บูชากัณฑ์เทศ ฟังเทศน์มหาชาติ อานิสงส์ เทศน์มหาชาติ

ฟังเทศน์มหาชาติ แต่ละกัณฑ์จะได้อะไร และการบูชากัณฑ์ต่างๆ ตามปีเกิด

พุทธศาสนิกชนนิยม ฟังเทศน์มหาชาติ หลังออกพรรษาพ้นหน้ากฐินไปแล้ว อาจทำในวันขี้น ๘ ค่ำกลางเดือน ๑๒ หรือในวันแรม ๘ ค่ำก็ได้ ซึ่งในช่วงนี้น้ำเริ่มลดและข้าวปลาอาหารกำลังอุดมสมบูรณ์ จึงพร้อมใจกันทำบุญทำทานและเล่นสนุกสนานรื่นเริง

Home / ธรรมะ / ฟังเทศน์มหาชาติ แต่ละกัณฑ์จะได้อะไร และการบูชากัณฑ์ต่างๆ ตามปีเกิด

พุทธศาสนิกชนนิยม ฟังเทศน์มหาชาติ หลังออกพรรษาพ้นหน้ากฐินไปแล้ว อาจทำในวันขี้น ๘ ค่ำกลางเดือน ๑๒ หรือในวันแรม ๘ ค่ำก็ได้ ซึ่งในช่วงนี้น้ำเริ่มลดและข้าวปลาอาหารกำลังอุดมสมบูรณ์ จึงพร้อมใจกันทำบุญทำทานและเล่นสนุกสนานรื่นเริง แต่ในภาคอีสานนั้นนิยมทำกันในเดือน ๔ เรียกว่า “งานบุญผะเหวด” ซึ่งเป็นช่วงที่เสร็จจากการทำบุญลานเอาข้าวเข้ายุ้ง ในภาคกลาง บางท้องถิ่นทำกันในเดือน ๕ ต่อเดือน ๖ ก็มี งานเทศน์มหาชาตินั้นจะทำในกาลพิเศษจะทำในเดือนไหนก็ได้ไม่จำกัดฤดูกาล โดยมากเพื่อเป็นการหาเงินเข้าวัด บางแห่งนิยมทำในเดือน ๑๐ โดยใจความของเวสสันดรชาดก ได้ทรงยกจริยาพระเวสสันดรขึ้นสอนพระประยุรญาติ ทรงประกาศถึงน้ำพระทัยอันยิ่งใหญ่ของพระเวสสันดร แม้เมื่อประสบทุกข์ก็ไม่ทรงย่นย่อท้อถอย ทรงเปลี่ยนทุกข์ให้เป็นสุขได้อย่างอัศจรรย์เป็นการเสวยพระชาติที่ยิ่งใหญ่ เรียกโดยทั่วไปว่า “มหาชาติ” จึงเป็นที่มาของการฟังเทศน์มหาชาติ อันเป็นเรื่องราวของพระเวสสันดรโดยแบ่งเป็นตอนๆ ได้ ๑๓ กัณฑ์ โดยผู้ฟังจะได้รับอานิสงส์ในแต่ละกัณฑ์แตกต่างกันไปดังนี้

ฟังเทศน์มหาชาติ

อานิสงส์ของการฟังเทศน์มหาชาติแต่ละกัณฑ์

กัณฑ์ที่ ๑ ทศพร (๑๙ พระคาถา)

ว่าด้วยพรสิบประการที่พระอินทร์ทรงประทานแก่นางเทพธิดา ชื่อว่า ผุสดี ผู้เป็นมเหสีซึ่งทูลขอไว้ในวันจะจุติจากสวรรค์ลงมาเกิดในโลกมนุษย์ ลักษณะพร ๑๐ ประการที่พระนางทูลขอ เช่น “ขอเกิดในสีวีปราสาท ขอให้จักขุชาติคมขำ ขอให้คิ้วโก่งโขนงดำ ขอให้มีนามว่าผุสดี ขอให้ได้พระโอรสผู้มีบุญ ขอให้ท้องไม่นูนเมื่อครรภ์มี” เป็นต้น

