คำสอนพระพุทธศาสนา นิวรณ์ ๕ วิธีขจัดนิวรณ์ วิธีดับนิวรณ์ ศาสนาพุทธ

นิวรณ์ ๕ และวิธีดับนิวรณ์ ๕ เครื่องกั้นจิตมิให้บรรลุธรรม

จิตของปุถุชนถูกนิวรณ์ ๕ นี้กีดกันไว้จากการบรรลุธรรมะที่สูงขึ้นไปอยู่ทุกครั้งที่กิเลสชั้นละเอียดถูกปรุงฟุ้งป่วนขึ้นเป็นความกลัดกลุ้ม วุ่นวาย ไม่สงบระงับภายใน

Home / ธรรมะ / นิวรณ์ ๕ และวิธีดับนิวรณ์ ๕ เครื่องกั้นจิตมิให้บรรลุธรรม

นิวรณ์ ๕ คืออะไร

นิวรณ์ ๕

นิวรณ์ แปลว่า เครื่องห้าม หรือ เครื่องกั้น ในที่นี้หมายถึง เครื่องกั้นจิตมิให้บรรลุถึงธรรมที่สูงขึ้นไป อธิบายว่า ตามปรกติ คนเรามักมีความรู้สึกที่เรียกว่า นิวรณ์ อยู่ด้วยกันทุกคน ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งตามวิสัยของปุถุชน เพราะฉะนั้น จึงเป็นอันว่า จิตของปุถุชนถูกนิวรณ์ ๕ นี้กีดกันไว้จากการบรรลุธรรมะที่สูงขึ้นไปอยู่ทุกครั้งที่กิเลสชั้นละเอียดถูกปรุงฟุ้งป่วนขึ้นเป็นความกลัดกลุ้ม วุ่นวาย ไม่สงบระงับภายใน ผู้ที่สามารถทำจิตใจให้ว่างจากนิวรณ์ได้ตามความต้องการของตนนับได้ว่าเป็นปุถุชนพิเศษ หรือ กัลยาณปุถุชน ได้แก่ ผู้มีปัญญาในการที่จะเปลื้องนิวรณ์เหล่านี้ออกไปเสียจากจิต โดยการยกจิตขึ้นมาสู่สมาธิได้สำเร็จตามวิธีใดวิธีหนึ่งเป็นต้น

นิวรณ์ ๕ ได้แก่ กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ และ วิจิกิจฉา

กามฉันทะ แปลว่า ความพอใจในกาม หมายถึง ความกลัดกลุ้มอยู่ด้วยความกำหนัดในกาม จนมืดมัวไม่แจ่มใส ไม่เห็นแจ้งในธรรมตามที่เป็นจริง เปรียบอุปมาเหมือนน้ำใสแต่มีสีต่างๆ มาเจอปนจนหมดความใส

พยาบาท หมายถึง ความกลัดกลุ้มอยู่ด้วยความไม่พอใจ โกรธ แค้น เกลียดชัง เป็นต้น ซึ่งทำความมืดมัวให้อีกในลักษณะหนึ่ง ซึ่งเปรียบเหมือนน้ำที่ใส แต่ถูกทำให้เดือดพลุ่งพล่านอยู่ก็ไม่อาจทำให้ผู้มองมองเห็นสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ภายใต้น้ำนั้นได้

ถีนมิทธะ ความที่จิตหดหู่ เคลิบเคลิ้ม ไม่ร่าเริงแจ่มใส ทำให้จิตไม่มีสมรรถภาพในการที่จะเห็นแจ้งในธรรม เปรียบเหมือนน้ำใสแต่มีพืช เช่น ตะไคร่ หรือ สาหร่ายเกิดอยู่เต็ม ก็ไม่อาจจะมองเห็นสิ่งต่างๆ ใต้น้ำได้เช่นเดียวกัน

อุทธัจจกุกกุจจะ หมายถึง ความฟุ้งซ่าน รำคาญ กระสับกระส่าย ในลักษณะที่ตรงกันข้ามจากถีนมิทธะ เปรียบอุปมาเหมือนน้ำใส แต่ถูกทำให้เป็นระลอกคลื่น หรือ กระเพื่อมอยู่เป็นนิจ ทำให้ไม่สามารถมองเห็นสิ่งที่อยู่ใต้น้ำได้เช่นเดียวกัน

