กักตัวโควิด-19 ผู้สัมผัสความเสี่ยงสูง วิธีกักตัว วิธีกักตัว14วัน โควิด-19

วิธีกักตัว14วัน ในบ้านที่ต้องอยู่ร่วมกัน ทำอย่างไร

หากคุณอยู่ในกลุ่มผู้สัมผัสความเสี่ยงสูงต้องทำการตรวจหาเชื้อ หากไม่พบเชื้อ ให้สังเกตอาการอย่างใกล้ชิด และกักตัว14วัน

Home / HEALTH / วิธีกักตัว14วัน ในบ้านที่ต้องอยู่ร่วมกัน ทำอย่างไร

การรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ดีที่สุด เริ่มจากตัวเราเองที่จะต้องดูแล และปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยและสุขภาพของเรา อีกทั้งยังช่วยลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด้วย เพราะไม่มีใครรู้ว่าวิกฤตการณ์นี้จะสิ้นสุดลงเมื่อใด จะอยู่กับเราไปอีกนานแค่ไหน สิ่งที่พวกเราทำ ได้ คือการทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ดูแลรักษาสุขภาพ งดไปพื้นที่เสี่ยง เดินทางออกนอกบ้านเท่าที่จำเป็น ใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท

จากการแพร่ระบาดของเชื้อที่รวดเร็วขึ้น ส่งผลให้มีจำนวนผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน แต่หลายคนยังคงมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการปฏิบัติตัว และอยากทราบว่าต้องสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อมากเพียงใด จึงจะเป็นผู้สัมผัสความเสี่ยงสูง นอกจากนี้แล้วกรมควบคุมโรคยังระบุว่า ผู้สัมผัสความเสี่ยงสูง คือ ผู้สัมผัสใกล้ชิดในสถานที่และเวลาเดียวกันกับ ผู้ป่วย โดยไม่มีการป้องกัน ได้แก่

  1. ผู้ที่อยู่บ้านเดียวกันกับผู้ป่วย
  2. ผู้ที่พูดคุยกับผู้ป่วยในระยะ 1 เมตร นานเกิน 5 นาที
  3. ถูกผู้ป่วยไอจามรด
  4. อยู่ในสถานที่แออัดร่วมกับผู้ป่วยในระยะ 1 เมตร เกิน 15 นาที

หากอยู่ในกลุ่มผู้สัมผัสความเสี่ยงสูงต้องทำการตรวจหาเชื้อ หากไม่พบเชื้อ ยังต้องแยกกักตัว 14 วัน และสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ส่วนผู้สัมผัสที่มีประวัติใกล้ชิดกับผู้สัมผัสความเสี่ยงสูง ถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ ไม่ต้องกักตัว แต่ให้สังเกตอาการเป็นเวลา 14 วัน และหลีกเลี่ยงการไปที่ชุมชน หากพบอาการผิดปกติ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือเดินทางไปตรวจทันที

แนวทางปฏิบัติเมื่อต้องกักตัว 14 วัน

  1. วัดอุณหภูมิทุกวัน ต้องไม่เกิน 37.5 องศาเซลเซียส
  2. ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่อย่างน้อยนาน 20 วินาที หรือใช้เจลแอลกอฮอล์
  3. หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดสมาชิกในบ้าน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว
  4. แยกห้องนอน ของใช้ส่วนตัว รวมทั้งแยกทำความสะอาด หากแยกห้องนอนไม่ได้ ให้ใช้แผ่นพลาสติกกั้นห้อง และเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก
  5. แยกรับประทานอาหารคนเดียว และล้างทำความสะอาดภาชนะให้เรียบร้อย
  6. แยกห้องน้ำ หากแยกไม่ได้ให้ใช้เป็นคนสุดท้าย เมื่อใช้เสร็จแล้วให้ทำความสะอาดทันที กรณีใช้ชักโครกให้ปิดฝา เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค
  7. แยกขยะเป็น 2 ส่วน คือ ขยะทั่วไป และขยะติดเชื้อ เช่น หน้ากากอนามัย กระดาษทิชชู ในแต่ละวันให้รวบรวม และล้างถังด้วยน้ำยาฟอกขาว เพื่อทำลายเชื้อ ใส่ขยะที่แยกไว้ในถุงขยะ 2 ชั้น มัดปากถุงให้แน่นก่อนนำไปทิ้งรวมกับขยะทั่วไป
  8. หากจำเป็นต้องพบปะผู้อื่น ให้สวมหน้ากากอนามัย และเมื่อเสร็จธุระ ให้นำหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วทิ้งลงถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิด และล้างมือทันที

เรื่องโดย ปัญจวรา บุญสร้างสม Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลบางส่วนจาก คู่มือสู้โควิด-19 ไปด้วยกัน และกรมควบคุมโรค