อานิสงส์: จะได้รู้จักเป้าหมายของการอธิษฐานใจในการทำบุญทำกุศลว่าหวังจะให้ตนได้ประสบสุขอย่างไรบ้าง

กัณฑ์ที่ ๒ หิมพานต์ (๑๓๔ พระคาถา)

เมื่อพระนางผุสดีจุติจากสวรรค์มาปฏิสนธิ เป็นพระราชธิดาของพระเจ้ามัทราชเมื่อเจริญวัย ๑๖ พรรษาได้รับการอภิเษกเป็นพระมเหสีของพระเจ้าสญชัย พระประมุขแห่งพระนครสีพี ต่อประสูติพระราชโอรสทรงพระนามว่า “เวสสันดร”ในวันเดียวกันนั้น นางช้างฉัททันต์ได้ตกลูกเป็นช้างเผือกขาวบริสุทธิ์ ได้ชื่อว่า“ปัจจัยนาค” ต่อมาพระเจ้าสญชัยได้ทรงมอบราชสมบัติแด่พระเวสสันดรและให้ทรงอภิเษกกับพระนางมัทรี เป็นคู่บารมีในการบริหารบ้านเมืองพระเวสสันดรทรงมีพระนิสัยน้อมไปในการบำเพ็ญทาน ทรงมุ่งจะบริจาคเป็นอารมณ์ เมื่อเกิดภาวะฝนแล้งในแคว้นกลิงคะ ประชาชนจึงมาขอช้างปัจจัยนาค พระองค์ก็ทรงประทานให้ อันเป็นเหตุให้ชาวเมืองสีพีไม่พอใจ ทูลขอให้พระเจ้าสญชัยเนรเทศไปสู่ป่าหิมพานต์

อานิสงส์: ในชั่วชีวิตหนึ่งจะไม่พลัดพรากจากคนรัก ของรัก และยศศักดิ์ที่ตนมี

กัณฑ์ที่ ๓ ทานกัณฑ์ (๒๐๙ พระคาถา)

ก่อนพระเวสสันดรจะเสด็จออกพระนครสีพีทรงบริจาค “สัตตสดกมหาทาน” (การทำทานครั้งใหญ่โดยให้สิ่งของ ๗ อย่าง อย่างละ ๗๐๐ ได้แก่ ช้าง ม้า รถ สตรี แม่โคนม ทาสชาย ทาสหญิง) ทรงมีพระนางมัทรี พระกัณหา และพระชาลีรวม ๔ ชีวิตตามเสด็จไปประทับที่ป่าหิมพานต์ระหว่างทางมียาจกมาทูลของพระราชทานรถและม้า พระองค์ก็ทรงเมตตาประทานให้ ในที่สุดทั้งสองพระองค์ทรงอุ้มพระโอรส พระธิดาเสด็จพระดำเนินเข้าสู่ป่าหิมพานต์

อานิสงส์: ชีวิตสมบูรณ์พูนสุขและทรัพย์สินมั่งคั่ง มั่นคงลงตัวเพราะถูกจัดสรรบันดาลด้วยทานบารมี

กัณฑ์ที่ ๔ วนประเวสน์ (๕๗ พระคาถา)

