ธรรมชาติ พระพุทธศาสนา พุทธศาสนา ศาสนาพุทธ

พระพุทธศาสนา คือ เรื่องของธรรมชาติ

พระพุทธศาสนาเชื่อว่าสิ่งต่างๆ ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน อยู่ในสภาวะที่เป็นเงื่อนไขกันเองตามกฎที่ชาวพุทธยึดถือ ได้แก่ ความสัมพันธ์ลักษณะที่เป็นกระบวนการ คือ เมื่อมี ก อยู่ก็ต้องมี ข อยู่ด้วย เป็นต้น

Home / ธรรมะ / พระพุทธศาสนา คือ เรื่องของธรรมชาติ

พระพุทธศาสนา คือ เรื่องของธรรมชาติ

พระพุทธศาสนา

พระพุทธศาสนาเชื่อว่าสิ่งต่างๆ ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน อยู่ในสภาวะที่เป็นเงื่อนไขกันเองตามกฎที่ชาวพุทธยึดถือ ได้แก่ ความสัมพันธ์ลักษณะที่เป็นกระบวนการ คือ เมื่อมี ก อยู่ก็ต้องมี ข อยู่ด้วย เป็นต้น แสดงให้เห็นความเป็นเหตุและผลตามลำดับของปรากฏการณ์ธรรมชาติต่างๆ อยู่ในตัว นั่นก็คือ ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติหรือกระบวนการธรรมชาติ ไม่มีอะไรที่เป็นไปตามอำเภอใจหรือเกิดขึ้นด้วยความบังเอิญ

จากความเชื่อมโยงจุดนี้ ทำให้เราเห็นถึงความสัมพันธ์ของกฎธรรมชาติที่แนบแน่นอย่างเป็นระบบมีระเบียบอยู่ในตัว ทั้งของสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต และถือเป็นรากฐานทางความคิดที่สำคัญของพระพุทธศาสนาอันจะนำไปสู่การปฏิบัติให้ถูกต้องต่อธรรมชาติสิ่งแวดล้อมรอบตัวโดยเฉพาะการปลูกฝังจิตสำนึกเกี่ยวกับการปฏิบัติตนต่อธรรมชาติสิ่งแวดล้อมนั้นมีความสำคัญยิ่ง

พระพุทธศาสนา

ดังนั้นพุทธศาสนาจึงประกอบด้วยแนวความคิดที่มีความเข้าใจต่อกลไกของสรรพสิ่งตามธรรมดาของมัน อันเนื่องมาจากการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า การประกาศตรัสรู้ของพระองค์เป็นการประกาศถึงศักยภาพของมนุษย์ที่หยั่งรู้สภาพความเป็นจริงของธรรมชาติทั้งหมดทั้งสิ้นโดยตรง ไม่ใช่เป็นการคาดคะเนของพระพุทธเจ้าว่า สิ่งนั้นน่าจะเป็นอย่างนั้น หรืออย่างนี้ แต่หลักพุทธธรรมที่ทรงประกาศนั้น บุคคลสามารถนำไปพิสูจน์ นำไปทดสอบทดลองได้ด้วยตัวเอง ท่าทีที่พุทธศาสนามองธรรมชาติในลักษณะดังกล่าวนี้จึงทำให้พุทธศาสนาเป็น “ผู้ตื่นอย่างสมบูรณ์” คือ ตื่นขึ้นมารับรู้ธรรมชาติตามความเป็นจริงด้วยตาแห่ง “ปัญญา”

การที่พระพุทธองค์ตรัสว่า “ตถาคตตรัสรู้ เข้าถึงกลไกของธรรมชาตินั้นแล้วจึงบอก แสดง วางเป็นแบบ ตั้งเป็นหลัก เปิดเผย แจกแจงทำให้เข้าใจง่าย” นั้น เป็นการประกาศถึงจุดยืนของพระพุทธศาสนาอย่างน้อย 3 ประการคือ

  1. การมองธรรมชาติตามความเป็นจริงที่มันเป็น คือ ตถตา
  2. พระพุทธเจ้าแสดงถึงหลัก “อนัตตา” คือ ไม่มี “อัตตา”ให้เกาะเกี่ยว
  3. แสดงท่าทีการปฏิบัติตนให้สอดคล้องกลมกลืนกับธรรมชาติสิ้งแวดล้อม ทั้งที่มีชีวิต และไม่มีชีวิต ที่สำคัญคือ แสดงหลักความไม่เห็นแก่ตัว
พระพุทธเจ้า

ดังนั้น ชาวพุทธไม่เพียงแต่ตระหนักรู้ถึงระบบและความสำคัญของธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังแสดงเจตนาที่จะต้องปฏิบัติตัวให้สอดคล้องกลมกลืนกับระเบียบวิธีธรรมชาติอีกด้วย ลักษณะการรู้เท่าทันกลไกของธรรมชาติอย่างทะลุปรุโปร่งตามโลกทัศน์ของพุทธศาสนาทำให้พฤติกรรมของชาวพุทธเป็นมิตรกับธรรมชาติโดยไม่คิดครอบงำหรือครอบครองเป็นเจ้าของธรรมชาติ

ฉะนั้นพุทธศาสนาจึงถือว่า มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และสิ่งสำคัญที่เราต้องตระหนักรู้อยู่เสมอคือ มนุษย์จะอยู่โดยปราศจากธรรมชาติสิ่งแวดล้อมไม่ได้เด็ดขาด เพราะสรรพสิ่งล้วนพึ่งพากันเรื่อยไปตามเงื่อนไขของเหตุปัจจัย ความมีอยู่ของมนุษย์และการดำรงอยู่ต่อไปของมนุษย์ไม่อาจแยกออกจากธรรมชาติได้ ในขณะเดียวกันธรรมชาติเองก็ต้องมีมนุษย์คอยดูแล รักษาความสมดุลในสัดส่วนที่ถูกต้องเหมาะสม แต่ต้องทำด้วยความเข้าใจ และใช้สติปัญญาพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อให้เกิดดุลยภาพตามระบบของธรรมชาติที่พุทธศาสนาเรียกว่า ” ระบบการพึ่งพิงแบบเกาะเกี่ยวโยงใยซึ่งกันและกัน”

ที่มาข้อมูล : วารสารวิชาการ มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ปีที่ 12 ฉบับที่ 16 หน้า 104 – 106

ภาพโดย MTHAI TEAM

เนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
นิวรณ์ ๕ และวิธีดับนิวรณ์ ๕ เครื่องกั้นจิตมิให้บรรลุธรรม
ทำบุญเสริมมงคล รับวันมหาบุญ “วิสาขบูชา”
มัชฌิมาปฏิปทา คืออะไร อ่านว่าอย่างไร