต้องออกนอกห้อง

ซึ่งในแนวทางการแยกกักตัวในต่างประเทศก็จะคล้ายในแนวทางเดียวกันคือ เน้นให้ผู้ป่วยอยู่คนเดียว ไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน เลี่ยงการสัมผัสสัตว์เลี้ยง หรือการปฏิสัมพันธ์กัน จำกัดการติดต่อโดยตรงระหว่างกัน

ปฏิบัติตัวอย่างไร เมื่อมีผู้ป่วยเข้าแยกกักอยู่ในบ้าน

สำหรับในการแยกกักในบ้านเดียวกัน โดยมีผู้ที่ไม่ป่วย หรือ ผู้ดูแลอาศัยอยู่ด้วยกันนั้น จำเป็นจะต้องมีมาตรการป้องกัน เพื่อไม่ให้ผู้ดูแลหรือ ผู้ที่อยู่ร่วมกันติดเชื้อไปด้วย โดยคำแนะนำของ CDC สหรัฐฯ หรือ NHS ของสหราชอาณาจักร ได้ระบุถึงมาตรการเหล่านี้ไว้คือ ให้ผู้ดูแล หรือผู้ที่อาศัยอยู่ร่วมบ้านเดียวกับผู้ป่วยที่แยกกัก ให้มีช่วยเหลือ ดูแลผู้ป่วยตามเกณฑ์มาตรฐานทั่วไป ที่ได้แนะนำไว้ เช่น ดูแลเรื่องของยา อาหาร น้ำดื่ม ต่าง ๆ หากมีพื้นที่ที่ใช้ร่วมกันควรเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก มีการทำความสะอาด กำจัดฝุ่นละออง

เลี่ยงการรวมตัวกัน รวมถึงการงดเยี่ยม จากผู้อื่น ที่จะแวะเดินทางมายังที่พักที่มีการกักตัวผู้ป่วยด้วย หากมีพื้นที่ที่จำเป็นต้องใช้ร่วมกัน ครวรมีการทำความสะอาดอย่างเข้มงวดในพื้นที่เหล่านั้น แยกห้องน้ำ ของใช้ต่าง ๆ เท่าที่จำเป็นออกมาจากผู้ป่วย-ผู้ที่ไม่ป่วย และใส่หน้ากากอนามัยอย่างสม่ำเสมอ

นอกจากนี้ให้เตรียมพร้อมเบอร์โทรฉุกเฉินไว้ใกล้ตัว ทันทีที่ผู้ป่วยมีอาการ คือ

  • หายใจลำบาก
  • มีอาการปวด เจ็บ หรือแน่นหน้าออกอย่างต่อเนื่อง
  • มีอาการอื่น ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป
  • ปลุกไม่ตื่น ไม่ตอบสนอง
  • ริมฝีปาก หรือเล็บซีด มีสีคล้ำขึ้น

ให้รีบโทรไปแจ้งเจ้าหน้าที่ทันที

เตรียมความพร้อมด้านสุขภาพจิต

สำหรับการเข้ารับการกักตัว หรือการแยกตัวรักษาอยู่บ้านนั้น จะใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน ทำให้โอกาสที่จะเกิดปัญหาเรื่องของความไม่สบายใจ อาการหงุดหงิด หรือเหงาเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะหากไม่มีพื้นที่ให้สามารถผ่อนคลาย หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ ได้

ดังนั้นสิ่งที่สามารถทำได้สำหรับผู้เข้ารับการแยกตัวรักษาโควิด-19 คือ

  • ติดต่อ พูดคุยกับเพื่อน หรือครอบครัวผ่านทางโทรศัพท์ / โซเซียลมีเดียบ่อย ๆ
  • การออกกำลังกายเบาช่วยลดความไม่สบายใจ และทำให้สุขภาพดีขึ้นได้
  • เมื่อทราบว่า ต้องเข้ารับการแยกตัว ควรวางแผนกิจกรรมต่าง ๆ ไว้ อย่างน้อย 10-14 วัน
  • หาอาหาร ขอใช้ที่จำเป็น เผื่อไว้ให้พร้อม หรือเผื่อในกรณีที่สิ่งของดังกล่าวหมด จะสามารถจัดส่ง-จัดหาได้อย่างไร
  • การทำอาหาร อ่านหนังสือ ดูภาพยนตร์ เรียนออนไลน์ สิ่งเหล่านี้ ช่วยผ่อนคลายได้

กรณีที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องให้นมบุตร

ในหลายประเทศมีการพบผู้ป่วยที่มีบุตรซึ่งจำเป็นต้องให้นมแม่ แม้ว่าไม่มีหลักฐานหรือข้อมูลยืนยันว่า เชื้อโควิด-19 จะติดต่อกันทางน้ำนม แต่ก็ยังคงมีความเสี่ยงจากการสัมผัสใกล้ชิดอยู่ด้วยกัน หรือผ่านทางอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่มีการสัมผัสร่วมกัน จึงควรปรึกษาแพทย์ และเลี่ยง หรือฆ่าเชื้อต่าง ๆ ให้มั่นใจก่อนที่จะมีการใช้ขวดนม เครื่องปั้มนม และส่งให้กับบุคคลอื่น