เมื่อพระเวสสันดร พระนางมัทรี พระกัณหา และพระชาลี ๔ ชีวิต เสด็จพระดำเนินสู่ป่าวนาสณฑ์ ความทราบถึงพระเจ้าเจตราษฎร์ กษัตริย์แห่งมาตุลนครจึงทูลอ้อนวอนให้ทรงเป็นกษัตริย์ครองมาตุลนคร แต่พระเวสสันดรก็ทรงปฏิเสธ พระเจ้าเจตราษฎร์จึงได้ทรงพรรณนาหนทางไปสู่ป่าหิมพานต์ว่าคดเคี้ยวเลี้ยวลดประการใด โดยทรงให้พรานเจตบุตรเป็นผู้กำหนดจุดรักษาประตูป่า เพื่อระวังรักษามีให้ผู้ใดเข้าไปรบกวน ครั้งนั้น พระอินทร์ทรงมีเทวบัญชาให้พระวิษณุกรรมเทพบุตรเนรมิตศาลาให้ ๒ หลัง พระเวสสันดร พระนางมัทรี พระกัณหา และพระชาลี ได้ทรงผนวชเป็นพระดาบส โดยมีอาศรมศาลา ๒ แห่งนี้เป็นที่ทรงอาศัย

อานิสงส์: ชีวิตจะได้รับการคุ้มครองให้แคล้วคลาดปลอดภัยในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ

กัณฑ์ที่ ๕ ชูชก (๗๙ พระคาถา

กล่าวถึงชูชกผู้เข็ญใจ อาศัยอยู่ในบ้านทุนวิฏฐ์ต่อเนื่องเมืองกลิงคะรวบรวมเงินที่เที่ยวขอทานมาได้ ๑๐๐ กษาปณ์ แล้วได้นำไปฝากไว้กับเพื่อนพราหมณ์ผู้หนึ่งเป็นเวลานาน ต่อมาพราหมณ์ผู้นั้นจนลงจึงใช้จ่ายเงินของชูชกจนหมด เมื่อชูชกมาทวงคืนจึงไม่มีเงินให้ จึงยกอมิตตดาลูกสาวให้เป็นภรรยา อมิตตดาได้ทำหน้าที่เป็นภรรยาที่ดีจนเป็นที่เลื่องลือไปทั้งหมู่บ้าน ก่อให้เกิดสถานการณ์วุ่นวายไปทุกครอบคัว คือ พวกสามีต่างได้ช่องตำหนิภรรยาของตนว่าสู้อมิตตดาไม่ได้ จึงทำให้ผู้เป็นภรรยาทั้งหลายเกลียดชังอมิตตดา ส่วนอมิตตดาเห็นว่าชูชกหลงใหลในความสาวของตน จึงออกอุบายให้เฒ่าชูชกไปขอพระกัณหา ชาลีมาเป็นข้ารับใช้ ชูชกจึงออกเดินทางไปถึงวนสถานที่พรานเจตบุตรรักษาแล้วหลอกพรานว่าตนคือพระราชสาส์นของพระเจ้าสญชัยมาเชิญพระเวสสันดรเสด็จกลับพระนคร พรานเจตบุตรหลงเชื่อจึงเลี้ยงดูปูเสื่อเป็นอย่างดี

อานิสงส์: จะเกิดไหวพริบในการเจรจาเป็นที่มาแห่งความสำเร็จ จะประสบช่องทางที่ดีมีชีวิตท่องเที่ยวอยู่ในตระกูลและสังคมที่ดีซึ่งมีกัลยาณมิตรรอบด้าน

กัณฑ์ที่ ๖ จุลพน (๓๕ พระคาถา)

กล่าวถึงเส้นทางในป่าโปร่งหรือป่าเล็กซึ่งเป็นทางเดินที่พรานเจตบุตรชี้ให้ชูชกเดินไปหาพระอัจจุตฤๅษี เพื่อให้ช่วยชี้หนทางที่จะไปต่อถึงวงกต

อานิสงส์: จะเป็นคนไม่หลงใหลในอบายมุข ไม่ติดสุขอย่างมัวเมาเหมือนกระทงหลงทางตลอดชีวิต

กัณฑ์ที่ ๗ มหาพน (๘๐ พระคาถา)