วิจิกิจฉา หมายถึง ความสงสัยเพราะไม่รู้ หรือมีอะไรมารบกวนความอยากรู้ ไม่มีความสงบลงได้ ทำให้เกิดความมืดมัวแก่จิต ไม่อาจจะเห็นแจ้งในสิ่งที่ควรเห็นแจ้ง เปรียบดั่งน้ำใสอยู่ในที่มืด ย่อมไม่อำนวยให้มองเห็นสิ่งต่างๆ ในน้ำนั้นได้

การเปรียบเทียบจิตเป็นดั่งน้ำใส จะเห็นได้ว่า จิตเดิมๆ นั้น มีลักษณะเป็นประภัสสร คือ ใสกระจ่าง แต่ได้สูญเสียความใสกระจ่างไป เพราะสิ่งภายนอกเข้าไปแทรกแซงโดยการปรุงแต่งต่างๆ กันด้วยนิวรณ์ทั้ง ๕ นั่นเอง ซึ่งก็ไม่เป็นการเหลือบ่ากว่าแรงที่จะเราจะขจัดนิวรณ์เหล่านี้ได้ ด้วยจิตแต่เดิมนั้นประภัสสร ก็มีลู่ทางปฏิบัติจนประสบผลสำเร็จได้

จากอุปมาจะเห็นว่า กามฉันทะเป็นสิ่งที่ขจัดยากเช่นเดียวกับน้ำผสมสี เป็นการยากที่จะแยกเอาสีออกจากน้ำ ได้ง่ายๆ ไม่เหมือนกับการยกสาหร่ายหรือจอกแหนขึ้นจากน้ำ ในอุปมาของ ถีนมิทธะ เป็นต้น เพราะฉะนั้นผู้ปฎิบัติจะต้องเลือกหาข้อปฏิบัติที่เป็นคู่ปรับโดยตรงกับนิวรณ์ของตนโดย หลักทั่วๆ ไปท่านถือเป็นหลักเลือกวิธีดับนิวรณ์ ๕ ด้วย กัมมัฏฐานอารมณ์ต่างกันเป็น ๕ อย่าง ดังนี้:

วิธีดับนิวรณ์ ๕

วิธีดับนิวรณ์ ๕

(๑) ให้พิจารณาในทาง อสุภะ และปฏิกูล เช่น กายคตาสติ เป็นต้น ซึ่งจะกำจัดกามฉันทะได้

  • พิจารณาถึงความจริงที่ว่ากามคุณทั้งหลายนั้นมีสุขน้อยมีทุกข์มาก คือให้ความสุขในช่วงที่ได้มาใหม่ ๆ ซึ่งเป็นเสมือนเหยื่อล่อให้ติด ครั้นเมื่อติดในสิ่งนั้น ๆ แล้ว ความทุกข์ทั้งหลายก็จะตามมา ถ้ายิ่งถูกใจมากเท่าใด ก็จะยิ่งนำความทุกข์มาให้มากขึ้นเท่านั้น
  • พิจารณาถึงความที่สิ่งทั้งหลายมีความแปรปรวนไปตลอดเวลา สิ่งที่ให้ความสุขในวันนี้ ก็อาจจะนำความทุกข์มาให้ได้ในวันข้างหน้า
  • พิจารณาถึงความเป็นอสุภะ คือเป็นของไม่สวยไม่งาม เต็มไปด้วยของไม่สะอาด ร่างกายที่เห็นว่าสวยงามในตอนนี้ จะคงสภาพอยู่ได้นานสักเท่าใด พอแก่ตัวขึ้นก็ย่อมจะหย่อนยาน เหี่ยวย่นไม่น่าดู หรือ มองให้ทะลุถึงภายในร่างกายแม้ในปัจจุบันที่ยังมีลมหายใจ ภายในล้วนประกอบด้วยสิ่งปฏิกูล เลือด น้ำหนอง และสิ่งปฏิกูล
  • พิจารณาถึงคุณของการออกจากกาม หรือประโยชน์ของสมาธิ

    เป็นความสุขที่ไม่ต้องแสวงหาจากภายนอก เพราะเกิดจากความสงบภายใน จึงไม่ต้องมีการแย่งชิง ไม่ต้องยื้อแย่งแข่งขัน ไม่ต้องกลัวถูกลักขโมย

    เป็นความสุขที่ไม่ต้องมีวัตถุใดใดมาเป็นเครื่องล่อ จึงไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดใด ทั้งสิ้น

    เป็นความสุขที่ประณีต ละเอียดอ่อน เบาสบายไม่หนักอึ้งเหมือนกาม คนที่ได้สัมผัสกับความสุขจากสมาธิสักครั้ง ก็จะรู้ได้เองว่าเหนือกว่าความสุขจากกามมากเพียงใด

(๒) ให้เจริญเมตตาโดยนัย เป็นต้นว่า ให้เห็นโดยความเป็นเพื่อนสัตว์ที่เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมด ทุกคน ทุกชีวิต เช่นนี้แล้วย่อม กำจัดพยาบาทได้

(๓) ให้ทำในใจถึงแสงสว่างเป็นอารมณ์ เช่น การเจริญอโลกสัญญา เป็นต้น ย่อมกำจัดถีนมิทธะ ข้อนี้แม้การทำในใจถึงสิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสหรืออิ่มใจ เช่น การเจริญพุทธานุสติ เป็นต้น ก็อาจจะช่วยกำจัดถีนมิทธะได้ตามสมควร เช่น

  • พิจารณาถึงโทษของกามและคุณของสมาธิ เพื่อทำให้เกิดความเพียร ในการปฏิบัติให้พ้นจากโทษของกามเหล่านั้น
  • คบหากับคนที่มีความเพียร ฝักใฝ่ยินดีในการทำสมาธิ
  • หลีกเว้นจากคนที่ไม่ชอบทำสมาธิ หรือคนที่เบื่อหน่ายในสมาธิ
  • ในขณะที่เพ่งจิตในสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่ เพื่อทำสมาธิหรือวิปัสสนาก็ตาม แล้วเกิดความง่วงขึ้นมา ให้เพ่งสิ่งนั้นให้มาก หรือให้หนักแน่นขึ้นไปอีก ก็จะทำให้หายง่วงได้
  • ถ้ายังไม่หายง่วง ให้ตรึกตรอง พิจารณาธรรมที่ได้อ่าน หรือได้ฟัง ได้เรียนมาแล้ว โดยนึกในใจ
  • ถ้ายังไม่หายง่วงให้สาธยายธรรมที่ได้อ่าน ได้ฟัง หรือได้เรียนมาแล้ว คือให้พูดออกเสียงด้วย
  • ถ้ายังไม่หายง่วงให้เอานิ้วไชเข้าไปในรูหู เอามือลูบตัว
  • ถ้ายังไม่หายง่วงให้ลุกขึ้นยืน เอาน้ำล้างตา เหลียวดูทิศทั้งหลาย แหงนดูดาวนักษัตรฤกษ์ (คือให้มองไปทางโน้นทีทางนี้ที บิดคอไปมา)
  • ถ้ายังไม่หายง่วงให้ทำในใจถึงอาโลกสัญญา (นึกถึงแสงสว่าง) ตั้งความสำคัญในกลางวัน ว่ากลางวันอย่างไร กลางคืนอย่างนั้น กลางคืนอย่างไร กลางวันอย่างนั้น มีใจเปิดเผยอยู่เช่นนี้ ไม่มีอะไรหุ้มห่อ ทำจิตอันมีแสงสว่างให้เกิด (คือให้ทำความรู้สึกเหมือนกับว่า กลางคืนนั้นสว่างราวกับเป็นกลางวัน)
  • ถ้ายังไม่หายง่วงให้เดินกลับไปกลับมา สำรวมอินทรีย์ มีใจไม่คิดไปในภายนอก (ควรเดินเร็วๆ ให้หายง่วง)
  • ถ้ายังไม่หายง่วงอีกให้สำเร็จสีหไสยาสน์ คือ นอนตะแคงเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า (เหมือนพระพุทธรูปปางนอน) มีสติสัมปชัญญะ โดยบอกกับตัวเองว่า ทันทีที่รู้สึกตัวตื่นแล้ว จะรีบลุกขึ้นทันที ด้วยตั้งใจว่า เราจักไม่ประกอบความสุขในการนอน ความสุขในการเอนข้าง ความสุขในการเคลิ้มหลับ

