คำสอนพระพุทธศาสนา มัชฌิมาปฏิปทา วันอาสาฬหบูชา ศาสนาพุทธ

มัชฌิมาปฏิปทา คืออะไร อ่านว่าอย่างไร

เนื้อหาภายในบทธัมมจักกัปปวัตตนสูตร มีใจความกล่าวถึง มัชฌิมาปฏิปทา ว่า แปลว่า ทางสายกลาง หมายถึง ทางปฏิบัติที่ไม่สุดโต่งไปในทางอุดมการณ์ใดอุดมการณ์หนึ่งเกินไป มุ่งเน้นใช้ปัญญาในการแก้ปัญหา มักไม่ยึดถือหลักการอย่างงมงาย

Home / ธรรมะ / มัชฌิมาปฏิปทา คืออะไร อ่านว่าอย่างไร

มัชฌิมาปฏิปทา คืออะไร

มัชฌิมาปฏิปทา

เนื่องในวันอาสาฬหบูชา อันเป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธที่เกิด พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ครบองค์พระรัตนตรัยเป็นครั้งแรก โดยหลังจากที่เจ้าชายสิทธัตถะบำเพ็ญทุกรกิริยาที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี แต่ก็ยังไม่ทรงตรัสรู้ จนร่างกายผ่ายผอม จนเมื่อได้ฉันข้าวมธุปายาสที่นางสุชาดานำมาถวาย ทำให้พระองค์มีพละกำลังมากพอที่จะเจริญมัชฌิมาปฏิปทา (อ่านว่า มัด-ชิ-มา-ปะ-ติ-ปะ-ทา) เจริญฌาน และตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ณ เวลานั้น ยังขาดพระสงฆ์ ด้วยพระพุทธเจ้าตรัสรู้เข้าถึงดวงตาเห็นธรรมเพียงพระองค์เดียว ด้วยเหล่าปัญจวัคคีย์ที่เคยบำเพ็ญทุกรกิริยาด้วยได้ตีตัวจากไป เนื่องจากหมดศรัทธาในตัวพระพุทธองค์ ว่าคงสละตบะพรตเสียแล้ว ได้กลับมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าอีกครั้งและโต้ตอบสนทนาธรรมกัน โดยพระพุทธเจ้าแสดงธรรมเทศนาบทธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ( นี่คือ พระธรรม หนึ่งในองค์ประกอบของ พระรัตนตรัย) แก่เหล่าปัญจวัคคีย์ เมื่อจบบทเทศนา พราหมณ์โกณฑัญญะ ได้เกิดดวงตาเห็นธรรมเป็นคนแรก และได้ทูลขออุปสมบทในวันรุ่งขึ้นอันเป็นวันเพ็ญกลางเดือนอาสาฬหะ หรือวันอาสาฬหบูชา จึงเป็นวันที่มีพระรัตนตรัยเกิดขึ้นครบองค์นั่นเอง อันได้แก่ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์

นางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาส

ประติมากรรม นางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาส พุทธศตวรรษที่ 14 -15 ได้มาจากพุทธสถานบุโรพุทโธ เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ตึก 4 ห้องลพบุรี

โดยเนื้อหาภายในบทธัมมจักกัปปวัตตนสูตร มีใจความกล่าวถึง มัชฌิมาปฏิปทา ว่า แปลว่า ทางสายกลาง หมายถึง ทางปฏิบัติที่ไม่สุดโต่งไปในทางอุดมการณ์ใดอุดมการณ์หนึ่งเกินไป มุ่งเน้นใช้ปัญญาในการแก้ปัญหา มักไม่ยึดถือหลักการอย่างงมงาย รวมไปถึง อริยสัจ 4 อันเป็นหนทางแห่งการพ้นทุกข์

มัชฌิมาปฏิปทา คือ การไม่ยึดถือสุดทางทั้ง 2 ได้แก่ อัตตกิลมถานุโยค คือ การประกอบตนเองให้ลำบากเกินไป กามสุขัลลิกานุโยค คือ การพัวพันในกามในความสบาย

มัชฌิมาปฏิปทา ใช้ในความหมายอีกอย่างหนึ่งว่า มัตตัญญุตา คือ ความรู้จักประมาณ หรือรู้จักพอดีในการปฏิบัติต่าง ๆ โดยทั่วไป หรือรู้จักพอดีที่เป็นหลักกลาง ๆ เช่น จะรับประทานอาหารก็ต้องมีความรู้จักประมาณ รู้จักพอดีในอาหาร ถ้ารับประทานอาหารไม่พอดีก็เกิดโทษแก่ร่างกาย แทนที่จะได้สุขภาพ แทนที่จะได้กำลัง ก็อาจจะเสียสุขภาพ และอาจจะทอนกำลังทำให้อ่อนแอลงไป หรือเกิดโรค เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงสอนให้มีความรู้จักประมาณในการบริโภค เรียกว่า โภชเนมัตตัญญุตา

จะเห็นว่าหลักพระพุทธศาสนาในทุกระดับมีเรื่องของความพอดี หรือความเป็นสายกลางนี้ ฉะนั้นความเป็นสายกลาง คือ ความพอดีที่จะให้ถึงจุดหมาย และที่จะให้ตรงกับความจริง ไม่ให้ไปสุดโต่ง เอียงสุด ซึ่งจะพลาดจากตัวความจริงไปนั้น จึงเป็นลักษณะทั่วไปอย่างหนึ่งของพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นสายกลางทั้งหลักทฤษฎี (มัชเฌนธรรม) และหลักการปฏิบัติ (มัชฌิมาปฏิปทา)

พระพุทธเจ้าทรงกำหนดหลักทางสายกลางนี้ไว้ชัดเจน คือ อริยมรรคมีองค์ 8 เมื่อย่นย่อแล้ว เรียก “ไตรสิกขา” ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา

เนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

มรรค 8 ในหลักอริยสัจ 4 คืออะไร
เปิดประวัติวันอาสาฬหบูชา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 วันสำคัญของชาวพุทธ
กิจกรรมวันอาสาฬหบูชามีอะไรบ้าง? ที่นี่มีคำตอบ