พรรณนาถึงป่าใหญ่ที่ชูชกเดินมาจนถึงอาศรมพระอัจจุตฤๅษีแล้ว หลอกพระฤๅษีว่าตนเป็นคนคุ้นเคยกับพระเวสสันดรมาก่อน พระอัจจุตฤๅษีมิสงสัยจึงให้ชูชกพักแรมด้วยหนึ่งคืน รุ่งเช้าก็ชี้ทางไปป่าหิมพานต์ไปสู่อาศรม
สถานพระเวสสันดรในป่านี้มีราชสีห์ ๔ จำพวกอาศัยอยู่เป็นที่หวั่นหวาดของคนทั่วไป ได้แก่
๑. ติณราชสีห์
๒. กาฬสิงห์
๓. ปัณฑุสุรปฤดินทร์
๔. ไกรสรสิงหราช

อานิสงส์: จะมีลาภ ยศ สุข สรรเสริญ ที่เหนือกว่าใครๆ

กัณฑ์ที่ ๘ กุมาร (๑๐๑ พระคาถา)

กล่าวถึงชูชกผู้ผจญความลำบาก เดินทางไปขอสองกุมารจากพระเวสสันดร ขณะที่พระนางมัทรีเข้าป่าหาผลไม้ด้วยความห่วงใยจึงสั่งเสียกุมารทั้งสองให้ระวังเนื้อระวังตัว ดังนั้น พระกัณหา ชาลีจึงพากันเดินลงไปซ่อนตัวอยู่ในสระบัว พระเวสสันดรรู้เข้าจึงเดินตามรอยเท้าไปเรียกสองกุมารขึ้นมาจากสระให้มาเป็นสำเภาทองพาพระองค์ไปสู่นิพพาน แล้วพระองค์ทรงยกสองกุมารให้ชูชก บันดาลให้บังเกิดความมหัศจรรย์บนแผ่นดิน ชูชกผูกแขนสองกุมาร แล้วเฆี่ยนตีต่อหน้าพระเวสสันดรจนพระองค์เกิดบันดาลโทสะเกือบระงับดับไว้มิได้

อานิสงส์: จะประสบชัยชนะในทุกกรณี จะมีปัญญาบารมีเจิดจ้า สามารถขบคิดปัญหาต่างๆ ได้

กัณฑ์ที่ ๙ มัทรี (๙๐ พระคาถา)

กล่าวถึงพระนางมัทรีกลับจากป่าหาผลไม้ ไม่เห็นพระกัณหาชาลี จึงทูลอ้อนวอนถามพระเวสสันดร แต่พระเวสสันดรไม่ทรงตอบ เพราะเห็นว่าพระนางกำลังเหนื่อยมาพอทราบว่าพระลูกรักพลัดพรากจากไปเกรงว่าจะเป็น
อันตรายที่เกิดขึ้นจากความโศกเศร้า พระนางมัทรีออกตามหากัณหาชาลีตลอดคืนยันรุ่งจนรู้สึกเหน็ดเหนื่อยเป็นอย่างที่สุดจนสลบไป พระเวสสันดรจึงยกพระเศียรนางขึ้นวางบนตักแล้วเอาน้ำรดพระอุระ เมื่อพระนางฟื้นคืนมาจึงตรัสบอกความจริงและขอให้พระนางอนุโมทนาสาธุการในปุตตทานครั้งนี้ด้วย

อานิสงส์: จะได้บุตรธิดาผู้มีรูปโฉมงดงาม มีความกตัญญูรู้คุณ พ่อแม่ ประพฤติแต่คุณประโยชน์ โทษไม่มี

กัณฑ์ที่ ๑๐ สักบรรพ (๔๓ พระคาถา)

