พุทธศาสนามีหลักคำสอน กล่าวถึง “หัวใจนักปราชญ์” คือ วิถีทางจะช่วยสร้างบุคคลให้เป็นพหูสูต อันหมายถึง เป็นผู้มีปัญญารอบรู้ เป็นผู้ศึกษาเล่าเรียนศิลปวิทยาการมาก สามารถจดจำได้เป็นอย่างดีจนกลายเป็นผู้รู้หรือนักปราชญ์ อันเป็นคาถาย่อสั้นๆ ว่า “สุ จิ ปุ ลิ”
หัวใจนักปราชญ์ สุ จิ ปุ ลิ หมายถึงอะไร
มีคำกล่าวว่า “สุ จิ ปุ ลิ สุสมฺปนฺโน ปณฺฑิโตติ ปวุจฺจติ “ แปลว่า ผู้ถึงพร้อมด้วย สุ จิ ปุ ลิ ท่านเรียกว่าผู้มีปัญญา และ “สุ จิ ปุ ลิ วินิมุตโต กถํ โส ปณฺฑิโต ภเว” แปลว่า ผู้ปราศจาก สุ จิ ปุ ลิ จะเป็นบัณฑิตได้อย่างไร
สุ จิ ปุ ลิ หมายถึง
สุ ย่อมาจาก สุต (จาก สุ ธาตุ) แปลว่า ฟัง, ได้ยิน
จิ ย่อมาจาก จินฺต (จาก จินฺตฺ ธาตุ) แปลว่า คิด
ปุ ย่อมาจาก ปุจฺฉา (จาก ปุจฺฉฺ ธาตุ) แปลว่า ถาม
ลิ ย่อมาจาก ลิขิต (จาก ลิขฺ ธาตุ) แปลว่า จด, เขียน
หัวใจนักปราชญ์ ๔ ประการ
๑. สุ คือ สุตะ หมายถึง การฟัง นับเป็นทักษะพื้นฐานที่สุดในการแสวงหาความรู้ของมนุษย์ ผู้ใดที่ฟังมาก ย่อมได้รับความรู้มาก และรอบรู้กว้างขวางกว่าผู้อื่น รวมไปถึงการอ่านด้วย ยิ่งเมื่อได้อ่านได้อ่านได้ฟังมากขึ้น ความรู้ก็ยิ่งเพิ่มพูนขึ้นด้วยนั่นเอง หากแต่มี สุ เพียงอย่างเดียวก็ไม่สามารถที่จะเป็นปราชญ์ได้ จึงต้องมีอีกทั้ง ๓ ประการที่จะกล่าวต่อไป
๒. จิ คือ จินตะ หมายถึง การคิด เป็นสิ่งต่อเนื่องจากการฟังหรือการอ่าน กล่าวคือ เมื่อเราได้ฟังได้อ่านสิ่งใดแล้วก็ตาม โดยทั่วไป คนเราจะคิดไตร่ตรอง หรือวิเคราะห์สิ่งที่ฟังหรืออ่านในใจไปด้วย การคิดจึงเป็นกระบวนการย่อยหรือแยกแยะสิ่งที่ได้ฟังได้อ่านมาเป็นความรู้ของเราเอง และทำให้คนผู้นั้นเกิดปัญญาอันมาจากความคิดนั้นได้ แต่แม้จะได้อ่านได้ฟังข้อมูลข่าวสารมามากมายเพียงใด ก็ต้องรู้จักตรึกตรองวิเคราะห์ให้รอบ มิเช่นนั้นเราจะตกเป็น “เหยื่อ” ได้ง่าย แต่ถ้าเรารู้จัก “คิด” ก็จะเกิด “ปัญญา”ตามมา
๓. ปุ คือ ปุจฉา หมายถึง การถาม เมื่อเราอ่านฟัง และคิดแล้วก็ตาม หลายครั้งเราก็อาจเกิดข้อสงสัย ไม่เข้าใจ ไม่แน่ใจ สิ่งที่จะต้องทำก็คือ การถาม ด้วยการสอบถามจากครูบาอาจารย์ ผู้มีความรู้ หรือมีประสบการณ์ในเรื่องนั้นๆ โดยไม่ต้องอาย หรือทะนงตนคิดว่าตัวเองเหนือกว่า เพราะโดยแท้จริงแล้วไม่มีใครรอบรู้ไปทุกเรื่อง
๔. ลิ คือ ลิขิต หมายถึง การเขียน การเขียนเป็นดังบทสรุปของการฟัง – อ่าน คิด ถาม เพราะคนที่จะ “เขียน” ได้ นั้นจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องนั้นๆ จนสามารถเรียบเรียงสิ่งที่เป็นความรู้สึกนึกคิดออกมาเป็นความรู้ให้ผู้อื่นเข้าใจหรือรับรู้ได้
และนี่คือ หัวใจนักปราชญ์ทั้ง ๔ ประการ ที่จะช่วยให้เราทุกคนเป็นคนที่มีความรู้ ความสามารถในการพัฒนาตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียน หรือ การทำงาน หาใช่เป็นเพียงแค่เคล็ดลับเรียนเก่งเท่านั้น หากแต่จะทำให้เรามีสติปัญญาในการดำเนินชีวิต และแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้นั่นเองโดยโคลงโลกนิติ โดย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศรกล่าวถึงหัวใจนักปราชญ์ไว้ว่า
เว้นวิจารณ์ว่างเว้น สดับฟัง
เว้นที่ถามอันยัง ไป่รู้
เว้นเล่าลิขิตสัง- เกตว่าง เว้นนา
เว้นดั่งกล่าวว่าผู้ ปราชญ์ได้ฤๅมี
เนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
‘คาถาพระอินทร์’ หนึ่งในเคล็ดลับ ของเด็กวัด ป.โท เกียรตินิยมอันดับ 1
7 วัด ขอพรการเรียน สำหรับนักเรียนสายมูเตลู
ง่ายกว่าที่เคย! วิธีฝึกสติ กรรมฐานน้ำเย็น หลวงพ่อเยื้อน