กาลามสูตร
กาลามสูตร เป็นพระสูตรสำคัญสูตรหนึ่งในพระพุทธศาสนา ที่ได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษจากนักวิชาการและนักวิทยาศาสตร์ในยุคปัจจุบัน ชื่อกาลามสูตรไม่ได้มีปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก หากมีแต่ชื่อว่า เกสปุตตสูตร ทั้งนี้ก็เพราะว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระสูตรนี้แก่ชาวกาลามะ ซึ่งอยู่ในเกสปุตตนิคม แคว้นโกศล เนื่องจากในสมัยนั้นมีผู้อวดอ้างตนในคุณวิเศษกันมาก เชิดชูแต่ลัทธิของตัว พูดจากระทบกระเทียบดูหมิ่นลัทธิอื่น พร้อมทั้งชักจูงมิให้เชื่อลัทธิอื่น เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จถึงเกสปุตตนิคมดินแดนที่เต็มไปด้วยผู้อวดอ้าง ชาวกาลามะได้ทูลถามด้วยความสงสัยว่าใครพูดจริง ใครพูดเท็จ?
หลัก กาลามสูตร หรือ หลักความเชื่อ 10 ประการ
พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงธรรมแก่ชาวนิคมเกสปุตตะแห่งแคว้นกาลามะ ผู้ทูลถามถึง สมณพราหมณ์ต่าง ๆ ที่ยกย่องวาทะของตนข่มผู้อื่น โดยตรัสสอนมิให้เชื่อเหตุ 10 ประการ (กาลามสูตรกังขานิยฐาน 10 ) หมายถึง วิธีปฎิบัติในเรื่องที่ควรสงสัย คือ
- อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการฟังตามกันมา (มา อนุสฺสเวน)
- อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการถือสืบๆ กันมา (มา ปรมฺปราย)
- อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการเล่าลือ (มา อิติกิราย)
- อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการอ้างตำรา หรือคัมภีร์(มา ปิฏกสมฺปทาเนน)
- อย่าปลงใจเชื่อ เพราะตรรกะ (มา ตกฺกเหตุ)
- อย่าปลงใจเชื่อ เพราะอนุมาน (มา นยเหตุ)
- อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล (มา อาการปริวิตกฺเกน)
- อย่าปลงใจเชื่อ เพราะเข้าได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว (มา ทิฏฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา)
- อย่าปลงใจเชื่อ เพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้ (มา ภพฺพรูปตาย)
- อย่าปลงใจเชื่อ เพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา (มา สมโณ โน ครูติ)
พระพุทธเจ้ามิได้ทรงสอนให้เชื่อด้วยพระวาจาแม้กระทั่งของพระพุทธเจ้าเองแต่ทรงสอนให้ชาวกาลามะสอบสวนให้รู้ด้วยตนเอง แล้วได้ตรัสถามให้เห็นจริงในโทษของความโลภ ความคิดประทุษร้าย ความหลง และคุณของความไม่โลภ ไม่คิดประทุษร้าย ไม่หลง จากนั้นทรงตรัสสอนเรื่องการเจริญพรหมวิหาร 4 คือ เมตตา (ไมตรีจิตคิดจะให้เป็นสุข) กรุณา (สงสารคิดจะช่วยให้พ้นทุกข์) มุทิตา (ยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดีไม่ริษยา) อุเบกขา (วางใจเป็นกลาง) และได้ตรัสต่อไปว่า ผู้มีจิตไม่ผูกเวร ไม่พยาบาท ไม่เศร้าหมอง มีจิตบริสุทธิ์ ย่อมวางใจได้ 4 อย่าง
ดังนั้น พระสูตรนี้พระพุทธเจ้ามิได้ห้ามมิให้เชื่อ แต่ให้เชื่อด้วยมี ปัญญา ประกอบด้วย มิฉะนั้นความเชื่อต่างๆ จะไม่พ้น “ความงมงาย” และไม่พึงแปลความเลยเถิดไปว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนไม่ให้เชื่อสิ่งเหล่านี้ และให้เชื่อสิ่งอื่นนอกจากนี้ แต่พึงเข้าใจว่า แม้แต่สิ่งเหล่านี้ซึ่งบางอย่างก็เลือกเอามาแล้วว่า.. เป็นสิ่งที่น่าเชื่อที่สุด ท่านก็ยังเตือนไม่ให้ปลงใจเชื่อ ไม่ให้ด่วนเชื่อ ไม่ให้ถือเป็นเครื่องตัดสินเด็ดขาด ยังอาจผิดพลาดได้ ต้องใช้ปัญญาคิดพิจารณาให้ดีก่อน
ที่มา :
- หนังสือ “พระไตรปิฎก ฉบับดับทุกข์” จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์สุขภาพใจ (หน้า 41-42),
- หนังสือ “พระไตรปิฎกสำหรับประชาชน ย่อความจากพระไตรปิกฉบับบาลี 45 เล่ม” (หน้า 510)
จัดทำโดย สุชีพ ปุญญานุภาพ, - หนังสือ “ธรรมาธิบาย หลักธรรมในพระไตรปิฎก” (หน้า 620 – 621) เรียบเรียงโดย อาจารย์ปัญญา ใช้บางยาง และคณะ
- วารสารวิชาการ “กาลามสูตร : หลักพิจารณาก่อนเชื่อในพุทธปรัชญาเถรวาท” โดย ดร. พระครูปลัดรังสรรค์ คุณสาโร, มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตร้อยเอ็ด
เนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
รู้จัก 7 สหชาติของพระพุทธเจ้าและความหมายของ สหชาติ
พระอัญญาโกณฑัญญะ พระสงฆ์รูปแรกในพระพุทธศาสนา
วันอาสาฬหบูชา วันที่พระรัตนตรัยถือกำเนิดครบทั้ง 3 องค์