สังขาร คืออะไร ในทางพระพุทธศาสนาหมายถึง สังขารขันธ์ ในหลักปฏิจจสมุปบาท คือธรรมหรือสิ่งที่ไปปรุงแต่งทางใจให้เกิดสัญเจตนาให้กระทำการ (กรรม) ต่างๆ ทางกายสังขาร วจีสังขาร มโนสังขาร จึงไม่ใช่สังขารที่มีความหมายถึงชีวิตหรือร่างกายตัวตนในทางโลกตามที่เราเข้าใจ
สังขาร คืออะไร
สังขาร สิ่งปรุงแต่งต่างๆ โดยเฉพาะยิ่งทางใจ สิ่งปรุงแต่ง(แฝงด้วยกิเลสจากอาสวะกิเลส) เป็นธรรมารมณ์หรือมโนกรรมจากสังขารขันธ์เดิมๆ ตามที่ได้เคยสั่งสม อบรม ประพฤติ ปฏิบัติมาแต่อดีตขึ้น จึงคือสัญญาเก่าแต่แฝงด้วยกิเลสและอวิชชา จึงเกิดการปรุงแต่งจิตให้เกิดความคิดนึกต่างๆ แต่แฝงกิเลสและอวิชชาที่จะก่อให้เกิดทุกข์ เป็นเหตุ เป็นปัจจัย จึงมี วิญญาณ คือ “รู้” ในสิ่งที่สังขารสร้างขึ้นมา หรือระบบประสาท และยังใช้สื่อสารสัมพันธ์กันระหว่างขันธ์ จึงรู้ใน”สังขาร”ที่เกิดขึ้นมาจากสัญญาโดยเบื้องแรกได้โดยทั้งตั้งใจหรือแม้ไม่ตั้งใจ อันสามารถเกิดขึ้นมาโดยธรรมชาติของชีวิต คือเมื่อ”สังขาร”จาก”สัญญา”หรือธรรมารมณ์ได้ผุดระลึกจำขึ้นมา อันเป็นไปตามธรรมหรือธรรมชาติของชีวิต ที่ย่อมรู้ในสิ่งที่มากระทบ จึงเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ การรู้
สังขารตามความหมายนี้ยกเอาเจตนาขึ้นเป็นตัวนำหน้า ได้แก่ สัญเจตนา คือ เจตนาที่แต่งกรรมหรือปรุงแต่งการกระทำ มี ๓ อย่างคือ
๑. กายสังขาร สภาพที่ปรุงแต่งการกระทำทางกาย คือ กายสัญเจตนา ได้แก่ อัสสาสะ ปัสสาสะ คือลมหายใจเข้า ลมหายใจออก
๒. วจีสังขาร สภาพที่ปรุงแต่งการกระทำทางวาจา คือ วจีสัญเจตนา ได้แก่ วิตก (ตรึก) และวิจาร (ตรอง)
๓. จิตตสังขาร หรือ มโนสังขาร สภาพที่ปรุงแต่งการกระทำทางใจ คือ มโนสัญเจตนา ได้แก่ สัญญาและเวทนา
แบ่งออกได้เป็น อภิสังขาร ๓ ได้แก่
- ปุญญาภิสังขาร สภาพที่ปรุงแต่งกรรมฝ่ายดี
- อปุญญาภิสังขาร สภาพที่ปรุงแต่กรรมฝ่ายชั่ว
- อาเนญชาภิสังขาร สภาพที่ปรุงแต่งภพอันมั่นคง ไม่หวั่นไหว
ดังนั้นแล้ว สังขาร คือ สภาพของใจ หรือเหล่าอารมณ์ เช่น โลภ โกรธ หลง ฟุ้งซ่าน ฯ ที่ยังให้เกิดการกระทําทางกาย, วาจา หรือใจ ดีหรือชั่วต่างๆ ตามที่ได้เคยสั่งสม อบรม เคยประพฤติ ปฏิบัติ เคยชิน มาแต่อดีต หรือจะเรียกสังขารกิเลส หรือสังขารวิบากก็ยังได้
ภาพโดย MThai Team
เนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
พุทธมามกะ คืออะไร มีหน้าที่อะไรในพุทธศาสนา
วันอาสาฬหบูชา คือวันอะไร รู้จักกันหรือไม่? ลองอ่านประวัติย่อๆ ไว้เป็นความรู้กัน
พรหมวิหาร 4 หลักธรรมการปกครองและอยู่ร่วมกับผู้อื่นให้เป็นสุข