(๔) ให้ทำจิตจดจ่ออยู่ที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งง่ายแก่การจดจ่อ เช่น การเจริญกสิณทั่วๆไป หรือแม้แต่การเจริญอานาปานสติ ย่อมกำจัดอุทธัจจะกุกกุจจะได้

(๕) ให้ทำความเชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ แน่ใจในสิ่งที่ควรแน่ใจ ทำให้รู้ในสิ่งที่ควรรู้ เช่น เชื่อในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า แน่ใจในเรื่องกรรม หรือทำความรู้ในเรื่องไตรลักษณ์ อย่างนี้เป็นต้น ย่อมกำจัดวิจิกิจฉาให้สิ้นไป

ถ้ากล่าวกลับกันอีกทางหนึ่ง ถ้าผู้ใดสามารถทำสมาธิให้เกิดขึ้นโดยวิธีใดก็ตามจนกระทั่งเป็น อัปปนาสมาธิ คือ สมาธิที่แน่วแน่แล้ว นิวรณ์ทั้ง ๕ ย่อมเป็นอันระงับไปหมดสิ้น ฉะนั้น ในอันดับแรกนี้ บุคคลควรเริ่มต้นด้วยการ เจริญสมาธิที่สะดวกสบาย เช่น อานาปานสติ เป็นต้น ต่อเมื่อทำไปไม่สำเร็จเพราะนิวรณ์อย่างใดรบกวนเป็นพิเศษจึงค่อยหันไป เจริญสมาธิ ที่เป็นคู่ปรับกับนิวรณ์นั้นโดยตรงจะเป็นวิธีที่สะดวกกว่าและได้ผลดีกว่า

ความไม่มีนิวรณ์ หมายถึง จิตมีลักษณะบริสุทธิ์ ผ่องใส เยือกเย็น ปลอดโปร่ง เป็นความพร้อมที่จะรู้แจ้งเห็นจริง ในอรรถะและธรรมอันลึก นับว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นจะต้องมีหรือต้องฝึกหัดสำหรับผู้ที่ประสงค์จะก้าวหน้าไปในทางธรรม แม้จะกล่าวกันอย่างโลกๆ เวลาที่จิตไม่ถูกนิวรณ์รบกวน ก็กล่าวได้ว่าเป็นเวลาที่มีความผาสุกที่สุด จึงได้มีผู้หลงใหลในรสของสมาธิหรือฌานจนถึงสิ่งนี้เคยถูกบัญญัติเหมาเอาว่าเป็นนิพพานมาแล้วในยุคหนึ่ง คือ ยุคที่ยังไม่มีความรู้ในทางจิตสูงไปกว่านั้น

นิวรณ์ทั้ง ๕ ตัวนี้ มีเฉพาะอุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่านของจิต) เท่านั้นที่เกิดขึ้นตัวเดียวได้ ส่วนนิวรณ์ตัวอื่น ๆ นอกนั้น เมื่อเกิดจะเกิดขึ้นร่วมกับอุทธัจจะเสมอ

นิวรณ์ทั้ง ๕ เป็นอุปสรรคสำคัญในการทำสมาธิ ถ้านิวรณ์ตัวใดตัวหนึ่ง หรือหลายตัวเกิดขึ้น สมาธิก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย แต่นิวรณ์เหล่านี้ไม่เป็นตัวขวางกั้นวิปัสสนาเลย ทั้งยังเป็นประโยชน์แก่วิปัสสนาอีกด้วย เพราะวิปัสสนานั้นเป็นการเรียนรู้ธรรมชาติของสรรพสิ่ง ไม่ว่าขณะนั้นอะไรจะเกิดขึ้น ก็เป็นประโยชน์ให้เรียนรู้ได้เสมอ นิวรณ์นี้ก็เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง ๆ ของจิตที่เป็นประโยชน์ในการเรียนรู้ ให้เห็นถึงความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่อยู่ในอำนาจ ของจิตเช่นกัน

อ้างอิง
ศึกษาธรรมะอย่างถูกวิธี คำบรรยายธรรมะ ของ พุทธทาสภิกขุ ในพรรษา ปีพุทธศักราช 2500