พรหมวิหาร 4 หลักธรรมการดำรงชีวิตร่วมกับผู้อื่น
พรหมวิหาร 4 แปลว่า ธรรมของพรหมหรือของท่านผู้เป็นใหญ่ เป็นหลักธรรมประจำใจเพื่อให้ตนดำรงชีวิตได้อย่างประเสริฐและบริสุทธิ์เฉกเช่นพรหม อันเป็นแนวธรรมปฏิบัติของการอยู่ร่วมกับผู้อื่นรวมไปถึงผู้ที่ปกครองคน อันได้แก่
- เมตตา ความปรารถนาให้ผู้อื่นได้รับสุข
- กรุณา ความปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์
- มุทิตา ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี
- อุเบกขา การรู้จักวางเฉย วางใจเป็นกลาง
เมตตา : ความปรารถนาให้ผู้อื่นได้รับสุข ความสุขเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา ความสุขเกิดขึ้นได้ทั้งกายและใจ เช่น ความสุขเกิดจากการไม่เป็นหนี้ ความสุขเกิดจากการมีสุขภาพแข็งแรง ความสุขเกิดจากการทำงานสุจริตที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เป็นต้น เมื่อเราเมตตาผู้ใด ก็ย่อมปรารถนาให้เขามีความสุข มีสุขภาพที่แข็งแรง มีกำลังกายกำลังใจที่เข้มแข็ง เป็นต้น
กรุณา : ความปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ ความทุกข์ คือ สิ่งที่เข้ามาเบียดเบียนให้เกิดความไม่สบายกาย
ไม่สบายใจ และเกิดขึ้นจากปัจจัยหลายประการด้วยกัน พระพุทธเจ้าทรงสรุปไว้ว่าความทุกข์แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มดังนี้
- ทุกข์โดยสภาวะ หรือเกิดจากเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของร่างกาย เช่น การเกิด การเจ็บไข้ ความแก่และ
ความตายสิ่งมีชีวิตทั้งหลายที่เกิดมาในโลกจะต้องประสบกับการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งรวมเรียกว่า กายิกทุกข์ - ทุกข์จรหรือทุกข์ทางใจ อันเป็นความทุกข์ที่เกิดจากสาเหตุที่อยู่นอกตัวเรา เช่น เมื่อปรารถนาแล้วไม่สมหวังก็เป็นทุกข์ การประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์การพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ รวมเรียกว่า เจตสิกทุกข์
มุทิตา : ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี คำว่า “ดี” ในที่นี้ หมายถึง การมีความสุขหรือมีความเจริญก้าวหน้า ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี จึงหมายถึง ความปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุขความเจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป ไม่มีจิตใจริษยา
ความริษยา คือ ความไม่สบายใจ ความโกรธ ความฟุ้งซ่านซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่อเห็นผู้อื่นได้ดีกว่าตน เช่น เห็นเพื่อนมีของเล่นใหม่ ก็เกิดความรู้สึกไม่สบายใจที่เห็นเพื่อนมีของเล่นใหม่ จึงแกล้งทำให้ของเล่นเสียหาย หรือ นำไปซ่อน ให้เพื่อนเสียใจ เราต้องหมั่นฝึกหัดตนให้เป็นคนที่มีมุทิตา เพราะจะสร้างไมตรีและผูกมิตรกับผู้อื่นได้ง่ายและลึกซึ้ง
อุเบกขา : การรู้จักวางเฉย หมายถึง การวางใจเป็นกลาง ไม่เอนเอียงด้วยรักและชัง เพราะพิจารณาเห็นว่า ใครทำดีย่อมได้ดี ใครทำชั่วย่อมได้ชั่ว ตามกฎแห่งกรรม คือ ใครทำสิ่งใดไว้สิ่งนั้นย่อมตอบสนองคืนบุคคลผู้กระทำ เมื่อเราเห็นใครได้รับผลกรรมในทางที่เป็นโทษเราก็ไม่ควรดีใจหรือคิดซ้ำเติมเขาในเรื่องที่เกิดขึ้น เราควรมีความปรารถนาดี คือพยายามช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์ในลักษณะที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม รู้จักวางเฉยสงบใจมองดู ในเมื่อไม่มีกิจที่ควรทำ เพราะเขารับผิดชอบตนได้ดีแล้ว เขาสมควรรับผิดชอบตนเอง หรือเขาควรได้รับผลอันสมกับความรับผิดชอบของตน
วิธีฝึกฝนพรหมวิหาร 4
- ฝึกฝนเมตตา: ฝึกคิดดี ปรารถนาดีต่อผู้อื่น, ยิ้มแย้มแจ่มใส พูดจาไพเราะและช่วยเหลือผู้อื่นเท่าที่ทำได้
- ฝึกฝนกรุณา: ฝึกช่วยเหลือผู้อื่นที่ตกยาก, บริจาคทานและทำงานอาสาสมัครเป็นต้น
- ฝึกฝนมุทิตา: ฝึกยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี แสดงความยินดี ชมเชยผู้อื่นที่ประสบความสำเร็จ
- ฝึกฝนอุเบกขา: ฝึกการควบคุมอารมณ์และไม่หวั่นไหวคล้อยตามสภาวะอารมณ์ต่างๆ โดยง่าย ฝึกทำความเข้าใจว่า สรรพสิ่งเป็นไปตามกฎแห่งกรรม ไม่มีใครขัดขืนหรือฝืนกฎนี้ได้
เหล่านี้คือหลักธรรมการอยู่ร่วมกับผู้อื่นและการปกครองบริวารได้โดยประเสริฐและบริสุทธิ์ ที่พระพุทธเจ้าได้สอนไว้
เนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
พุทธมามกะ คืออะไร มีหน้าที่อะไรในพุทธศาสนา
พระพรหมวชิรคุณ (หลวงพ่อไพบูลย์ สุมังคโล) ละสังขารแล้ว สิริอายุ ๘๙ ปี
คิดก่อนเชื่อ! หลัก กาลามสูตร คำสอน 10 วิธีปฏิบัติในเรื่องที่ควรสงสัย