ปอดติดเชื้อ ปอดอักเสบ เชื้อโคโรน่าไวรัส โรคปอดอักเสบ โรคปอดอักเสบอู่ฮั่น โรคระบาด

รู้เท่าทัน โรคปอดอักเสบอู่ฮั่น จากเชื้อไวรัส โคโรน่าไวรัส coronavirus (CoV) สายพันธุ์ใหม่

จากสถานการณ์พบผู้ป่วยปอดอักเสบติดเชื้อในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ณ วันที่ 11/1/63 จากการสืบสวนโรคเบื้องต้น ทางการจีนพบว่า ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งทำงานอยู่ที่ตลาดสดเมืองอู่ฮั่น ซึ่งขายสัตว์ทะเล สัตว์ปีก และสัตว์ป่า จึงสั่งปิดตลาดดังกล่าวเพื่อทำความสะอาด จากการตรวจหาเชื้อที่เป็นสาเหตุของการระบาดของโรคปอดอักเสบติดเชื้อในครั้งนี้ พบว่าเป็นเชื้อไวรัสชื่อ โคโรน่าไวรัส…

Home / HEALTH / รู้เท่าทัน โรคปอดอักเสบอู่ฮั่น จากเชื้อไวรัส โคโรน่าไวรัส coronavirus (CoV) สายพันธุ์ใหม่

จากสถานการณ์พบผู้ป่วยปอดอักเสบติดเชื้อในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ณ วันที่ 11/1/63 จากการสืบสวนโรคเบื้องต้น ทางการจีนพบว่า ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งทำงานอยู่ที่ตลาดสดเมืองอู่ฮั่น ซึ่งขายสัตว์ทะเล สัตว์ปีก และสัตว์ป่า จึงสั่งปิดตลาดดังกล่าวเพื่อทำความสะอาด จากการตรวจหาเชื้อที่เป็นสาเหตุของการระบาดของโรคปอดอักเสบติดเชื้อในครั้งนี้ พบว่าเป็นเชื้อไวรัสชื่อ โคโรน่าไวรัส coronavirus (CoV) แต่เป็นสายพันธุ์ใหม่ ข้อมูล ณ วันที่ 11/1/63 พบผู้ติดเชื้อที่ยืนยันแล้วทั้งหมด 41 คน เสียชีวิต 1 คน

โคโรน่าไวรัส เป็นเชื้อไวรัสที่พบได้ทั้งในสัตว์และคน มีด้วยกันหลายสายพันธุ์ บางสายพันธุ์ก่อโรคในสัตว์ บางสายพันธ์ก่อโรคในคน โดยคนที่ติดเชื้อโคโรน่าไวรัสมีอาการได้ตั้งแต่เป็นไข้หวัดธรรมดาไปจนถึงปอดอักเสบติดเชื้อ รวมถึงโรคปอดอักเสบรุนแรงซึ่งเคยระบาดในปี 2002 นั่นคือเชื้อไวรัสซาร์ส (SARS-CoV) ซึ่งมีผู้ติดเชื้อสูงถึง 8,000 คน ใน 26 ประเทศทั่วโลก และมีผู้เสียชีวิตกว่า 600 คน และอีกครั้งในปี 2012 จากเชื้อไวรัสเมอร์ส ( MERS-CoV) ซึ่งมีผู้ติดเชื้อกว่า 2500 คน ใน 27 ประเทศทั่วโลก และมีผู้เสียชีวิตกว่า 858 คน จึงมีความสำคัญของการที่ต้องมีการสืบสวน เฝ้าระวังและกักกันโรคก่อนที่จะระบาดไปทั่วโลกเหมือนในอดีต

พญ.มัณฑนา สันดุษฎี แพทย์ศูนย์อายุรกรรม โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า โรคปอดอักเสบ (pneumonia) คือ การอักเสบที่เกิดขึ้นบริเวณเนื้อปอด ถุงลม และเนื้อเยี่อข้างเคียง เป็นโรคที่พบได้ค่อนข้างบ่อย และอาจรุนแรงถึงชีวิตได้ ขึ้นอยู่กับอายุ โรคประจำตัว เกิดได้จากการติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ โดยทั่วไปมักจะพบปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อมากกว่า โดยสามารถแบ่งชนิดของปอดอักเสบติดเชื้อได้หลายแบบ ปัจจุบันนิยมแบ่งตามสภาพแวดล้อมที่เกิดปอดอักเสบ ได้แก่ ปอดอักเสบในชุมชน (Community acquired pneumonia, CAP) หรือ ปอดอักเสบในโรงพยาบาล (Hospital acquired pneumonia, HAP) เพื่อประโยชน์ในการรักษาที่เหมาะสม ในทีนี้จะกล่าวถึงปอดอักเสบในชุมชน

ลักษณะอาการของปอดอักเสบติดเชื้อ ที่พบได้บ่อยได้แก่ มีไข้ ไอ มีเสมหะ หายใจเหนื่อย หายใจลำบากเจ็บเสียดบริเวณหน้าอกเวลาหายใจเข้า ซึ่งแพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยโรคด้วยการตรวจร่างกายฟังเสียงปอดผิดปกติ ร่วมกับเอ็กซเรย์ปอดพบฝ้าขาวผิดปกติ โดยบุคคลที่อย่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดปอดอักเสบติดเชื้อ ได้แก่ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี และเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจโรคปอด โรคไต โรคเบาหวาน โรคตับ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ที่ติดเชื้อไวรัส HIV โรคมะเร็ง ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ

ทั้งนี้เชื้อที่ก่อโรคปอดอักเสบติดเชื้อพบได้ทั้งแบคทีเรีย ไวรัส หรือเชื้อราที่สามารถติดต่อได้หลายวิธี

1.เชื้อจากระบบทางเดินหายใจส่วนบนสำลักลงไปในระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง

2.การนำเชื้อเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจส่วนล่างโดยตรง ผ่านการไอ จาม หรือหายใจรดกัน ซึ่งเป็นการนำเชื้อที่อยู่ในละอองฝอยขนาดเล็กเข้าสู่ปอดโดยตรง

3.การแพร่กระจายผ่านการติดเชื้อในกระแสเลือด

4.การลุกลามจากการติดเชื้อจากอวัยวะข้างเคียง เช่น การเป็นฝีในตับแตกเข้าปอด

เชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคปอดอักเสบติดเชื้อในชุมชนที่พบได้บ่อยคือ เชื้อแบคทีเรีย เช่น Strephylococus pneumoniae, Haemophilus influenzae, Moraxella catarrhalis เป็นต้น หรือเชื้อไวรัส เช่น influenza, rhinovirus, adenovirus, coronavirus เป็นต้น

วิธีการรักษา โรคปอดอักเสบติดเชื้อ

1.การรักษาแบบจำเพาะ โดยการใช้ยาฆ่าเชื้อ แพทย์จะเลือกยาที่คิดว่าครอบคลุมเชื้อก่อโรคที่น่าจะเป็นสาเหตุของปอดอักเสบติดเชื้อ โดยพิจารณาจากอาการทางคลินิก และระบาดวิทยา

2.การรักษาแบบประคับประคอง โดยจะให้ยาเพื่อบรรเทาอาการ เช่น ยาพ่นขยายหลอดลม ยาละลายเสมหะ ยาลดไข้ หรือยาแก้ไอ

3.การรักษาภาวะแทรกซ้อน ในบางรายภาวะปอดอักเสบติดเชื้อรุนแรงมาก อาจมีภาวะระบบทางเดินหายใจล้มเหลว ซึ่งต้องใส่ท่อช่วยหายใจ และใช้เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งทุกคนสามารถดูแลและป้องกันตัวเองจากโรคนี้ได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกัน

โรคปอดอักเสบติดเชื้อ ในปัจจุบันมีวัคซีนที่ป้องกันปอดอักเสบติดเชื้ออยู่ 2 ชนิด เพื่อลดความรุนแรงและภาวะแทรกซ้อน

1.วัคซีนนิวโมคอกคอล (Pneumococcal vaccine)

2.วัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Influenza vaccine) ซึ่งควรจะฉีดวัคซีนทุกปี ร่วมกับการดูแลสุขอนามัยส่วนตัว เช่น หมั่นล้างมือเป็นประจำ และหลีกเลี่ยงการไปอยู่ในที่ที่มีผู้คนหนาแน่น สร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงด้วยการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

ขณะนี้ยังมีรายงานยืนยันการพบผู้ป่วยติดเชื้อโคโรน่าไวรัสในประเทศไทย แต่ถ้าท่านมีอาการไข้ ร่วมกับอาการทางระบบทางเดินหายใจ และมีประวัติเสี่ยงโดยเดินทางมาจากพื้นที่ระบาดภายใน 14 วัน ให้รีบไปพบแพทย์ รพ.ใกล้บ้านท่านทันที