กล่าวถึงท้าวสักกเทวราช คือ พระอินทร์ เกรงว่าถ้ามีใครมาขอพระนางมัทรี พระเวสสันดรก็จะประทานให้อีก จึงจำแลงกายเป็นพราหมณ์มาขอไว้ก่อน เมื่อพระเวสสันดรหลั่งน้ำให้แล้วพราหมณ์จึงขอฝากไว้ก่อนพระนางมัทรีก็อนุโมทนาจัดว่าเป็นทานบารมีอันยิ่งใหญ่เป็นเหตุให้เกิดปฐพีสั่นไหวไปทั่ว ท้าวสักกเทวราชจึงสำแดงกายให้ปรากฏและให้พระเวสสันดรขอพรได้ ๘ ประการ

อานิสงส์: จะเป็นผู้มีชีวิตราบรื่น ทำการน้อยใหญ่จะได้รับการสนับสนุนจากมหาชนส่งผลให้ทำการได้สำเร็จ

กัณฑ์ที่ ๑๑ มหาราช (๖๙ พระคาถา)

กล่าวถึงชูชกพาสองกุมารเดินทางมาถึงป่าใหญ่ เทพเจ้าแปลงร่างเป็นพระเวสสันดรและพระนางมัทรี มาคอยดูแลพระกุมารทั้งสอง เมื่อเดินทางมาถึงทางแยกสองแพร่งที่จะไปนครกลิงคะและนครสีพี เทพเจ้าก็ดลใจให้ชูชกเดินหลงเข้าไปในนครสีพีและพาสองกุมารไปถึงหน้าพระที่นั่งโดยมิได้มีใครทักท้วง พระเจ้าสญชัยโปรดให้ชูชกและสองกุมารเข้าเฝ้า แล้วโปรดให้เบิกพระราชทรัพย์ไถ่ถอนพระกัณหาชาลีตามพิกัดค่าที่พระเวสสันดรกำหนดไว้ พระราชทานสมโภชรับขวัญและเตรียมการไปรับพระเวสสันดร ขณะเดียวกันพระเจ้ากรุงกลิงคะโปรดให้พราหมณ์ ๘ คน นำช้างปัจจัยนาคมาถวายคืน ฝ่ายชูชกกินอาหารเกินขนาดไฟธาตุกำเริบท้องแตก ถึงแก่ความตาย

อานิสงส์: จะเป็นผู้มีบุญรักษาเทวดาคุ้มครอง สิ่งที่รักเสียไปจะได้คืนมาโดยเร็ว

กัณฑ์ที่ ๑๒ ฉกษัตริย์ (๓๖ พระคาถา )

กล่าวถึงพระเจ้าสญชัย ให้พระชาลีทรงช้างปัจจัยนาคนำกองทัพมารับพระเวสสันดร เมื่อหกกษัตริย์ได้พบกันก็บังเกิดความรู้สึกทั้งดีพระทัยและเศร้าโศกอย่างรุนแรง ทรงกรรแสงสุดจะประมาณจนสลบไป บรรดาเสวกามาตย์ก็สลบลงหมด ครั้งนั้นแผ่นดินสั่นไหวและท้าวสหัสนัยเทวนราชบันดาลฝนโบกขรพรรษตกลงมาประพรมชุบชีพให้ชื่นบานฟื้นคืนลมปราณทุกคน

อานิสงส์: จะช่วยให้มีชีวิตและครอบครัวที่ร่มเย็นเป็นสุข ปราศจากทุกข์

กัณฑ์ที่ ๑๓ นครกัณฑ์ (๔๘ พระคาถา)

กล่าวถึงพระเวสสันดรได้รับคำทูลเชิญให้ลาผนวชเพื่อรับราชสมบัติและให้ทำพิธีราชาภิเษกในบริเวณพระอาศรมแล้วจึงทรงช้างปัจจัยนาคเดินทางกลับนครสีพี บรรดาสัตว์น้อยใหญ่ที่เคยได้อาศัยร่มบารมี คุ้มครองป้องกันอันตราย ภัยพิบัติต่างพากันเศร้าโศกเสียใจ เมื่อพระเวสสันดรกลับมาครองพระนครก็มีห่าฝนสัตตรัตนมาศตกไปทั่วพระนคร ให้เป็นทานแก่ชนทั้งหลาย พระเวสสันดรครองนครสีพีจนพระชนมายุ ๑๒๐ พรรษา ก็สวรรคตไปบังเกิดในดุสิตเทวโลก

อานิสงส์: จะช่วยให้ชีวิตอยู่เย็นเป็นสุขในท่ามกลางหมู่ญาติมิตร ชีวิตปราศจากโรคภัยมีพลานามัยสมบูรณ์ เมื่อถึงคราวสิ้นใจจักไปบังเกิดบนสวรรค์ มีพระนิพพานเป็นที่ไปในเบื้องหน้า

บูชากัณฑ์เทศน์

การบูชากัณฑ์ต่างๆ ตามปีเกิด

  • กัณฑ์ที่ ๑ ทศพร สำหรับผู้ที่เกิดปีชวด มีคาถา ๑๙ คาถา
  • กัณฑ์ที่ ๒ หิมพานต์ สำหรับผู้ที่เกิดปีฉลู มีคาถา ๑๓๔ คาถา
  • กัณฑ์ที่ ๓ ทานกัณฑ์ สำหรับผู้ที่เกิดปีขาล มีคาถา ๒๐๙ คาถา
  • กัณฑ์ที่ ๔ วนปเวศน์ สำหรับผู้ที่เกิดปีเถาะ มีคาถา ๕๗ คาถา
  • กัณฑ์ที่ ๕ ชูชก สำหรับผู้ที่เกิดปีมะโรง มีคาถา ๗๙ คาถา
  • กัณฑ์ที่ ๖ จุนพล สำหรับผู้ที่เกิดปีมะเส็ง มีคาถา ๓๕ คาถา
  • กัณฑ์ที่ ๗ มหาพล สำหรับผู้ที่เกิดปีมะเมีย มีคาถา ๘๐ คาถา
  • กัณฑ์ที่ ๘ กุมาร สำหรับผู้ที่เกิดปีมะแม มีคาถา ๑๐๑ คาถา
  • กัณฑ์ที่ ๙ มัทรี สำหรับผู้ที่เกิดปีวอก มีคาถา ๙๐ คาถา
  • กัณฑ์ที่ ๑๐ สักกบรรพ สำหรับผู้ที่เกิดปีระกา มีคาถา ๔๓ คาถา
  • กัณฑ์ที่ ๑๑ มหาราช สำหรับผู้ที่เกิดปีจอ มีคาถา ๖๙ คาถา
  • กัณฑ์ที่ ๑๒ ฉกษัตริย์ สำหรับผู้ที่เกิดปีกุน มีคาถา ๓๖ คาถา
  • กัณฑ์ที่ ๑๓ นครกัณฑ์ รวมชะตาปีเกิด มีคาถา ๔๘ คาถา

การใส่บาตรนั้นไม่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้ แต่ฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเพียงกึ่งบาทพระคาถาก็สามารถตัดกิเลสขาดจากขันธสันดานได้ หรือในขณะที่ญาติโยมกำลังฟังธรรมอยู่นั้นก็สามารถที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้ ได้สมาธิสมาบัติได้ ทั้งๆ ที่ใส่บาตรนั้นไม่สามารถที่จะได้สมาธิสมาบัติ หรือว่าได้บรรลุมรรคผลนิพพานได้ เพราะฉะนั้นการฟังธรรมนั้นจึงมีอานิสงส์มากกว่าการใส่บาตร

เนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

อานิสงส์ เทศน์มหาชาติ บุญใหญ่! หากฟังครบ ๑๓ กัณฑ์ในวันเดียว
พระชำระหนี้สงฆ์ คืออะไร ทำไมเราต้องทำบุญชำระหนี้สงฆ์
ประวัติ หลวงปู่แสง ญาณวโร ศิษย์สาย “หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต”